posttoday

ส่งสัญญาณยื้อโรดแมป ขยายแรงต้านเพิ่ม

02 มกราคม 2560

คสช.น่าจะเลือกแนวทางประนีประนอมกับทุกฝ่ายด้วยการเดินหน้าตามโรดแมป เว้นแต่จะมีปัจจัยสำคัญจริงๆ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดศักราชใหม่การเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่ปี 2560 อย่างเป็นทางการ การเข้าสู่ปีใหม่ในครั้งนี้สำหรับประเทศไทยแล้วไม่เหมือนกับการเริ่มต้นปีใหม่เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันนอกจากจะเริ่มเดินหน้าแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นการนับถอยหลังสู่การสิ้นสุดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ว่าได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยึดอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศว่า ที่เข้ามาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 การควบคุมอำนาจในการปกครอง และควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองให้หยุดนิ่ง เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเปิดพื้นที่ให้คนซึ่งเห็นต่างกันได้พบปะพูดคุย

ระยะที่ 2 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยจะนำไปสู่กระบวนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ มีกรอบระยะในการดำเนินงานในระยะที่ 2 ประมาณ 1 ปี แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง และความร่วมมือของคนในชาติเป็นปัจจัยสำคัญ

ระยะที่ 3 การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ภายหลังการทำงานตามโรดแมปทั้ง 2 ระยะข้างต้นประสบความสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย คสช.พร้อมจะจัดให้มีการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย

มาถึง ณ เวลานี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปลายโรดแมประยะที่ 2 ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ ประกอบกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังทยอยจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ ระหว่างรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหลายฝ่ายต่างประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ได้ประมาณต้นเดือน ก.พ.

ทว่า ความแน่นอนที่ว่านั้นกำลังจะกลายเป็นความไม่แน่นอนอย่างคาดไม่ถึง ภายหลัง สนช.ออกมายอมรับว่าโรดแมปการเลือกตั้งจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2560 ต้องเลื่อนออกไปเป็นกลางปี 2561

ทั้งนี้ มาจากการให้สัมภาษณ์ของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ที่ระบุว่า “การทำงานของ สนช.ตลอดปี 2560 จะมีงานสำคัญ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 50 ฉบับ รวมแล้วประมาณ 60 ฉบับ

เป็นภารกิจต้องทำตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561”

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของรองประธาน สนช. นำมาซึ่งกระแสต่อต้านจากฝ่ายการเมืองค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งสัญญาณขอขยับโรดแมปออกไป ไม่ต่างอะไรกับการเผชิญหน้าสู่ความขัดแย้ง เพราะต้องไม่ลืมว่าในช่วงของการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม่น้ำทั้ง 5 สายได้ออกมาประกาศตลอดว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ประเทศไทยจะต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560

อีกทั้งเมื่อผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นคุณแก่ฝ่าย คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศย้ำอีกครั้งว่าปี 2560 จะมีการเลือกตั้งด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมั่นคงในโรดแมปเข้าไปอีก

ดังนั้น การที่ สนช.พยายามส่งสัญญาณขอขยายโรดแมปโดยการอ้างเรื่องการออกกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร

ในด้านหนึ่งแม้ว่าการพยายามอ้างอิงไปถึงการทำกฎหมายการปฏิรูปประเทศเพื่อเป็นเงื่อนไขในการขอขยายโรดแมปจะพอเป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้นอยู่บ้างในระดับหนึ่ง เนื่องจากการปฏิรูปประเทศนั้นเป็นวัตถุประสงค์หลักของ คสช. แต่การใช้ข้ออ้างนี้เพื่อขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นกลางปี 2561 ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ดีต่อภาพรวมเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในระยะยาว ในมุมของ คสช.ไม่น่าจะขยายโรดแมป ออกไปตามที่ สนช.พยายามส่งสัญญาณ โดยอย่างน้อยจะพยายามเร่งรัดให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ออกมาก่อน เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560 เพื่อลดกระแส

ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ สามารถใช้กลไกอื่นขับเคลื่อนได้ เพราะถึงอย่างไรเสียวุฒิสภาชุดหน้าจะเป็นชุดที่ คสช.เลือกมากับมือและมีอำนาจเร่งรัดรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ

ที่สุดแล้ว คสช.น่าจะเลือกแนวทางประนีประนอมกับทุกฝ่ายด้วยการเดินหน้าตามโรดแมป เว้นแต่จะมีปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดเท่านั้น