posttoday

แอมเนสตี้ จี้ รัฐ ล่าตัวจำเลยตากใบ ลงโทษก่อน25ต.ค. ย้ำ ห้ามปล่อยคนผิดลอยนวล

21 ตุลาคม 2567

ชนาธิป นักวิจัยแอมเนสตี้ ไล่บี้ ภาครัฐ ต้องใช้ทุกวิถีทาง นำตัวผู้ต้องหา คดีตากใบ มาลงโทษก่อนขาดอายุความ 25ต.ค.67 ย้ำ ผู้ต้องสงสัยทำผิดคดีอาญา ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องไม่พ้นผิด ลอยนวล กระตุ้น รัฐบาล เร่งควานหาตัว คืนความยุติธรรมให้ครอบครัวเหยื่อตากใบ

นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า ทางการไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อมอบความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนมายาวนาน จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมประท้วงในอำเภอตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน 

คำสั่งศาลให้รับฟ้องคดีที่ยื่นโดยผู้เสียหายและครอบครัวเมื่อเดือนสิงหาคม ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวัง ท่ามกลางการลอยนวลพ้นผิดที่ฝั่งรากลึกในประเทศไทยหลังจากการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วง แต่คดีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากอีกไม่กี่วันคดีนี้จะหมดอายุความ จำเลยในคดีนี้ล้วนเป็นอดีตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่คาดการณ์ว่าตอนนี้อยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ยังไม่ได้เข้ามาปรากฏตัวต่อศาลตามการนัดหมาย

หากคดีนี้ไม่มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีจะถูกพิจารณาให้เป็นอันยุติการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมและจะถูกยกฟ้องในที่สุดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
 

นายชนาธิปกล่าวว่า แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นและทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ต้องสงสัยที่มีความผิดในคดีทางอาญาเพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในคดีนี้จะไม่ลอยนวลพ้นผิด ทางการไทยจะต้องบังคับใช้หมายจับที่มีอยู่ และนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบความยุติธรรมกับผู้เสียหายและครอบครัว และทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยสามารถทวงถามความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในคดีนี้ได้อย่างเต็มที่
 

แอมเนสตี้ยังได้เผยแพร่ ข้อมูลพื้นฐาน ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนได้รวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายมุสลิมเชื้อสายมลายู 6 คน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถูกทางการไทยควบคุมตัวโดยพลการ 

ในการชุมนุมประท้วงนั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง ส่งผลให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนถูกยิงเสียชีวิต หลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายชายมุสลิมเชื้อสายมลายูประมาณ 1,370 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างออกไป 150 กิโลเมตร พวกเขาถูกบังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสและบางคนกลายเป็นผู้พิการถาวร

คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาลในขณะนั้น ได้ประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความประมาทในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่ามีส่วนรับผิดชอบตามความเห็นของคณะกรรมการยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวน

ในเดือนสิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้เห็นชอบตามคำร้องของผู้เสียหายและครอบครัวที่ยื่นฟ้องทางอาญาเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ ซึ่งรวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง 

จากเจ้าหน้าที่ 9 นายที่ถูกฟ้อง ศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 7 นายในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ แม้จะมีหมายเรียก แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจากทั้ง 7 นายมาปรากฏตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อเข้ารับการสืบพยานและตรวจสอบพยานหลักฐาน ศาลจึงได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง 7 รวมถึงผู้ที่คาดว่าอยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร 

ในคดีที่เกี่ยวข้องแต่เป็นการฟ้องแยกต่างหาก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 8 นายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ต่างจากคดีที่ฟ้องโดยผู้เสียหาย คดีนี้มีจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และไม่มีจำเลยคนใดในคดีนี้มาปรากฏตัวต่อศาลเช่นกัน 
 
อายุความในคดีนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยต้องมีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จึงจะทำให้กระบวนการไต่สวนเริ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสังเกตว่า ไม่ควรมีอายุความสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและการทรมาน  ในเดือนตุลาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ทางการไทยไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการปราบปรามการประท้วงที่รุนแรงที่อำเภอตากใบและครอบครัวของพวกเขา