posttoday

เจาะคุณสมบัติข้าราชการเมือง นายกฯอิ๊งค์ส่งชื่อสแกนเข้มไม่แพ้รมต.

17 กันยายน 2567

เปิดข้อกม.กางคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง นายกฯอิ๊งค์กำหนดสเปกเข้มส่งชื่อตรวจสอบไม่แพ้รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะข้าราชการการเมือง เนื่องจากทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีความเข้มงวดในสัดส่วนของข้าราชการการเมืองที่จัดตรวจถึง 5 หน่วยงาน ซึ่งเป็นการตรวจเข้ม เช่นเดียวกับตำแหน่งรัฐมนตรี  
 

แต่เดิมการแต่งตั้งคณะข้าราชการการเมือง จะตรวจเฉพาะแค่ประวัติอาชญากรรม สตช. และป.ป.ช. แต่ครั้งนี้เพิ่มในส่วนของการตรวจสอบจาก /ปปง. กฤษฎีกา ศาลรธน.ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง กรมบังคับคดี ป.ป.ท. ปปส. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สตง.  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า /กลต. และส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชน สำนักงานที่เป็นทั้งนิติและเป็นนิติบุคคล ของผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเคยสังกัด

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นไปตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย 

  •     มีสัญชาติไทย
  •     อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
  •     เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม            รัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  •     ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่คณะรัฐมนตรี            กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  •     ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
  •     ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  •     ไม่ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย
  •     เคยเป็นบุคคลล้มละลายและปลดจากการล้มละลายแล้ว  
  •     ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  •     เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา
  •     ไม่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและชี้มูลการกระทำความผิดขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช.
  •     ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก จากรัฐวิสาหกิจ
  •     ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 ตุลาคม 2557) ว่า ข้าราชการการเมือง เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 

  • ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ ต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใด ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ 
  • ไม่มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐวิสาหกิจ และกรรมการขององค์การมหาชน (กรณีเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ พนักงาน ของรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการขององค์การมหาชนอยู่แล้ว (หากได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองจะทำให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว)