posttoday

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?

22 กุมภาพันธ์ 2565

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยม และถ้าหากเราจะหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV สักคัน จะมีอะไรที่เราควรคำนึงถึง และหากทุกบ้านทุกคนหันมาใช้ EV กันหมด ระบบไฟฟ้าที่เรามีใช้ในประเทศจะรองรับความต้องการพลังงานได้อย่างเพียงพอหรือไม่

Highlights

  • ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแตะ 6.6 ล้านในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าจากสองปีก่อนหน้า
  • ในโลกของพลังงานสะอาดนั้น ว่ากันว่ามีเพียงไม่กี่พื้นที่ที่มีพลังขับเคลื่อนเท่ากับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2555 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมแค่ประมาณ 130,000 คันทั่วโลก แต่ในเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 10 ปีจนวันนี้้ เพียงแค่สัปดาห์เดียวยอดขาย EV กลับพุ่งแรงไม่หยุด!
  • สำหรับในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้วางเป้าว่าภายในปี 2573 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และปี 2583 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์แบบเดิม 

--------------------

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?

สิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับ EV

          การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นที่น่าประทับใจเป็นพิเศษในช่วงสามปีที่ผ่านมา แม้ในขณะที่การระบาดใหญ่ทั่วโลกทำให้ตลาดรถยนต์ทั่วไปหดตัว และในขณะที่ผู้ผลิตเริ่มต่อสู้กับปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ในปี 2562 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวม 2.2 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก

 

          ในปี 2563 ตลาดรถยนต์โดยรวมเริ่มหดตัว แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากลับไม่หยุดแรง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคัน และคิดเป็น 4.1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ในปี 2564 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 6.6 ล้าน คิดเป็นเกือบ 9% ของตลาดรถยนต์ทั่วโลก และมากกว่าสามเท่าของส่วนแบ่งการตลาดเมื่อสองปีก่อน การเติบโตสุทธิของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2564 มาจากรถยนต์ไฟฟ้า

 

          เราประเมินว่าขณะนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนประมาณ 16 ล้านคันทั่วโลก โดยใช้ไฟฟ้าประมาณ 30 เทราวัตต์-ชั่วโมง (TWh) ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับไฟฟ้าที่ผลิตในไอร์แลนด์ทั้งหมด
 

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?

          รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือเราเรียกกันสั้นๆ ว่า “รถ EV” พูดง่ายๆก็คือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้งานของเครื่องยนต์ ที่ทำให้กลไกการทำงานลดลง ไม่ต้องหมั่นดูแลเครื่องยนต์ และไม่มีไอเสีย ควันดำ จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โดยรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ประเภท แต่แบบที่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ได้นั้น มีด้วยกัน 2 ชนิดคือ

 

1. Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV)
          รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือเรียกสั้นๆว่า PHEV รถยนต์ประเภทนี้มีทั้งระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าแบบเดียวกับรถ Hybrid แต่พิเศษกว่าคือสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟจากภายนอกได้ ทำให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าระบบไฮบริดแบบเดิม สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 6-14 กิโลวัตต์ (kW) ระยะทางวิ่งด้วยระบบ EV Mode ประมาณ 25-50 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง

 

2. Battery Electric Vehicle (BEV)
          รถยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆว่า BEV รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% ที่ไม่มีเครื่องยนต์ภายในรถ มีแต่แบตเตอรี่ลูกใหญ่ที่เข้ามาทดแทน ข้อดีคือช่วยลดสารมลพิษจากการเผาไหม้ได้ดี หรือที่เขาเรียกกันว่า Zero Emission แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยทั้งสถานีชาร์จไฟรถยนต์ และระยะทางในการขับขี่ สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 60-90 กิโลวัตต์ (kW) ระยะทางวิ่งประมาณ 300-600 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง
EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?

 

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีกี่แบบ? ใช้เวลานานเท่าไหร่?
          สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

 

  1. การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง โดยขนาดมิเตอร์ขั้นต่ำที่แนะนำคือ 30(100)A และเต้ารับต้องติดตั้งใหม่เฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยเป็นการใช้ไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) ที่ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-16 ชม.
  2. การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge) เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV Charger เป็นตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ที่ช่วยให้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถให้เต็มเร็วยิ่งขึ้น โดยเหลือเวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชม.
  3. การชาร์จแบบด่วน (Quick Charge) เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ตรงเข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0-80% ได้ภายในเวลา 40-60 นาที นิยมใช้ตามสถานีบริการนอกบ้าน ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ แต่ก็มีข้อเสียคือทำให้ตัวแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS เป็นต้น

 

หัวชาร์จสำหรับรถแต่ละรุ่นแบบด่วน (Quick Charge)

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?           DC CHAdeMo ย่อมาจากคำว่า CHArge de Move แปลได้ว่า ชาร์จไฟแบบเร็วสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งระบบ CHAdeMO มีการใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จ่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 50 kW

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?           DC CCS2 ย่อมาจาก Combined Charging System เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป จ่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 50 kW

 

          ความเร็วในการชาร์จไฟรถยนต์นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับไฟ (On Board Charger) ของรถยนต์แต่ละรุ่น หรือก็คือตัวควบคุมการดึงพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถ สั่งการไปยังเครื่อง EV Charger โดยทั่วไปขนาดมีตั้งแต่ 3.6kW ถึง 22kW ซึ่งทำให้ตัวเครื่องชาร์จออกแบบมาให้มีทั้งหมด 4 ขนาด คือ 3.7 kW, 7.4 kW, 11 kW, 22 kW (มาตรฐาน) ราคาเครื่องชาร์จหลากหลายมีตั้งแต่ 15,000-100,000 กว่าบาท(แล้วแต่ยี่ห้อ)

 

          ยกตัวอย่าง : สมมุติว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่รับไฟสูงสุด 6.6 kW/h โดยมีขนาดแบตเตอรี่เต็ม 40 kW เราต้องใช้เวลาชาร์จจนเต็มประมาณ 6 ชั่วโมง (หรือเอา 40 หาร 6.6 ได้เลย) โดยเราสามารถเลือกเครื่องชาร์จไฟขนาดไหนมาใช้ก็ได้ แต่ความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มจะไม่เท่ากัน
ตลาด EV ทั่วโลกสะท้อนแนวโน้ม EV จะครองถนนทั่วโลกในอีกไม่นานนี้อย่างแน่นอน!

จีนและยุโรปเป็นผู้นำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

          สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้นำการเติบโตในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2564 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 3.4 ล้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในปี 2564 รถยนต์ไฟฟ้าขายได้เฉพาะในจีนเพียงประเทศเดียวมากกว่าที่ขายทั่วโลกในปี 2563 เป้าหมายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนก็คือ ต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งการตลาดถึง 20% ในปี 2568 ทั้งปี และผลงานในปี 2564 บ่งชี้ว่าอยู่ในแนวทางที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลจีนที่ขยายเวลาออกไปหลังการระบาดของโควิด-19

 

          ส่วนในยุโรป ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปี 2564 เป็น 2.3 ล้านคัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปในปีที่แล้วได้รับแรงหนุนบางส่วนจากมาตรฐานการปล่อย CO2 ใหม่ เงินอุดหนุนการซื้อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นและขยายตัวในตลาดยุโรปหลักๆ ส่วนใหญ่เช่นกัน ยอดขายรายเดือนในปี 2564 สูงที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยสูงสุดในเดือนธันวาคมเมื่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปแซงหน้ารถยนต์ดีเซลเป็นครั้งแรกด้วยส่วนแบ่งตลาด 21%

 

          ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในปี 2564 คือเยอรมนี โดยที่รถยนต์ใหม่มากกว่าหนึ่งในสามที่จำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยรวมแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 17% ของยอดขายในยุโรปทั้งหมดในปี 2564 แต่มีความแตกต่างที่สำคัญในตลาดอื่นๆ เช่นที่นอร์เวย์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนอยู่ที่ 72%  ส่วนสวีเดนและเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ 45% และ 30% ตามลำดับ 

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร?           นโยบายของรัฐบาลยังคงเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก แต่พลวัตของตลาดเองในปี 2564 ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า เป็นปีที่คึกคักมากของอุตสาหกรรมยานยนต์ การประกาศ เป้าหมาย และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ได้ช่วยเสริมมุมมองที่ว่าอนาคตของรถยนต์คือพลังงานไฟฟ้า ในเวลาเดียวกัน ความสำเร็จครั้งใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าก็ถูกท้าทายด้วยการซัพพลายส่วนประกอบจำนวนมากและราคาวัสดุมากมายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความกังวลด้านอุปทานกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

 

          ในช่วงปี 2563 และ 2564 รัฐบาลหลายแห่งตั้งเป้าหมายที่จะยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้ได้ภายในภายในสองทศวรรษข้างหน้า เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย รถยนต์ไฟฟ้าได้กลายเป็นเทคโนโลยีการขนส่งทางถนนที่หลายรัฐบาลและอุตสาหกรรมยานยนต์เลือกใช้ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่ามีเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 ปริมาณรถยนต์ใหม่ที่ผลิตออกมาสู่ตลาด 50%จะใช้พลังไฟฟ้าเป็นหลัก โดยได้รับการสนับสนุนจากการประกาศติดตั้งจุดชาร์จ 500,000 จุด เพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

 

          ในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้นำมาตรฐานการปล่อย CO2 สำหรับรถยนต์ใหม่เป็นศูนย์ภายในปี 2578  ส่วนผู้ผลิตรถยนต์หลายรายก็ประกาศเป้าหมายการใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น โฟล์คสวาเกนกล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดจะเป็นยานยนต์พลังไฟฟ้าภายในปี 2573 ส่วนฟอร์ดบอกว่า คาดว่ายอดขาย 40%-50% จะเป็นพลังงานไฟฟ้าภายในสิ้นทศวรรษนี้ อีกก้าวที่สำคัญในปี 2564 คือคำกล่าวของโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศการลงทุนครั้งใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี 2573!

