posttoday

"ปลดล็อคผู้เสพยาจากคำว่าอาชญากร" นับหนึ่งใหม่นโยบายยาเสพติด

27 มิถุนายน 2559

13 ปีหลังการประกาศสงครามยาเสพติด วันนี้ถึงเวลาต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล /ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

คล้อยหลังพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประกาศเตรียมจะทบทวนให้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ออกจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้ประชาชนมากออกมาโจมตีแนวคิดดังกล่าวกันอย่างดุเดือด บ้างเชื่อว่าจะเปิดเสรีให้ซื้อขายยาบ้าถูกกฎหมาย บ้างกังวลว่าอาชญากรรมจะล้นเมือง กระแสไม่พอใจลุกลามปานไฟป่าในฤดูร้อน

ท่ามกลางความสับสนมึนงง วีระพันธ์ งามมี เลขานุการมูลนิธิโอโซน องค์กรที่ทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ผู้เกาะติดนโยบายปราบปรามยาเสพติดของเมืองไทยของมานานนับสิบปี ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า นี่เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด สะท้อนถึงความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ศึกษาหาข้อมูล

วันนี้เขาจะมาพูดถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติด เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เบื้องหลังคำพูดอันลือลั่นของรัฐมนตรี มีข้อเท็จจริงหลายประการที่สังคมควรรับรู้

ประกาศสงครามยาเสพติด...สำเร็จหรือล้มเหลว?

ย้อนกลับไปในอดีต ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ยาเสพติด" ถูกมองว่าเป็นภัยร้ายหมายเลขหนึ่งของสังคม

ตั้งแต่ข่าวการจับกุมแก๊งค้ายาเสพติดพร้อมของกลางกองมหึมา คนคลุ้มคลั่งใช้มีดจ่อคอตัวประกัน สิบล้อตีนผีฉี่ม่วงคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์บนท้องถนน โจรผู้ร้ายก่อเหตุสะเทือนขวัญเพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด ทำให้รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าต่างงัดนโยบายขึ้นต่อสู้ ภายใต้แนวคิด 'ความไม่สามารถอดทนได้ต่อปัญหายาเสพติด' (Zero Tolerance) และ 'ลงโทษอย่างรุนแรง' (Punitive Approach)

กระทั่งปี 2546 ถึงจุดพีคสุด เมื่อรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติดเป็นครั้งแรก ด้วยมาตรการปราบปรามอันเด็ดขาดรุนแรง ส่งผลทำให้ภายในปีนั้นปีเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 2,873 ศพ จำนวนคดีเกี่ยวกับยาพุ่งสูงขึ้นนับแสนคดี ผ่านไป 13 ปี สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดยังคงทวีความรุนแรง ปัจจุบันมีผู้ติดยาเสพติดถึง 2 ล้านคน มีคดีเข้าสู่กระบวนการชั้นศาลถึง 1.8 แสนคดี มีนักโทษคดียาเสพติดทั่วประเทศกว่า 300,000 คน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเกี่ยวกับยาเสพติดสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นแล้วว่า นโยบายการใช้ "กำปั้่นเหล็ก" นั้นไม่ได้ผล

\"ปลดล็อคผู้เสพยาจากคำว่าอาชญากร\" นับหนึ่งใหม่นโยบายยาเสพติด

วีระพันธ์ บอกว่า กฎหมายยาเสพติดที่ล้าหลังเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม มากกว่าตัวยาเสพติดเสียอีก

"ที่ผ่านมามีการสร้างภาพให้ยาเสพติดดูน่ากลัวเกินจริง วาทกรรมที่ว่า 'ยาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม' ทำให้ใครก็ตามที่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดถูกมองว่าเป็นคนเลวชั่วช้า เป็นอาชญากร สมควรต้องใช้กฎหมายรุนแรงลงมาโทษ ประหารชีวิต ไม่ก็ให้ติดคุกนานๆ ปัญหาคือแทนที่จะเป็นปลาใหญ่อย่างผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ กว่า 90 % กฎหมายถูกบังคับใช้กับพวกปลาซิวปลาสร้อย เช่น ผู้เสพธรรมดาๆ คนกลุ่มนี้ควรได้รับการบำบัดรักษามากกว่าส่งเข้าเรือนจำ เจตนารมณ์ของพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มองว่าผู้เสพยาเสพติดคือผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร ดังนั้นควรต้องให้การดูแลรักษา แต่ในทางปฏิบัติเมื่อกฏหมายยังเขียนไว้ว่าการเสพยาเสพติดมีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก นั่นก็ไม่ต่างกับต้องจับเขาเข้าคุกก่อนแล้วค่อยส่งตัวไปบำบัด

การจับไปขังคุกไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย อาจทำให้เขาไปเรียนรู้วิธีก่ออาชญากรรมที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นผู้เสพยาถูกจับเข้าไปอยู่ในคุก เจอพรรคพวกที่เสพเหมือนกันและคุยกันว่าไปซื้อยาที่ไหน ราคาเท่าไหร่ จากเสพก็พัฒนากลายเป็นขาย หรือไปเรียนรู้วิธีก่ออาชญากรรมอื่นๆ เช่น ลักขโมยปล้นจี้ชิงทรัพย์ ไปมีเครือข่าย พอออกจากคุกก็ไม่สามารถกับมาใช้ชีวิตปกติได้ เพราะถูกสังคมตีตราไปแล้วว่าเป็นขี้คุก ขี้ยา สุดท้ายไปไหนไม่ได้ก็ต้องกลับสู่วงจรยาเสพติด"

วีระพันธ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลกำลังทำสงครามช่วงชิงทรัพยากรบุคคลก็ถือว่าพ่ายแพ้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่คือการผลักไส ถีบคนเหล่านี้กลับสู่อ้อมกอดของเครือข่ายอาชญากรรม

รัฐบาลต้องตาสว่าง

ความเข้มงวดในการใช้กฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกกลุ่มโดยไม่จำแนกแยกแยะ ก็นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ

วีระพันธ์บอกว่า ขณะนี้กำลังจะมีการจัดทำร่างประมวลอาญาพรบ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ใหม่ โดยจะมีการจำแนกแยกแยะผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้มีบทบาทนำ เช่น ผู้ผลิต ผู้ค้า หรือคนที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจยาเสพติด 2.กลุ่มที่มีบทบาทรอง เช่น ผู้ขนลำเลียงยาเสพติด 3.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ นั่นคือ ผู้เสพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในวงจรนี้

"กลุ่มที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือกลุ่มที่ 3 นั่นคือผู้เสพ ซึ่งมีจำนวนเยอะสุด คนเหล่านี้เปรียบเสมือนผู้ได้รับผลกระทบ หรือเหยื่อ เราต้องมองคนกลุ่มนี้ใหม่ ทำยังไงให้เขากลับมาอยู่ข้างเรา อย่าไปมองว่าการเสพยาเป็นอาชญากรรม แต่ถ้าเสพยาแล้วไปก่ออาชญากรรมอย่างอื่น เช่น ทำร้ายคน จี้ปล้น ตรงนั้นมีความผิดที่กฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว เรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ การทำความเข้าใจต่อสาธารณะ เปลี่ยนมุมมองต่อผู้เสพหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ เพื่อให้เขามีพื้นที่ยืน และกลับมาใช้ชีวิตปกติคืนสู่สังคม โดยไม่ต้องรอให้เขาเลิกยา ทุกคนอยากเห็นเขาปลอดจากยาเสพติดด้วยกันทั้งนั้น แต่มันมีกระบวนการซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่าจะไปถึงจุดนั้น ถ้าในประมวลกฎหมายยังกำหนดให้เขาเป็นอาชญากร มีความผิดทางอาญา ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูคนเหล่านี้"

\"ปลดล็อคผู้เสพยาจากคำว่าอาชญากร\" นับหนึ่งใหม่นโยบายยาเสพติด

ยกเครื่องใหม่ นโยบายยาเสพติด

ในฐานะผู้ทำงานเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดมานานนับสิบปี วีระพันธ์มองว่า ท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังพูดถึง รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้หันมาทบทวนอย่างจริงๆจังๆว่า ที่ผ่านมานโยบายยาเสพติดแนวทางเดิมนั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หากจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใหม่ จะต้องเริ่มต้นศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจอย่างไร เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการคลี่คลายปัญหาอย่างยั่งยืน

"ณ วันนี้ กระแสโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ คำนึงถึงเรื่องของสุขภาพ คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือ การปลดล็อคผู้เสพหรือผู้ได้รับผลกระทบออกจากคำว่า 'อาชญากร' รัฐมีมาตรการอื่นๆที่ดีกว่า สร้างสรรค์กว่า และเป็นมิตรกว่ามาใช้ควบคุม การปลดล็อคตรงนี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำให้คนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการดูแลบำบัดรักษา และเปิดโอกาสนำมาตรการใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพนำมาใช้ เช่น มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ผู้เสพยากับครอบครัวสามารถเปิดอกพูดคุยกันได้ ทำให้ผู้เสพยากับชุมชนคุยกันได้ ไม่เหมือนกับที่ผ่านมาที่พอรู้ว่าคนในครอบครัวติดยาก็ตื่นตระหนก ทำเหมือนมีอาชญากรอยู่ในบ้าน อาย บอกใครไม่ได้ ชุมชนก็ไม่กล้าพูดว่ามีคนใช้ยา เพราะมัวแต่ห่วงเรื่องการเป็นชุมชนสีขาว ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการเขี่ย ผลักไสออกไป

การเปลี่ยนทัศนคติของสังคมให้มองผู้เสพยาเสียใหม่ มองว่าเขาเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วย เป็นลูกหลานที่เราต้องดูแลรักษา ไม่ใช่มองว่าเขาเป็นคนเลว เป็นอาชญากรน่ารังเกียจ น่ากลัว ชั่วร้าย รัฐบาลต้องใช้ช่องทางของรัฐ ใช้อำนาจให้เต็มที่ในการทำความเข้าใจกับสังคม แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้"

3 ข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด(12D) เครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ(ศอ.ปส.) สาระสำคัญอยู่ที่ข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วยดังนี้

1.การกำหนดให้ผู้เสพยาเสพติดมีความผิดทางอาญาและมีโทษถึงจำคุกนั้น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาระบบการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและนำไปสู่บังคับบำบัดและบังคับสมัครใจบำบัด ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน อีกทั้งไม่สามารถทำให้คนเหล่านี้สามารถหยุดใช้ยาได้ เกิดการรังเกียจและตีตราเป็นอุปสรรคสำคัญในการกลับไปดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรของชาติ จึงขอให้ยกเลิกโทษทางอาญากับผู้เสพติด ผู้ครอบครองเพื่อเสพ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการเสพยาเสพติดได้อย่างเสรี แต่ให้พิจารณาใช้มาตรการทางเลือกอื่นๆกับคนเหล่านี้ อันจะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการเข้าสู่การดูแลรักษา การพัฒนาระบบการบำบัดรักษาที่อยู่บนพื้นฐานของการการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนที่มีข้อมูลในเชิงวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน

2. มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยานั้นได้รับการพิสูจน์และยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบจากการใช้สารเสพติดและอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางด้านสาธารณสุขและหลักการสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ท่านพิจารณาประกาศนโยบายให้มีการนำมาตรการด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเพสติดมาใช้ในการให้การดูแลและลดผลกระทบจากการใช้สารเสพติดในทันที ทั้งนี้มาตรการด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดนั้นได้เคยมีการประกาศใช้นำร่องในพื้นที่ 19 จังหวัดมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งจากการประเมินผลพบว่าเป็นมาตรการที่ดีที่ควรนำมาใช้ควบคู่ในการให้การดูแลรักษาผู้ใช้ยา แต่นโยบายดังกล่าวได้หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 ในส่วนของรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแจ้งว่าจะนำเสนอต่อท่าน แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

3. เพื่อให้การดำเนินงานและการพัฒนากระบวนการบำบัดรักษาและการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดสามารถขับเคลื่อนได้โดยไม่ติดขัด ขอให้ท่านพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานระดับชาติเพื่อทบทวน พัฒนาแนวทางในการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และการดำเนินงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดทั้งนี้ขอให้มีสัดส่วนที่มากจากภาคประชาชนและตัวแทนของผู้ใช้ยาเข้าร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย

วีระพันธ์ งามมี เลขานุการมูลนิธิโอโซน ยืนยัน ทิ้งท้ายว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องของความเข้าใจ ทุกฝ่ายต้องทบทวนและไตร่ตรองบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง หากไม่สามารถทำให้สังคมเข้าใจได้ ต่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกกี่ชุด ทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม.

\"ปลดล็อคผู้เสพยาจากคำว่าอาชญากร\" นับหนึ่งใหม่นโยบายยาเสพติด

 

\"ปลดล็อคผู้เสพยาจากคำว่าอาชญากร\" นับหนึ่งใหม่นโยบายยาเสพติด วีระพันธ์ งามมี เลขานุการมูลนิธิโอโซน ผู้ทำงานเกาะติดนโยบายปราบปรามยาเสพติดของเมืองไทยของมานานนับสิบปี