posttoday

ไม่ง่าย แก้รัฐธรรมนูญ ปมจริยธรรม สว.-สส.รัฐบาล สะกิดเตือน แนวคิดเพื่อไทย

23 กันยายน 2567

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฉบับพรรคเพื่อไทย 6ประเด็น ตามที่สส.ของพรรค ได้ร่วมลงชื่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมบรรจุวาระ นัดที่ประชุมร่วมรัฐสภาฯ กำหนดวันประชุม 1 ในวาระร้อน ถูกจับตามอง คือ การแก้ไขปมปัญหาจริยธรรม ที่ถูกสส.พรรคร่วมรัฐบาล และ สว.คอยขวางกั้น

KEY

POINTS

  • สส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อยื่นต่อ ประธานสภาฯ ขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 6 ประเด็น 
  • หนึ่งในประเด็นร้อนถูกจับตามอง การแก้ไข มาตรฐานจริยธรรม ที่พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอขอให้กำหนดขอบเขต นิยาม ให้ชัดเจน
  • สส.พรรคร่วมรัฐบาล และ สว. แสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว
  • รัฐธรรมนูญมาตรา 256(3) ระบุชัดนอกจากใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาฯแล้ว ยังต้องอาศัยเสียงสว. 2 ใน 3 ในการให้ความเห็นชอบด้วย 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทย 6ประเด็น ตามที่สส.ของพรรค ได้ร่วมลงชื่อ ส่งให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมบรรจุวาระ นัดที่ประชุมร่วมรัฐสภาฯ กำหนดวันประชุมอีกครั้ง 1 ในวาระร้อน ถูกจับตามอง คือ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) คุณสมบัติรัฐมนตรี 

ปัจจุบัน (4) กำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แก้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และให้ถือการกระทำดังกล่าวนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้ 


(5) เรื่องจริยธรรมแก้ให้ชัดเจนว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดย (7) คนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษซึ่งปัจจุบันห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น แก้เป็น ‘ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน’

ไม่เพียงแค่ สังคมจับตามอง วิพาษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในมุมมองของ พรรคร่วมรัฐบาลเอง ยังมอง ในมุมที่แตกต่าง


'ภราดร ปริศนานันทกุล' รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย 
'เรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีคำถามว่าจริยธรรมเป็นไม้บรรทัดที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนมีมุมมองแบบไหน เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือไม่ นักการเมืองมองแทนประชาชนไม่ได้ คนพูดต้องเป็นประชาชน ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนเลือกส.ส.ร. เขียนกติกา รวมถึงจริยธรรมด้วย จะเข้มงวดแค่ไหน ถึงขั้นระดับศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเลยหรือไม่'

'ชัยชนะ เดชเดโช' สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

‘ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมือง เชื่อว่า การที่ทุกคนจะเข้าสู่ตำแหน่ง ต้องพร้อมตรวจสอบจริยธรรม เราจะเป็นผู้บริหารประเทศก็ต้องยอมรับในกติกาที่เกิดขึ้น’
 

มุมมอง พรรคเพื่อไทย 'วิสุทธิ์ ไชยณรุณ' ประธานวิปรัฐบาล และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า 


'ประเด็นจริยธรรมยังมีอยู่ แต่ต้องมีขอบเขต คนจะได้ระมัดระวังไม่ทำต่อ เช่น กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสียงข้างมากเกินแค่ 1 เสียงก็พ้นตำแหน่งนายกฯแล้ว ควรเพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านี้ได้หรือไม่ ต้องดูเรื่องลหุโทษด้วย เช่น หากไปขับรถชนคนตาย ต้องดูว่าขาดจริยธรรมหรือไม่ เชื่อว่าหากพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ประเด็นดังกล่าว เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน'

‘สงคราม กิจเลิศไพโรจน์’ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย 
 ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองคนไหนหรือพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น ตามที่มีคนพยายามกล่าวหา แต่เป็นการกำหนดคำนิยามให้ชัดเจนของคำว่ามาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองว่า มีอะไรที่เข้าข่ายบ้าง รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยจริยธรรมของนักการเมืองยังมีอยู่ แต่ต้องมีขอบเขตให้ชัดเจนว่าประมาณไหน จึงถือว่าเป็นความผิดที่ขัดต่อจริยธรรมของนักการเมือง’

นักการเมือง รัฐมนตรี ที่ต้องคำพิพากษา ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม มีให้เห็นหลายกรณี ช่อ-'พรรณิการ์ วานิช' อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลฎีกาตัดสิน ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต จากการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ละเอียดอ่อนกระทบกระเทือนจิตใจคนไทย 


'กนกวรรณ วิลาวัลย์' อดีตรมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย ผลพวงจากคดี ออกโฉนดที่ดิน ในพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ ศาลฎีกาสั่งห้ามเล่นการเมืองตลอดชีพ และตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

'ปารีณา ไกรคุปต์' อดีตสส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้พ้นจากความเป็นสส. เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 

คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ 'เศรษฐา ทวีสิน' พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่า ขาดคุณสมบัติ

ไม่ว่าจะเป็นกรณี เศรษฐา-พรรณิการ์-กนกวรรณ-ปารีณา ถูกร้องเรียน และถูกตัดสิน มีคำพิพากษาออกมา ล้วนมาจากเรื่อง 'ฝ่าฝืนจริยธรรม'  

เรื่องร้องเรียน อิ๊งค์-'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี สส. แกนนำพรรคเพื่อไทย ล้วนขอให้ องค์กรตรวจสอบ ทำการตรวจสอบว่า ฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่  

รัฐธรรมนูญมาตรา256(3) ระบุ
“การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

แปลความว่า นอกจากใช้ทั้งเสียงสส. และสว. 500 + 200 โดยเสียงที่ที่เห็นชอบ ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 350 เสียงขึ้นไป
แต่ยังมีอีกขยัก ต้องมีเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ ใช้เสียงสว. 67 เสียงขึ้นไป 


การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘จริยธรรม’ ตามมุมมอง เพื่อไทย พยายามอธิบาย ไม่ได้ยกเลิก แต่อยากกำหนดขอบเขต นิยามให้ชัด ขณะเดียวกัน เริ่มมีเสียงเห็นต่าง สส.พรรคร่วมรัฐบาล  ภาคสังคมมอง การยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทย 6 ประเด็น และ จริยธรรม วนเวียนอยู่ที่ ปัญหานักการเมือง พรรคการเมืองทั้งสิ้น

กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องได้รับความเห็นชอบ สว. ที่เริ่มมีเสียง ทักท้วง ท้วงติง ไม่เห็นด้วย หากจะแก้ไข ในเรื่องจริยธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งด่านสำคัญ คอยขวางกั้น การแก้รัฐธรรมนูญ