ไทย - นิวซีแลนด์ จับมือ เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569
ไทย - นิวซีแลนด์ จับมือ เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569 ประกาศเป้าหมายเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การค้า พร้อมเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน
ถ้อยแถลงร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยกับนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์
วันที่ 17 เมษายน 2567
1. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ต้อนรับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 16– 18 เมษายน 2567 การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 68 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างนิวซีแลนด์กับประเทศไทย และใกล้จะครบรอบ 20 ปีของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (ทีเอ็นซีเซบ)
2. นายกรัฐมนตรีทั้งสองชื่นชมความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง ความร่วมมืออันอบอุ่นระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ และผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งได้รับทราบเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีที่กว้างขวาง ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนา
3. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงการที่ทั้งสองประเทศต่างก็เคารพในค่านิยมประชาธิปไตย การปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมอย่างแน่วแน่
4. นายไซมอน วัตต์ รัฐมนตรีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสรรพากร ข้าราชการระดับสูง คณะนักธุรกิจระดับบริหาร และคณะสื่อมวลชน ได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในการเยือนครั้งนี้ คณะการเยือนที่มีองค์ประกอบที่ครอบคลุมนี้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ
ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - นิวซีแลนด์
5. ไทยและนิวซีแลนด์จะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569 ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงได้เห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2569 ด้วยตระหนักถึงความสัมพันธ์อันยาวนานและความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างสายสัมพันธ์ให้แนบแน่นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุศักยภาพของความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มที่
6. ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้จะประกอบด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่เป็นความสนใจร่วมกัน เช่น ความมั่นคง การค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยวและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งจะดำเนินการบนพื้นฐานของการยกระดับกลไกการหารือระดับทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว เช่น การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย–นิวซีแลนด์ และคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-นิวซีแลนด์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างและยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในข้างต้น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยจะดำเนินโครงการในแต่ละปีเป็นระยะเวลาสองปีต่อจากนี้จนถึง 2569
7. นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้อย่างครอบคลุม
ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง
8. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ โดยรับทราบถึงการจัดการประชุมทวิภาคีด้านการกลาโหม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566
9. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ประกาศเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนความร่วมมือทางทหารนิวซีแลนด์-ไทย เพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมของกองทัพทั้งสองประเทศ และมุ่งสู่การยกระดับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมและการรับมือกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก แผนปฏิบัติการนี้จะช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างกองทัพและกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ
10. ทั้งสองฝ่ายได้พิเคราะห์ถึงการแพร่ขยายของอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบองค์กรและอันตรายที่เกิดต่อประชาชนและชุมชนทั้งในประเทศ ในระดับภูมิภาค และระดับโลก นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบถึงความร่วมมือไทย-นิวซีแลนด์เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และยาเสพติด โดยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสในการร่วมมือให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งหัวรุนแรง และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการจัดทำโครงการระยะหลายปีด้านการสนับสนุนและการฝึกอบรมด้านการบังคับใช้กฎหมายแก่ประเทศไทย
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
11. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (ทีเอ็นซีเซบ) จะครบรอบ 20 ปี ในปี 2569 ทั้งสองเฝ้ารอการลดภาษีเป็นศูนย์สำหรับการนำเข้าสินค้าทั้งหมดระหว่างกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 และรับทราบว่าการค้าระหว่างกันได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในระยะเวลา 20 ปีที่ ทีเอ็นซีเซบ มีผลบังคับใช้
12. ในการนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศยืนยันที่จะดำเนิน “โครงการพัฒนาโคนมในประเทศไทย” ในกรอบทีเอ็นซีเซบต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งแสดงถึงการใช้ความเชี่ยวชาญของนิวซีแลนด์เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาการผลิตของอุตสาหกรรมนมโคของไทย
13. ทั้งไทยและนิวซีแลนด์ต่างก็เป็นภาคีของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (เอเอเอ็นซีเอฟทีเอ) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซบ) ซึ่งเป็นกลไกให้ผู้ส่งออกของทั้งสองประเทศขยายตลาด นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (ไอเพฟ)
14. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศต่อการดำเนินการตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ และเห็นพ้องกันว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเครื่องมือและความตกลงทางการค้าที่มีอยู่อย่างครอบคลุมนี้เพื่อนำประเทศไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง
15. นายกรัฐมนตรีทั้งสองตกลงที่จะแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันในด้านที่มีความเชี่ยวชาญและความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งในด้านนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น ด้านดิจิทัล เกม การสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชัน และการแพทย์แม่นยำ
16. ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ประกาศเป้าหมายร่วมในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่า ภายในปี 2588 โดยคำนึงถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางและศักยภาพของทั้งสองประเทศ
17. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบการลงความความตกลง 2 ฉบับระหว่างบริษัทของไทยและนิวซีแลนด์ ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กับบริษัทดีเอสเอช ซิสเตม จำกัด และบริษัทซีนเซฟตี จำกัด ซึ่งจะมีบทบาทในการเสริมสร้างคุณภาพและความมั่นคงทางอาหาร
ความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน
18. นายกรัฐมนตรีทั้งสองตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความก้าวหน้าด้านแก้ปัญหาโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือเพื่อยกระดับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (เอ็นดีซี) ภายใต้ข้อตกลงปารีส ความร่วมมือดังกล่าวอาจรวมถึงข้อริเริ่มที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการร่วมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการใช้ตลาดคาร์บอน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความยึดมั่นต่อเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนของไทย ผนวกกับความเชี่ยวชาญของนิวซีแลนด์ในด้านแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืน ทั้งสองประเทศได้แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้แก่ทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสด้วย
ความเชื่อมโยงระดับประชาชน
19. เพื่อเป็นการรับรองความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประชาชนชาวไทยกับนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เห็นพ้องที่จะเร่งรัดการหารือความตกลงด้านความร่วมมือด้านวัฒนธรรม โดยบันทึกความตกลงดังกล่าวจะกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมภายใต้บันทึกความตกลงนี้จะรวมถึงการส่งเสริมการศึกษาด้านภาษา วรรณกรรม และศิลปะ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการและเทศกาลภาพยนต์ และการแปลวรรณกรรมและผลงานวิชาการที่สำคัญ
20. ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างนิวซีแลนด์กับไทย โดยที่นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายสำคัญสำหรับนักเรียนนักศึกษา และนักวิชาการชาวไทยทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษามายาวนาน จึงได้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างทั้งสองประเทศ และวางรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
21. ในวันนี้ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศโครงการความร่วมมือเพื่อฝึกอบรมครู จำนวน 2 โครงการ โดยมหาวิทยาลัยแมสซีย์ของนิวซีแลนด์จะจัดโครงการฝึกอบรมให้แก่ครูจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จำนวน 40 คน และโครงการฝึกอบรมให้แก่ครูจากโรงเรียนรัฐบาลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 100 คน) ทั้งนี้ หัวข้อการฝึกอบรมจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการเรียนภาษาอังกฤษและการส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน
22. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราเพิ่มเติมระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ตลอดจนการเพิ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะให้ความสำคัญกับการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากนิวซีแลนด์มาประเทศไทยเป็น 100,000 คน และนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปยังนิวซีแลนด์เป็นจำนวน 40,000 คนภายในปี 2569
ความร่วมมือระดับภูมิภาค
23. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ครอบคลุม มีกฎระเบียบรองรับ และมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการค้าเสรีและตลาดที่เปิดกว้าง
24. นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์รับทราบบทบาทนำของไทยในอาเซียนและในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความสำคัญของความเป็นแกนกลางของอาเซียน และตกลงที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนและกลไกต่าง ๆ ที่นำโดยอาเซียนต่อไป เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความตั้งใจของนิวซีแลนด์ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านกับอาเซียนในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างนิวซีแลนด์กับอาเซียนด้วย
25. เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการส่งเสริมการดำเนินการของสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคงในอาเซียน หรือโครงการเอ็มพลิฟาย ซึ่งนิวซีแลนด์สนับสนุนเงินทุนจำนวน 15 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบในเชิงลบด้านความขัดแย้งและภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ต่อสตรีในอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างกระบวนการสันติภาพและการป้องกันความขัดแย้งทั่วทั้งอาเซียนผ่านการมีส่วนร่วมและการมีบทบาทนำของสตรี
26. นายกรัฐมนตรีทั้งสองสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ร่วมเกือบ 30 ปีของความร่วมมือระหว่างนิวซีแลนด์กับไทยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการร่วมกันก่อตั้งสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เมื่อปี 2539
27. นายกรัฐมนตรีไทยได้แสดงความยินดีต่อการประกาศของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ว่า นิวซีแลนด์ประสงค์จะเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคแมคส์) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แจ้งว่า นิวซีแลนด์พร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทย ประเทศสมาชิกแอคแมคส์ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของแอคแมคส์ ในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขงที่มีบูรณาการและมีความเชื่อมโยงมากขึ้น
พัฒนาการต่าง ๆ ในโลก
28. นายกรัฐมนตรีไทยได้ขอบคุณที่นิวซีแลนด์สนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ของไทย และนายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ของไทยด้วย
29. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแลกเปลี่ยนมุมมองต่อพัฒนาการของโลกและของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้
30. สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำความสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพของเมียนมา และยืนยันการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อความพยายามที่นำโดยอาเซียนตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน พร้อมสนับสนุนให้ประชาคมระหว่างประเทศทำงานร่วมกันในรูปแบบที่ปฏิบัติได้จริงและสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา
31. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำการสนับสนุนสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนในยูเครนตามกฎบัตรสหประชาชาติ โดยตระหนักถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างต่อเนื่องตามที่ระบุในข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ ES-11/1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2569
32. ในทางทะเล นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเล และการใช้พื้นที่ทางทะเลอื่น ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง UNCLOS และได้ย้ำความจำเป็นในการเคารพความสามารถของรัฐในการอนุรักษ์ พัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดการทรัพยากรทางทะเลของตนอย่างมีประสิทธิผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ UNCLOS นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้ยืนยันการสนับสนุนการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ค.ศ. 2002 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาไปสู่ข้อสรุปในการจัดทำหลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิผลและมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง UNCLOS ในโอกาสแรก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังยืนยันความสำคัญของการปฏิบัติตามกลไกและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องขององค์การการเดินเรือระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่แนะนำที่เกี่ยวข้องขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
33. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายและย่ำแย่ลงในฉนวนกาซา รวมถึงการสูญเสียชีวิตของพลเรือนอย่างน่าสลดภายหลังการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทย และแสดงความห่วงใยต่อแรงงานที่ยังถูกคุมขัง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างมีมนุษยธรรมในทันที เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในฉนวนกาซาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่ รวดเร็ว ปลอดภัย และปราศจากอุปสรรค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และได้ย้ำเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ต่อวิสัยทัศน์ การแก้ปัญหาสองรัฐ ซึ่งรัฐที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสอง ได้แก่ อิสราเอลและปาเลสไตน์ ดำรงอยู่เคียงข้างกันอย่างสันติภายในเขตแดนที่ปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง