posttoday

'ภูมิธรรม'ติดภารกิจด่วน ส่งแม่ทัพภาค4แจงคดีตากใบใกล้หมดอายุความ

24 ตุลาคม 2567

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ติดภารกิจด่วน ส่งแม่ทัพภาค 4 พลโท ไพศาล หนูสังข์ ชี้แจงกมธ. หลังคดีตากใบใกล้หมดอายุความ 25ตุลาคม 2567 โดยเน้นย้ำให้ดูแลความปลอดภัย เฝ้าระวังมือที่3 สร้างสถานการณ์ในพื้นที่

เมื่อวันที่ 24ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานกมธ.ได้เชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง, นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้าชี้แจง

นายจาตุรนต์ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ทางกมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง แต่นายภูมิธรรมติดภารกิจด่วน จึงมอบหมายให้ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 เข้ามาชี้แจงแทน นอกจากนี้ยังเชิญเลขาฯ สมช. ซึ่งท่านมาด้วยตนเอง และยังมีตัวแทนจาก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้ามาด้วย

พลโท ไพศาล หนูสังข์ ระบุหลังเข้าชี้แจงในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพิจารณาศึกษา และวิเคราะห์กรณีคดีตากใบกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ว่า ส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่ได้สงสัยคดีตากใบ แต่ถามถึงแนวทางการรับมือหากคดีหมดอายุความ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วง หรือความรุนแรงในพื้นที่

โดยได้เรียนให้ทราบว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชา ได้เน้นย้ำว่า ให้ดูแลพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ และในส่วนการกระทำต่าง ๆ ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายที่สามารถจะทำได้

การวิเคราะห์แนวโน้มเหตุการณ์ต่าง ๆ หลังคดีหมดอายุความในวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.2567)ว่า มีความห่วงใยเรื่องมือที่สามจะมาสวมรอยสร้างสถานการณ์โดยได้ชี้แจงใน กมธ. ว่า ได้ขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นให้ร่วมเฝ้าระวังมือที่ 3 ส่วนการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงหลักๆคือการควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าว โดยการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ทั่วไปทำอยู่แล้ว แต่อาจจะจะยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น

ส่วนการประเมินความเคลื่อนไหวของฝ่าย BRN พลโทไพศาล ระบุว่า ที่ผ่านมาขบวนการบอกว่าได้มีการสร้างสถานการณ์ และหล่อเลี้ยงสถานการณ์กันไว้แล้ว ที่เหลือเป็นการขับเคลื่อนของมวลชน และประชาชนในพื้นที่ แต่ย้ำว่า ภาพรวมสถานการณ์จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่น่าวิตกกังวล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนประชุม ตัวแทนเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายจาตุรนต์ มีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 
1.ขอให้นายกฯ กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาสให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.2567
2.ขอให้รมว.มหาดไทยดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังพนักงานปกครองให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาสให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.
3.ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.
4.ขอให้กมธ.ศึกษากรณีที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางสร้างสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาตากใบและปัญหาอื่นๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.หากรัฐล้มเหลวในการนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาล ซึ่งจะเป็นตราบาปหนึ่ง แต่รัฐบาลยังสามารถดำเนินการต่อไปด้วยกลไกอื่นได้ เช่น ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการ Truth and Reconciliation ของแอฟริกาใต้ โดยสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 คน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นอดีตข้าราชการมาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯ ว่ามีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ หากยอมรับว่าได้กระทำความผิดก็สามารถขอโทษ และชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติผู้ถูกกระทำได้

กรณีที่จำเลยผู้ใดไม่ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการฯ คณะกรรมการฯ สามารถเสนอให้ครม.พิจารณางดเงินบำนาญหรือดำเนินการถอดยศจำเลยผู้นั้นได้ และขอให้ครม.มีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ ในการจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัด เพื่อขอพรและขอสันติสุข

ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขอบคุณตัวแทนกลุ่มที่มายื่นหนังสือ โดยก่อนหน้านี้กมธ.ได้ออกหนังสือถึงรัฐบาลให้เร่งรัดนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีให้ทันในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หากนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่ทันจะส่งผลต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ ซึ่งทางกมธ.จะนำข้อเสนอและเนื้อหาทั้งหมดที่ได้เสนอมา ไปเสนอแนะต่อครม. และนำมาเป็นแนวทางพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการต่อไป