ผ่าแนวคิดปรองดองสไตล์คสช.
ถือเป็นความคืบหน้าที่น่าสนใจใน การสร้างความปรองดองทางการเมืองตลอดสองปีกว่าของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ด้วยการตั้งคณะกรรมการ ปยป.
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ถือเป็นความคืบหน้าที่น่าสนใจใน การสร้างความปรองดองทางการเมืองตลอดสองปีกว่าของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) พร้อมกับจัดตั้ง คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำกับดูแล "โมเดลปรองดอง" ทั้งหมด
เบื้องต้นได้กำหนดแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการและอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพหลัก โดยตั้งคณะที่ปรึกษานำโดย พล.ท.เจิดวุธ คราประยูร ผู้บัญชาการวิทยาลัยเสนาธิการทหาร ซึ่ง พล.ท. เจิดวุธ เป็นบุตรชาย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีต ผบ.ทบ. มาร่วมเป็นคณะกรรมการเจรจาฝ่ายการเมืองกับ ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันกำหนดประเด็นคำถามในการสัมภาษณ์พิเศษพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น หรือเชิญแกนนำผู้ชุมนุมทางการเมืองในอดีต อาทิ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
สำหรับงานปรองดองจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก โดยมีกระทรวงยุติธรรมเข้ามาร่วมทำงานด้วย ดังนั้นคณะทำงานชุดนี้จะมีการเตรียมการจัดทำประเด็นคำถาม ด้วยการเชิญกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนหารือ ทั้งในแบบสัมภาษณ์เดี่ยวเชิงลึกหรือเวทีสาธารณะ รวมถึงการกำหนดแนวทางหรือกลยุทธ์ของงานปรองดอง พร้อมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่องานปรองดองนำเสนอให้กับรองนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยมีการกำหนดปฏิทินการทำงานไว้ชัดเจน
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นว่า การตั้งคำถามไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหาข้อยุติจากข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง แกนนำผู้ชุมนุม หรือประชาชนที่เดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นการกำหนดเป้าหมาย กำหนดวิธีการเพราะการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ย่อมรับทราบกันดีว่าแต่ละฝ่ายหรือกลุ่มการเมืองล้วนคิดหรือต้องการอะไร อาทิ กลุ่มที่มีคดีความย่อมต้องการพ้นคดี ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบย่อมต้องการได้รับเงินเยียวยาหรือค่าชดเชย ซึ่งทุกฝ่ายย่อมต้องการนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญ คือ การหาข้อยุติต่างหาก ดังนั้นรัฐบาลตามกรอบเวลาที่กำหนดออกมาต้องทำให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างความปรองดอง
เสรี กล่าวว่า ในการตั้งคำถามต้องระมัดระวังการใช้คำพูดต้องลดคำพูดที่กระทบต่อความรู้สึกของฝ่ายหนึ่ง หรือคำพูดที่ให้ร้ายหรือดูถูกอีกฝ่าย ดังนั้นความสำเร็จอยู่ที่ว่าทุกฝ่ายต้องลดทิฐิ เพื่อมาหาทางออกร่วมกันไม่ใช่มากล่าว หากันว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดหรือถูก ต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะความสำเร็จของการสร้างความสามัคคีปรองดองขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
"เอาฝ่ายไหนมาก็รู้ว่าเขาจะตอบคำถามว่าอย่างไร แต่ละกลุ่มต้องการอะไร อันนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ แต่สิ่งสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายลดทิฐิให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วมาหาข้อยุติร่วมกันในทุกๆ ข้อเสนอ นี่คือแนวทางความสำเร็จของโมเดลปรองดองของรัฐบาล" เสรี กล่าว