ไพรมารีโหวต ปมเดือดยื้อเลือกตั้ง
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นร่างกฎหมายลูกฉบับแรกที่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นร่างกฎหมายลูกฉบับแรกที่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง กกต. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นชอบกับการแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่ สนช.กำหนด
ตามขั้นตอน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนจะส่งกลับมายัง สนช.เพื่อลงมติเห็นชอบต่อไป
หนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นชอบ คือ การให้ กกต.ทั้ง 5 คน ชุดปัจจุบัน ออกจากตำแหน่ง แต่ยังให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ กกต.ชุดใหม่ หรือ เซตซีโร่ กกต.
แม้ตามขั้นตอนจะสิ้นสุดแล้ว แต่ดูเหมือนว่า กกต.ชุดปัจจุบันยังคงหาช่องทางในการต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งอย่างไม่ละความพยายาม ภายหลังเตรียมหาช่องเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเซตซีโร่ กกต.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
“การจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่าง พ.ร.ป.กกต.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม กกต.ว่าจะมีช่องทางใดที่จะยื่นคำร้อง โดยกระบวนการนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ หากยื่นไปแล้วศาลไม่รับจะเกิดความเสียหาย ถูกกล่าวหาว่าไม่รอบคอบได้” ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ระบุ
อย่างไรก็ตาม การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความของ กกต.ยังดูเป็นปัญหาหนักใจของ กกต.อยู่ไม่น้อย เนื่องจาก กกต.จะต้องยืมจมูกฝ่ายอื่นหายใจ
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 148 กำหนดให้การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเป็นหน้าที่ของ สนช.หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ สนช.หรือ ครม.จะมีฝ่ายไหนเห็นด้วยกับ กกต.หรือไม่ ซึ่งก็พอจะได้คำตอบว่าเวลานี้ กกต.ถูกโดดเดี่ยวอย่างเดียวดาย
ด้วยเงื่อนไขนี้เอง ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะได้เห็นศาลรัฐธรรมนูญหยิบประเด็นนี้มาพิจารณา เพราะถ้าพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว กกต.ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
จึงเหลือเพียงแค่ไปลุ้นให้ สนช.มีมติ 2 ใน 3 เพื่อไม่เห็นชอบกับการเซตซีโร่ กกต.แทน ซึ่ง กกต.คงรู้อยู่แก่ใจว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็เป็นวาระร้อนที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน
เวลานี้ กรธ.เตรียมเสนอให้ สนช.พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย หลังจาก กรธ.เริ่มส่งสัญญาณมีบางประเด็นที่ สนช.แก้ไข โดยเฉพาะการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตอาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“หลังจากที่ กรธ.หารือร่วมกันแล้วว่าจะมีประเด็นที่นำไปสู่การขัดหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งที่กำหนดให้ว่าต้องทำอย่างโปร่งใส
ได้แก่ 1.ระบบการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนของพรรคการเมืองส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือไพรมารีโหวต ที่พบว่าเนื้อหาไม่สมบูรณ์ 2.ระบบไพรมารีโหวตที่อาจมีผลกระทบต่อระยะเวลาการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ 3.ประเด็นการกระทบสิทธิของประชาชนและพรรคการเมืองต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง” อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ระบุ
สถานการณ์ของร่างกฎหมายพรรคการเมืองนั้นแตกต่างไปจากร่างกฎหมาย กกต.อย่างสิ้นเชิง เพราะร่างกฎหมาย กกต. ทั้ง สนช.และ กรธ.ต่างยืนอยู่ในหลักการเดียวกันที่ต้องการเซตซีโร่ กกต. แต่ผิดกับกรณีของร่างกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.และ สนช.มองต่างมุมกันอย่างสิ้นเชิง
ฝ่าย กรธ.นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. แสดงจุดยืนมาตลอดว่า เงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตเวอร์ชั่น สนช.จะมีผลให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร สส.ไม่ได้ แต่ สนช.นำโดย “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง มองว่าการทำไพรมารีโหวตแบบ สนช.นั้นเหมาะสมแล้ว
จากความขัดแย้งระหว่าง กรธ.และ สนช.ในประเด็นนี้เอง อาจนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะการมีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป
เงื่อนไขสำคัญที่จะกระทบต่อปฏิทินโรดแมป คือ การลงมติ 2 ใน 3 ของ สนช. หรือ 167 คนจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 250 คน ไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็จะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป
ผลการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องมีอันเป็นไป ย่อมทำให้การจัดทำร่างกฎหมายพรรคการเมืองต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วย แน่นอนว่าย่อมต้องมีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็น 1 ใน 4 ของกฎหมายเลือกตั้งที่จะต้องมีการประกาศใช้เพื่อไปนำสู่การกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังจากกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ หากขาดฉบับใดฉบับหนึ่งไป การเลือกตั้งก็ไม่อาจมีขึ้นได้
ถามว่าสมมติฐานที่ว่านี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ ก็มีความเป็นไปได้พอสมควร เพราะความขัดแย้งระหว่าง กรธ.และ สนช.คราวนี้บาดลึกกว่าทุกครั้ง อันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่ยอมให้แก่กันยาก ผลสุดท้ายเลยส่งมายังการเลือกตั้งที่อาจต้องเลื่อนออกไป