 

          การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยผู้ผลิตรถยนต์รายดั้งเดิมในตลาด มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อตลาด ในขณะที่ผู้ผลิตปรับกลยุทธ์การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เราจะเห็นทรัพยากรที่ทุ่มเทให้กับการโฆษณามากขึ้น มีการกำหนดราคาที่ก้าวร้าวมากขึ้น และการพัฒนาโมเดลไฟฟ้าที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้น

 

          ในยุโรป Volkswagen ได้เปิดตัวซีรีส์ ID ในขณะที่ Stellantis นำเสนอรถยนต์ EV รุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม ในสหรัฐอเมริกา ฟอร์ดเปิดตัว MachE ใหม่ ส่วน Stellantis และ Toyota ต่างก็เปิดตัวปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้น รถยนต์รุ่นใหม่จำนวนมากที่มีส่วนทำให้ยอดขาย EV สูงขึ้นนั้นเป็นรถยนต์ระดับพรีเมียม ในประเทศจีน รถยนต์ EV-only ระดับพรีเมียมที่ผลิตโดยบริษัทสตาร์ทอัพของจีนมียอดขายถึง 300,000 คัน แต่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในจีนคือ Wuling Hongguang Mini EV ซึ่งมียอดขายไม่ถึง 400,000 คันในปี 2564 โดยรวมแล้ว การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในกลุ่มต่างๆ ของตลาดรถยนต์มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นความต้องการอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของ Ford F150 Lighting เป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยยอดสั่งซื้อมากกว่า 200,000 คันและทำให้บริษัทเพิ่มเป้าหมายการผลิต

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร? คำถามสำคัญ!
          การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะทำให้โครงข่ายไฟฟ้าพังหรือไม่? บางคนโต้แย้งว่า EVs จะทำให้กริดไม่เสถียร ซึ่งอาจหมายถึงการลงทุนอย่างหนักเพื่ออัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อให้ทนต่อการใช้ไฟฟ้า

 

อนาคตอันใกล้ของ EV ในยุโรป
          เนื่องจากสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะห้ามการขายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ผู้ซื้อรถยนต์รายใหม่จะมีทางเลือกสามทาง ได้แก่ รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ปัจจุบันมีการขาย PHEV และ BEV ไปแล้วกว่า 4 ล้านคันทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 125 ล้านคันภายในปี 2030

EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร? คำถามก็คือ การใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อโครงข่ายไฟฟ้าหรือไม่ อย่างไร / ELECTRIC VEHICLE GRID IMPACT
          ข้อเท็จจริง: หาก 80% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดใช้ไฟฟ้า จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้น 10-15%

 

          จนถึงตอนนี้ การเข้าสู่ตลาดของ EV สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น และกริดไฟฟ้าก็ได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มตลาด EV ปัจจุบันแสดงอัตราการรับพลังงานต่ำถึงปานกลาง

 

          จากผลการศึกษาของ McKinsey & Company ระบุว่าการเติบโตของ e-mobility หรือ การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ที่คาดการณ์ไว้ จะไม่ส่งผลให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทันทีหรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า EV ไม่น่าจะส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักในแหล่งจ่ายไฟของเรา และไม่มีความจำเป็นสำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

 

          ตัวอย่างในเยอรมนี การเติบโตของ EV จะไม่ทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในปี 2030 เพราะ EV จะเพิ่มสัดสัดเพียงแค่ 1% ในยอดรวมและต้องการกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW) ปริมาณดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4% ภายในปี 2593 ซึ่งจะต้องใช้กำลังการผลิตเพิ่มเติมประมาณ 20 GW เท่านั้น นอกจากนี้ กำลังการผลิตที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ซึ่งรวมถึงพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการผลิตพลังงานจากก๊าซบางส่วน

 

          ในขณะเดียวกัน รถยนต์ไฟฟ้ายังประหยัดพลังงานมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE - Internal Combustion Engine) ที่ดีที่สุดถึง 5 ถึง 6 เท่า ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล EVs ใช้พลังงาน 25% เมื่อเทียบกับรถยนต์ ICE ส่วน E-trucks ใช้พลังงานประมาณ 50% ของพลังงานเทียบเท่าดีเซล

