นายกฯอิ๊งค์สั่งผ่าตัดระบบเตือนภัยพิบัติไทยแก้ปมส่งข้อความช้า
นายกฯแพทองธาร สั่งผ่าตัดแก้ระบบเตือนภัยพิบัติไทย จากปมส่งSMSc0h'แผ่นดินไหวช้า กาง4แผน หน่วยงานรัฐ-ค่ายมือถือต้องพัฒนาให้ใช้งานได้ทันที
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2568 เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
หน่วยงานเกี่ยวข้องประกอบด้วย นายภาสกร บุญญาลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐ ได้รายงานนายกฯแพทองธาร หลังจากได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัล ปภ. กสทช. และโอเปอเรเตอร์ เพื่อหาสาเหตุถึงความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568
โดยคณะทำงานได้ข้อสรุป 3 ส่วนถึงดำเนินการที่ช้า คือ ในช่วงสรุปข้อความและขั้นตอนการส่งข้อความโดยในส่วนปภ.ได้ให้ทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัยซึ่งเป็นหน้าที่ตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550ส่วนที่สองคือกำหนดระยะเวลาไทม์ไลน์ถ้าเกิดเหตุแล้วใช้เวลากี่นาทีเพื่อที่จะให้เกิดความเร็ว
อีกส่วนคือเรื่องของโอเปอเรเตอร์ ได้เรียกค่ายโทรศัพท์มือถือมาพูดคุยศึกษาดูว่าระบบที่เป็นแมนนวนก่อนที่ระบบเซลล์บอร์ดแคส ยังทำงานไม่ได้ จะต้องมีการใช้ระบบสำรองอย่างไรในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
นายกฯแพทองธาร ได้สอบถามว่า เวลาส่งแจ้งเตือนประชาชน ออกมาจากหน่วยงานใด ทำให้อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวของ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี หากข้อมูล 2 ทางยืนยันตรงกัน จะเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูล
โดยวันเกิดเหตุได้รับข้อมูล จากกรมอุตุนิยมวิทยา และในเว็บไซต์ของสหรัฐ ที่ยืนยันตรงกันในเวลา 13.36 น. ทำให้นายกฯ แย้งขึ้นว่า ปภ.ส่งครั้งแรก ในเวลา 14.40 น. จำได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อธิบดีปภ.จึงชี้แจ้งต่อว่าการวิเคราะห์ข้อมูลของเราใช้เวลาประมาณ 10 นาที
แต่ในขณะที่เหตุการณ์จริงใช้เวลา 4 นาที หลังจากฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลได้รับข้อมูลตรงกัน เพราะต้องดูแลสั่นสะเทือนและระยะ เวลาที่จะมาถึงเรา และหลังจากรับ SMS แจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ส่งกระจายข้อมูลทันที
นายกฯแพทองธาร กล่าวขึ้นว่า ต้องปรึกษาภาคเอกชน ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ชัดเจนอยู่แล้ว ความแรงของแผ่นดินไหวเอาไว้ก่อน แต่ถามเอกชนว่า ถ้าเกิดภายใน 5 นาที สามารถสื่อสาร และสรุปได้หรือไม่ เข้าใจว่าต้องรอให้ข้อมูลชัด แต่ในเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว ส่ง SMS ได้เลยหรือไม่ เช่นข้อความสั้นแจ้งเตือนให้ออกจากตึก ต้องสอบถามจากเอกชนว่ามีวิธีการหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไร ให้รวดเร็ว
ขณะที่นายจักรกฤษณ์ ตัวแทนบริษัททรู กล่าวว่า การส่ง SMS ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ใช่เป็นการสื่อสารหลักในการแจ้งเตือนภัย เพราะวิธีการส่งเราต้องรู้เลขหมายก่อน อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทาง ปภ.ส่งมายัง Operator ว่า ขอให้ส่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เราต้องใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูล ว่ามีหมายเลขใดบ้างที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงชาวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงจึงจะทราบจำนวนเบอร์ที่อยู่ในพื้นที่ จึงจะส่ง SMS แจ้งเตือนได้ เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง
คำสั่งแรกบอกให้เราส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี แต่ปริมาณในการส่ง ข้อความแจ้งเตือน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละค่ายมือถือ ดังนั้น การจัดส่ง SMS อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องโทรแจ้งเตือนด้วย แต่หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ เราจะเพิ่มปริมาณในการส่งข้อความในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ช่องแต่ขอย้ำว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียวในการส่งข้อความแจ้งเตือน
ขณะที่นายกฯแพทองธาร เห็นด้วยว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เรื่องของแผ่นดินไหวเราไม่ทราบล่วงหน้า และตนก็คิดว่าการส่ง SMS เป็น การแจ้งข้อมูลเชิงรุก เช่น หากเรานั่งต่อจิ๊กซอว์อยู่ ไม่ได้กำลังเล่นมือถือ จะรู้ได้อย่างไร ดังนั้น SMS จึงเป็นหนึ่งในช่องทางการแจ้งเตือนเชิงรุก เมื่อช่วงเช้า ตนต้องชี้แจงว่าไม่ใช่แผ่นดินไหว ทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและชี้แจงในช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่แผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม นายกฯแพทองธาร โพสต์ข้อความผ่าน X.com รายงานความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาการสื่อสารจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยย้ำว่า ระบบเตือนภัยเป็นกลไกที่สำคัญในการรับมือปัญหาภัยพิบัติ
ประชาชนต้องได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยไม่ตื่นตระหนก สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการแจ้งเตือนนี้ หมายรวมถึงการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ ทั้งไฟป่า น้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว ไปจนถึงการก่อการร้าย
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ย้ำเตือนว่าระบบการเตือนภัยของประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ช้า และไม่ชัดเจน
ทั้งนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเตือนภัยของประเทศไทย ดังนี้
1. เปลี่ยนแปลงระบบ SOP (Standard Operating Procedure) ให้สามารถส่งข้อความได้เลยทันทีที่ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ โดยที่ปภ.ไม่จำเป็นต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อความซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง และข้อความที่ส่งจะต้องเป็นข้อความที่กระชับ ถูกต้อง และเข้าใจง่าย
2. ในระหว่างที่ Cell Broadcast ยังไม่สมบูรณ์ ให้ใช้ระบบ Virtual Cell Boardcast (CBE) เฉพาะระบบ Android จำนวน 70 ล้านเลขหมายไปก่อน โดยที่ ปภ. ส่งตรงไปที่ Operator เพื่อแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนได้เลย
3. ส่วนในระบบ iOS จำนวน 50 ล้านเลขหมาย ให้ใช้การส่ง SMS แทน โดยที่ให้ทาง ปภ. ส่งตรงไปที่ Operator เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน
4. ทาง DE และ กสทช. จะเร่งเจรจากับทาง Apple เพื่อเร่งให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ได้ชั่วคราว
การเตือนภัยรูปแบบนี้สามารถใช้งานได้ทันที ในระหว่างที่ ระบบ Cell Broadcast จริงสามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคมปีนี้
โดยในระหว่างนี้ ขอให้ทางกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยมีการแบ่งหน้าที่และขั้นตอนอย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยจะต้องจัดทำระบบการทำงานหลายรูปแบบ เพื่อรองรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทั้งระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และ ระดับประเทศ รวมทั้งออกแบบการทำงานที่แบ่งตามระดับของความรุนแรงของภัยพิบัติ โดยให้มีการออกแบบการทำงานเพื่อรองรับระบบ Cell broadcast ด้วย และขอกลับมาเสนอแผนงานภายใน 1 เดือน
ขอเรียนว่า ระบบการเตือนภัย SMS หรือ Cell broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเตือนภัย รัฐบาลยังได้เตรียมวิธีการเตือนภัยในอีกหลายรูปแบบเช่น แอปพลิเคชั่น LINE, Facebook , โทรทัศน์ รวมถึง Platform Online ต่างๆ ซึ่งทางปภ. ได้มีการติดต่อกับทางสื่อมวลชน และกรมประชาสัมพันธ์ในเบื้องต้นแล้ว หากเกิดภัยพิบัติจะสามารถเตือนพี่น้องประชาชนได้ทันที
"ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน รวมถึงรัฐบาลจะพัฒนาระบบการเตือนภัยของประเทศไทยให้ดีขึ้น" นายกรัฐมนตรี