posttoday

เปิด4แนวทาง ก.พ.ค.ตร. ชี้ชะตา"บิ๊กโจ๊ก" ปมคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

29 กรกฎาคม 2567

ก.พ.ค.ตร.นัดถกคำร้องอุทธรณ์ "บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์" ปมคำสั่ง "บิ๊กต่าย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ" ให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ้นเดือนก.ค.67 เปิด4แนวทางวินิจฉัย ลุ้นคำสั่งได้กลับเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้นัดพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในวันที่ 30 ก.ค. 67 

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ประกอบด้วย 1.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธานก.พ.ค.ตร. 2.นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการ 3.นายวันชาติ สันติกุญชร กรรมการ 4.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ กรรมการ 5.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการ และ6.พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน กรรมการและเลขานุการ ก.พ.ค.ตร. ส่วน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หนึ่งในคณะกรรมการได้ยื่นถอนตัวตั้งแต่ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เริ่มยื่นอุทธรณ์คำสั่งออกจากราชการ เนื่องจากเคยมีข้อพิพาทระหว่างกันหลายเรื่องในอดีต 

ก.พ.ค.ตร.มีการเปิดโอกาสให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผู้อุทธรณ์และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนามคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน มาชี้แจงด้วยวาจา จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐาน ที่ผู้ร้องนำมาแถลงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ ประกอบกับพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ที่ได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน 

พล.ต.อ.เอก  อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่าหาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยเป็นคุณต่อ"พล.ต.อ.สุรเชษฐ์"ต้องสั่งให้ กลับมารับราชการตำรวจในตำแหน่ง รองผบ.ตร.ตั้งแต่เมื่อครั้งเมื่อมีคำสั่งให้ออกไป ฉะนั้น การแต่งตั้งประจำปีนี้ ซึ่งจะเริ่ม เดือนตุลาคม67 ก็เป็นแคนดิเดตว่าที่ผบ.ตร.ในการที่นายกฯต้องพิจารณาเสนอชื่อ

แต่หากการพิจารณาไม่เป็นคุณ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองต่อไป ตรงนี้ก็เป็นประเด็นว่า ถ้าพิจารณาไม่เป็นคุณท่านก็ยังไม่ได้กลับมาไม่มีสิทธิ์เป็นแคนดิเดต ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ประจำปีนี้ คงต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องที่ถูกออกจากราชการไว้ก่อน 

"คุณสมบัติการแต่งตั้งผู้ที่จะเป็นผบ.ตร. จะต้องดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. ส่วนที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกไปก่อน ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุด แต่ส่วนการแต่งตั้งผบ.ตร.จะมาวีโต้ไม่ได้ ต้องแยกออกจากกัน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ก.พ.ค.ตร.รับคำร้องของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไว้พิจารณาแล้วและพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ คู่กรณี ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.แล้ว ดังนั้นการพิจาณาของก.พ.ค.ตร.มีความเป็นไปได้ใน4แนวทาง ประกอบด้วย 

1.ไม่รับอุทธรณ์ เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ ก.พ.ค.ตร. จะรับไว้พิจารณาได้ เช่น เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจ หรือผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย หรือยื่นพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นเรื่องที่เคยอุทธรณ์ และ ก.พ.ค. ตร.ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนั้นแล้ว  

2.อุทธรณ์มาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา ก.พ.ค.ตร. ก็จะมีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ และจำหน่ายออกจากสารบบ โดยไม่ต้องพิจารณาในเนื้อหาของอุทธรณ์ ซึ่งกรณีคำร้องอุทธรณ์ของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้วดังกล่าวข้างต้น

3.ยกอุทธรณ์ ด้วยคำสั่งทางปกครองที่นำมาอุทธรณ์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ให้แก้ไข เพราะคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์ไม่ถูกต้องบางส่วน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงวินิจฉัยให้แก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้อง

4.ยกเลิกคำสั่งลงโทษ และอาจมีคำสั่งให้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้อุทธรณ์ด้วยก็ได้ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการเยียวยา หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่จะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้และ เนื่องมาจากคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์นั้น เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฏหมาย อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์นั้นฟังขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่ง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับให้เพิกถอนคำสั่ง