 

          ซึ่งหมายความว่า เมื่อยานพาหนะส่วนใหญ่บนถนนของเราเป็นไฟฟ้า ปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในการขนส่งจะน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก และยานพาหนะไฟฟ้ายังคงมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

EV ในประเทศไทย
          สำหรับในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้วางเป้าว่าภายในปี 2573 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และปี 2583 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์แบบเดิม เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมันจะหันไปสู่ธุรกิจให้บริการแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแทน ขณะที่ค่ายรถยนต์ทุกแห่งต่างหันเข้าสู่สนามการผลิตใหม่กันถ้วนหน้า เห็นได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) โดยค่ายรถยนต์ทั้ง นิสสัน โตโยต้า มาสด้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ออดี้ เอ็มจี เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู ที่เห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ชนิดนี้

 

          ขณะที่คณะกรรมการ นโยบายยานยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) มีนโยบายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 100 ในปี 2578 จำนวนรวม 18.41 ล้านคัน 

 

          แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเช่นกัน หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนแนวโน้มการบริโภคที่ยั่งยืน คือ ความต้องการลดการปล่อยมลพิษด้วยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) มีข้อมูลทางสถิติจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ ระบุว่า ในปี 2563 มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 36,750 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13% 
EV: อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะครองถนนทั่วโลก ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและชีวิตเราอย่างไร? โครงสร้างสำหรับการขับขี่และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ไทยมีอะไรบ้าง?  
 

1. ค่ายรถยนต์ อาทิ
          - MG, Volvo, Nissan, Honda, Toyota, Great Wall Motor และ BMW 

2. แพลตฟอร์มการชาร์จไฟฟ้า (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน ปี 2564)
          - สถานีชาร์จไฟฟ้า 693 แห่งทั่วประเทศ 
                    * แบบชาร์จธรรมดา 1,511 หัวจ่าย 
                    * แบบชาร์จเร็ว 774 หัวจ่าย  
                    * การติดตั้งที่ชาร์จด้วยบริษัท Delta
          - การชาร์จด้วยไฟฟ้าตามบ้านเรือน
                    * มิเตอร์ 200 เฟส 3 
                    * มิเตอร์ 400 เฟส 3 

3. นโยบายการค้า (อัตราภาษีนำเข้าปกติ 80% จากราคาประเมิน) 
          - เขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน : ภาษีนำเข้า 0%
          - ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น : ภาษีนำเข้า 20%

4. นโยบายส่งเสริมการลงทุน 
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 
          - กิจการผลิตรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรีเป็นหลัก (Battery Electric Vehicle: BEV) ได้รับสิทธิละเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม 
          - หากลงทุนต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ได้สิทธิละเว้นเพียง 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น 
                    * เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565
                    * มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน
                    * มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี
                    * มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 
          - ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น 
          - การให้สิทธิประโยชน์สำหรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิต 
          - ลดภาษีอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่มีการผลิตในไทย 90% เป็นเวลา 2 ปี 
            ฯลฯ

 

อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าคือแหล่งพลังงาน?
          ปัจจุบันระบบไฟฟ้าของเรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้ากำลังเป็นไปในแบบคาร์บอนเป็นกลาง (ตามกฎหมาย)  หรือ carbon-neutral อย่างรวดเร็วและแปรผันมากขึ้นพร้อมๆ กันตามสภาพอากาศ

 

          ในสหภาพยุโรป 58% ของการผลิตไฟฟ้ามีคาร์บอนเป็นกลางอยู่แล้ว และสถานการณ์ยังคงดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบทวีคูณ ภายในปี 2030 EVs ควรลดการปล่อย CO2 สี่เท่าอันเป็นผลมาจากกำหนดการของสหภาพยุโรปที่มุ่งพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

 

          ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดความผันผวนของระบบและต้องการความยืดหยุ่น ตลอดจนองค์ประกอบในการตอบสนองความต้องการเพื่อให้ระบบมีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ และมีราคาสมเหตุสมผล

 

          เพื่อต่อสู้กับความไม่มั่นคงนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน แทนที่จะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพหรือความจุของโครงข่ายไฟฟ้า เพราะ EV สามารถเชื่อมต่อการขนส่งและพลังงานที่ยั่งยืนเข้ากับระบบนิเวศแบบฝังตัว

 

          พูดง่ายๆ ก็คือ EVs ทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่บนล้อ ทำให้สามารถเก็บพลังงานและนำไปใช้ในภายหลังได้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะมีที่ชาร์จ EV จำนวนมากซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานสำรองแบบรวมศูนย์ซึ่งมีกำลังสูงสุดเท่ากับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ภายในปี 2040 รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มความจุในการจัดเก็บแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไว้ได้ถึง 30 TWh!
--------------------
อ้างอิง: