posttoday

'โขน ฟีเวอร์' ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

08 ธันวาคม 2561

ในทุกปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

โดย พรเทพ เฮง 

ในทุกปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงโขน สมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และฟื้นฟูศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงของชาติ ทำให้การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ละปีเปิดฉากการแสดงอย่างสวยงามและมีประชาชนเฝ้ารอทุกปี

ปี 2561 นี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” อันเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดีและการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต

\'โขน ฟีเวอร์\' ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

ความดีใจของคนไทยกระหึ่มและชื่นบานไปทั้งเมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco-ยูเนสโก) โดยมีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 181 ประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการเสนอการแสดงโขนในประเทศไทย (Khon maskeddance drama in Thailand) ในรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ต่อที่ประชุมยูเนสโกเพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 40 รายการ

การที่ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “การแสดงโขน” ของไทยให้เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ถือได้ว่าเป็นพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยแท้ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ในการฟื้นฟูศิลปะชั้นสูงให้ประชาชนทุกคนได้เป็นเจ้าของได้ชื่นชม

เพราะการฟื้นฟูศิลปวิทยาแขนงนี้มิใช่เป็นเพียงการอนุรักษ์การแสดงโขนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและหัตถกรรมของไทยไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกายฝีมือช่างทำเครื่องทอง เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หัวโขน การแต่งหน้า ฯลฯ ที่ราวกับหลุดออกมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่คุ้นตา

ขอบคุณคนไทยจากคีย์แมนทีมทำงานเบื้องหลัง

\'โขน ฟีเวอร์\' ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

เมื่อคณะกรรมการยูเนสโกประกาศให้โขนไทย ขึ้นทะเบียนสำเร็จเป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) โขนไทยก็ขึ้นไปแสดงโชว์ต่อหน้าคณะกรรมการทันที ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกหรือเกือบทั้งหมด จะส่งไฟล์วิดีโอขึ้นมาเปิดให้ดูเท่านั้น และประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่ใช้การแสดงสดต่อหน้าคณะกรรมการยูเนสโก

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการโขนพระราชทาน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และล่าสุดถูกแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเดินทางไปนำเสนอให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ “โขนไทย” (Khon, masked dance drama in Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) อย่างเป็นทางการ ที่สาธารณรัฐมอริเชียส ได้โพสต์คลิปวิดีโอแสดงความขอบคุณทุกฝ่ายในเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Anucha Thirakanont ของตัวเอง หลังจากประสบความสำเร็จว่า

“ในนามของคณะทำงาน ขอขอบคุณชาวไทยทุกคนที่ส่งแรงใจและเสียงเชียร์มาทางสื่อต่างๆ ซึ่งทางเราก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันโขนขึ้นทะเบียนในการเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ขอขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่ทำงานผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเล็งเห็นความสำคัญนำโขนเป็นรายการแรกในการเข้าสู่อนุสัญญาไอซีเอช

ขอบคุณสถาบันไทยคดีศึกษา เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เหนื่อยกันมาเป็นเวลาแรมปี ขอขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน แล้วก็ศิลปินโขน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นช่างปักเครื่อง ช่างทำเครื่องแต่งกาย ช่างทำเครื่องประดับ ช่างเย็บเครื่องไปจนถึงชุมชนที่ส่งเสริมและสงวนรักษาโขน และร่วมกันจัดทำข้อมูลนี้ขึ้นมา จนในที่สุดเราก็ประสบความสำเร็จ

หน้าที่ในการบำรุงรักษาโขนเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องทำสืบต่อไป ฝากไว้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน”

ว่าไปแล้ว การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มี 3 ประเภทคือ

1.บัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of Intangible Cultural Heritage of Humankind)

2.รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Urgent List)

3.รายการมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา (Good Practice)

มองอนาคตศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในกระแสโขน ฟีเวอร์

\'โขน ฟีเวอร์\' ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อดีตหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร และผู้อำนวยการศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองถึงความสำเร็จของการผลักดันโขนในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจว่า

“จริงๆ แล้ว มีหลายอย่างที่ประกอบกันทั้งเรื่องการเมือง วัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ว่าใครคุยกับยูเนสโกรู้เรื่องมากกว่ากัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าใครคิดก่อนใคร แล้วแต่จะว่ากันไป แต่สำหรับคนที่ทำงานทางศิลปะอาจจะไม่ได้แคร์ตรงนี้ด้วยซ้ำ

เป็นเหมือนการได้ตีตรา แต่ไม่ใช่ว่าโขนได้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้ว เราจะได้งบประมาณจากยูเนสโกมาทำการอนุรักษ์มากขึ้นก็ไม่ใช่ เพราะเป็นของเรา ซึ่งต้องใช้งบประมาณของเรา เงินภาษีของเรามาดูแลเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมตรงนี้ให้อยู่ต่อไป”

ผศ.ปวิตร ชี้ว่าเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว กระแสโขนถูกจุดขึ้นอีกครั้งในวงกว้าง สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำอย่างไรให้คนไทย ไม่ใช่แค่ดูโขนอย่างเดียว

“แต่ว่าเข้าใจ เด็กๆ อาจจะเต้นโขนเป็น เล่นที่โรงเรียน บางโรงเรียนก็มีโขนใหญ่ประจำปี ผู้ปกครองมาดูกันเยอะ แต่ถามว่าดูแล้วเข้าใจจริงๆ ไหม และเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรึเปล่า แล้วคนทำสามารถที่จะพัฒนาโขนได้อย่างไรในอนาคต

นอกจากที่จะอนุรักษ์ไว้ในลักษณะที่เป็นอยู่อย่างเดิม มีวิธีการที่จะเชื่อมโยงกับปัจจุบันสร้างขึ้นให้ร่วมสมัยมากขึ้นได้ไหม มีโอกาสหรือช่องทางที่จะทำอย่างนั้นได้หรือเปล่าจากกระแสนี้ ผมว่าน่าสนใจมากกว่า

ต้องมานั่งคุยกัน เพราะความเป็นศิลปะร่วมสมัยไม่ใช่การเป็นตะวันตกหรือการเป็นต่างประเทศ แต่มันคือพัฒนาการของประเพณีที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน ต้องเข้าใจตรงกันตรงนี้”

แนวความคิดที่ไปไกลกว่านั้น ผศ.ปวิตร ได้วิเคราะห์ถึงโครงสร้างที่ไม่สามารถทำให้โขนพัฒนาขึ้นจากการอนุรักษ์แบบเดิมๆ งอกงามอีกส่วนขึ้นเป็นศิลปะการแสดงร่วมสมัย

\'โขน ฟีเวอร์\' ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

“จริงๆ แล้วโครงสร้างของกระทรวงวัฒนธรรมเอง ที่แยกศิลปะร่วมสมัยออกจากศิลปะที่เป็นประเพณีนิยมออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีใครเขาทำกัน ถ้าไปดูโครงสร้างของกระทรวงวัฒนธรรมทั่วโลก ไม่มีใครเขาทำแบบนี้ เพราะถ้าทำแบบนี้คนจะมองออกเป็นสองกล่องทันที เรื่องงบประมาณสนับสนุนก็จะไปอยู่ที่ศิลปวัฒนธรรมแบบประเพณีนิยมทั้งหมด เป็นการอนุรักษ์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งเราทำได้ดีอยู่แล้ว ถ้าจะทำให้พัฒนาขึ้นต้องเชื่อมโยงกัน และต้องรื้อโครงสร้างของกระทรวงวัฒนธรรมกันใหม่ แทนที่จะแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน ต้องทำให้เห็นว่าทุกอย่างมันคือศิลปวัฒนธรรมไทย

ในชีวิตปกติประจำวันเราก็ไม่ได้ใส่ชุดไทยมาทำงาน แต่เราก็เป็นคนไทย อาหารเราก็กินโจ๊ก ติ่มซำ สเต๊ก ไม่มีใครกินอาหารไทยทั้งหมด แล้วไม่ใช่ไม่รักความเป็นไทยด้วย กินอาหารไทยแท้ 3 มื้อทุกวัน แล้วไทยแท้มีจริงไหม โครงสร้างของกระทรวงวัฒนธรรมขัดแย้งกับธรรมชาติของความเป็นไทยอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงพัฒนาไปไม่ได้

สิ่งสำคัญของการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมต้องมีผู้ชมหรือคนดูด้วย ไม่ใช่แค่ศิลปินเพียงอย่างเดียว คนดูดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาเจอในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เขาทำก็อยู่ต่อไปไม่ได้ เมื่อดูแล้วไม่เกิดแรงบันดาลใจและมีความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของประเทศ ก็จบแค่ตรงนั้นเอง

ตรงนี้ศิลปินสายประเพณีนิยมกับสายร่วมสมัยต้องมานั่งคุยเพื่อเชื่อมโยงกัน ทำงานร่วมกันได้ถ้าโครงสร้างของหน่วยงานรัฐบาลเอื้อต่อการให้ทำงานร่วมกัน”

คำว่าศิลปะร่วมสมัย ผศ.ปวิตร บอกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนของการเชื่อมโยงระหว่างศิลปวัฒนธรรมประเพณีนิยมกับศิลปะร่วมสมัย คือ นิทรรศการ “วังน่านิมิต” โดยมี คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นผู้อำนวยการโครงการวังหน้า ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์ กรุงเทพ

“สามารถนำเสนองานออกมาอย่างที่เป็นแบบร่วมสมัยมาก คือ เนื้อหาที่เป็นแบบประเพณีนิยมแต่นำเสนอแบบร่วมสมัย ซึ่งอยากมีแบบนี้เยอะๆ แล้วคนสนใจกันมากสำหรับนิทรรศการชุดนี้ ผมว่าดูดีกว่านิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่นำมาจากต่างประเทศด้วยซ้ำ เพราะมันคือการเชื่อมโยงจากรากเหง้าของเรา แต่นำเสนอในแบบที่เราไม่คาดคิดมาก่อน และมีพื้นที่ให้เราไปศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองต่อไป ซึ่งผมอยากเห็นงานแบบนี้มากขึ้น”