ย้อนนโยบายเพื่อไทย ลุยปฏิรูปกองทัพ ปมถอนร่างกม.จัดระเบียบกลาโหม
ประยุทธ์ สส.บัญชีรายชื่อ ถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมแล้ว ขณะที่นายกฯอิ๊งค์ ภูมิธรรม ชี้เป็นสิทธิส่วนตัวไม่เกี่ยวเพื่อไทย ย้อนนโยบายหาเสียงพรรค ลุยปฏิรูปกองทัพ สกัดรัฐประหาร
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงหลังการประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยในการเปิดสมัยการประชุมสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ถึงกรณีที่ตัดสินใจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม หรือ กฎหมายสกัดการรัฐประหาร เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า ไม่เคยมีข้อหมองใจกันกับกระทรวงกลาโหม แต่ก็อยากปฏิรูปกองทัพ และประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยฯ เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งแม้จะมีรั้วก็ไม่สามารถป้องกันโจรได้ แต่ถ้าประชาชนต้องการมาเป็นรั้วป้องกัน เหมือนสาธารณรัฐเกาหลี กฎหมายก็จะศักดิ์สิทธิ์ จึงได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไป
"แม้ผมจะไม่ได้ยกร่างด้วยตนเอง แต่เป็นร่างกฎหมายที่กระทรวงกลาโหมยกร่าง สมัยที่นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และได้เสนอร่างกฎหมายนี้มายังพรรคเพื่อไทย และได้ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคพิจารณาอาจจะผิดเพี้ยนจากร่างต้นฉบับบ้างเล็กน้อย แต่เนื้อหาที่มีการปรับแก้ก็เป็นหลักปฏิบัติของทั่วโลก ที่มีการคานอำนาจกัน แต่ประเทศไทยอาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างไปก็ไม่ได้ปฏิเสธ"
นายประยุทธ์ ระบุว่าได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้พบจุดบกพร่องกว่า 20 จุด ที่จำเป็นจะต้องแก้ไข ซึ่งตามข้อบังคับการประชุม หากเป็นการแก้ไขเล็กน้อยสามารถแก้ไขได้ทันที
แต่การแก้ไขกว่า 20 จุดจึงได้แจ้งกับผู้บริหารพรรคว่ามีความจำเป็นจะต้องแก้ไข โดยนัยยะตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม จะต้องนำกลับมาดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขทำให้แล้วเสร็จได้ในเพียงวันเดียว แต่ยังจำเป็นจะต้องเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และรับฟังความเห็นจากพรรคเพื่อไทยก่อนด้วย
เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ.… ที่เสนอโดย นายประยุทธ์และคณะ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 73.42 % ขณะที่เห็นด้วยมี 26.58 % การรับฟังผ่านเว็บไซต์รัฐสภาครบกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2568
สิทธิส่วนตัวไม่เกี่ยวกับเพื่อไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ยังไม่ใช่มติพรรค ยืนยันทางพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ ส่วนการที่ถอนร่างพ.ร.บ.กลาโหมเป็นสิทธิของ สส. อยู่แล้วแต่ไม่ใช่มติของพรรค
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สำทับว่านายประยุทธ์ เป็นคนถอน เพราะเป็นร่างส่วนตัวในฐานะที่เป็น สส.ก็เป็นสิทธิได้ยินมาว่าที่มีการถอนร่างจะมีการนำไปปรับใหม่ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะปรับอย่างไรแล้วก็ไม่ได้มีการเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย โดยเรื่องนี้ก็ยังไม่เข้าที่ประชุมของพรรคเป็นแนวทางที่ดีที่นายประยุทธ์ได้ฟังเสียงจากหลายฝ่ายและนำไปปรับใหม่
เท่าที่ฟังก็มีบางเรื่องที่ถูกคัดค้านบางเรื่องก็ได้รับการสนับสนุนเพราะคิดว่าเรื่องนี้เราทำเพื่อที่จะให้มีการแก้ไขปัญหา ให้แต่ละฝ่ายช่วยกันพิจารณาสามารถทำให้ตอบสนองความถูกต้องความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยไม่สะเทือนถึงการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งปี2566 พรรคเพื่อไทยชูนโยบายว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน
นอกจากนี้มีการนำเสนอนโยบาย ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจและเสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร กระทั่งมีการถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม
ย้อนหลักการและเหตุผลก่อนถอน
สำหรับหลักการ และเหตุผลของการแก้ไขร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมที่ถูกถอนออกไประบุให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น เพราะมองว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการ แต่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหระบุว่า คนที่ไม่ใช่พวกพ้องเสียโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหารและทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส ดังนั้น จึงควรให้อำนาจ ครม.เป็นผู้พิจารณา อีกทั้งควรปรับองค์ประกอบของกรรมการให้เหมาะสม รวมถึงองค์ประกอบของสภากลาโหม ให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหม ให้นายกฯเป็นประธานสภากลาโหมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตัดกองทัพอออกจากสภากลาโหมบางส่วน ให้เหลือเพียง 1-2 คนก็เพียงพอ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขยังได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพล มาตรา 25 ที่จะได้รับการแตั้งตั้งเป็นอย่างน้อยด้วย คือ
1.ไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้อิทธิพลหรือพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
2.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงกลาโหม
3.ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หมิ่นประมาท หรือลหุโทษ
นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมการจัดระเบียบปฏิบัติราชการทหารในมาตรา 35 ซึ่งเดิมกำหนดหน้าที่ทหารเพื่อปราบปรามจลาจล พบว่าร่างแก้ไขได้เพิ่มข้อห้ามใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหาร ในกรณีของการยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่างๆ ห้ามใช้เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา และกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ
ทั้งนี้ ได้กำหนดด้วยว่า ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร
รวมถึงยังเพิ่มบทลงโทษนายทหารที่ฝ่าฝืนหรือพบการเตรียมการผิดมาตรา 35 ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ในสาระสำคัญของมาตรา 35 ที่เสนอแก้ไขนั้น ย้ำความสำคัญคือ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข