posttoday

Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ใช้ในไทยไม่ได้

26 เมษายน 2565

เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดเมา หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อหรือรู้จัก กับพืชที่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดและผิดกฎหมาย แต่ในปัจจุบันทุกอยางอาจกำลังเปลี่ยนไป เมื่อผลการวิจัยใหม่ระบุว่า เห็ดขี้ควายอาจเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับยารักษาโรคซึมเศร้าในอนาคต

 

          ซึมเศร้า หนึ่งในอาการทางจิตเวชที่ได้รับการพูดถึง ภายหลังสังคมเริ่มทำความรู้จักโรคนี้มากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทำความเข้าใจผู้ป่วยว่าสิ่งที่เกิดไม่ใช่ปัญหาด้านกำลังใจ แต่เป็นความผิดปกติทางร่างกายจนส่งผลกระทบต่อจิตใจในที่สุด

 

          แน่นอนว่าเมื่อนี่เป็นอาการเจ็บป่วยคนเราจึงพยายามหาทางป้องกัน แต่ด้วยนี่เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับจิตใจและสมองจึงยากจะป้องกัน ขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการหาทางรักษาหรือทุเลาอาการเมื่อเกิดโรค เป็นเหตุให้มียาหลายรูปแบบถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรับมืออาการซึมเศร้าในปัจจุบัน ในจำนวนนี้หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้าคือ เห็ดขี้ควาย ที่พบได้ทั่วไปในไทย

Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ใช้ในไทยไม่ได้

 

เห็ดขี้ควาย พืชพื้นบ้านแต่โบราณในประเทศไทย

 

         เห็ดขี้ควาย เป็นชื่อพื้นบ้าน ชื่อทางการของพืชชนิดนี้คือ เห็ดเมา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Psilocybe Cubensis (Earle) Singer ถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตตระกูลเห็ด ถือเป็นพืชที่พบได้และใช้กันทั่วไปในประเทศไทย อีกทั้งเคยถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต

 

          ลักษณะพื้นฐานของเห็ดชนิดนี้คือ หมวกดอกมีสีเหลืองอมน้ำตาล ตัวดอกมีสีอ่อน แต่ตรงกลางจะสีเข้มกว่าส่วนอื่น ใต้หมวกดอกเป็นครีบสีน้ำตาลดำ บริเวณก้านมีวงแหวน จัดว่าเป็นเห็ดที่กินได้ ในอดีตก็มีการนำเห็ดชนิดนี้มาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเพิ่มรสชาติ อีกทั้งมีการทำมาย่างแล้วทาเกลือกินเช่นกัน

 

ส่วนที่มาของชื่อเห็ดขี้ควาย มาจากการที่เห็นชนิดนี้มักหาพบได้ง่ายตามกองขี้ควายแห้งเป็นหลัก

 

          การใช้งานเห็ดขี้ควายแพร่หลายจนได้รับการบันทึกไว้ใน ตำราศุขไสยาสน์ ตำรายาพื้นบ้านสมัยโบราณ ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์(ฉบับใบลาน) เป็นหนึ่งในสูตรยาสมุนไพรพื้นบ้านเก่าแก่ของไทย ในบันทึกระบุว่ามีคุณสมบัติช่วยให้เลือดลมไหลเวียน แก้อาการพิษไข้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย แต่ถ้าใช้มากเกินจะเกิดอาการหลอนประสาทได้

 

          ด้วยสรรพคุณหลากหลายไม่แปลกเลยที่สมุนไพรชนิดนี้จะได้รับความสนใจจากต่างชาติ จนเริ่มมีการนำเห็ดขี้ควายไปทำการวิจัยในสหรัฐฯ นำไปสู่การผลิตเป็นตัวยาชนิดใหม่ไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในที่สุด

Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ใช้ในไทยไม่ได้

 

การรักษาโรคซึมเศร้าเหตุใดจึงสำคัญ?

          ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ทั้งจากปัจจัยภายในร่างกายจนถึงปัจจัยภายนอกอย่างมรสุมชีวิตหรือแม้แต่ข่าวที่นำเสนอ หลายครั้งอาการซึมเศร้าลุกลามร้ายแรงนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ยืนยันได้จากจำนวนคนฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 

          ปี 2021 ประชากรโลกมีอยู่ราว 7.6 ล้านคน มีผู้ป่วยซึมเศร้ามากถึง 300 ล้านคน คิดเป็นตัวเลขกว่า 4% จากประชากรทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ราว 1.5 ล้านคน จาก 69.9 ล้านคน คิดเป็นกว่า 2% จากประชากรทั้งประเทศ ในปีที่ผ่านมายังมีอัตราการฆ่าตัวตายกว่า 4,000 คนต่อปี ถือเป็นจำนวนที่น่าตกใจเลยทีเดียว

 

          จากการประเมินตัวเลขทางสาธารณสุขพบว่า เมื่อถึงปี 2030 ทั่วโลกจะต้องเผชิญ วิกฤติโรคซึมเศร้า จากจำนวนผู้ป่วยทวีจำนวนจนอาจต้องใช้งบประมาณในการรักษาถึง 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายงานจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ไทยอาจมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจิตเวชมากถึง 2.7 ล้านคน ยังไม่รวมจำนวนคนฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงชนิดก้าวกระโดด

 

          ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดนี่จึงเป็นวาระสำคัญทั้งในวงการแพทย์และเภสัชกรรมเพื่อหาทางรับมือในอนาคต

 

Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ใช้ในไทยไม่ได้

 

คุณสมบัติที่ทำให้ยาที่ผลิตจากเห็ดขี้ควายพิเศษ

          ประเด็นสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้าคือ เมื่อเข้ารับการรักษาคนไข้จะไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ทันทีแม้ได้รับยา จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการบำบัดยาวนาน ต้องเข้ารับการรักษาสม่ำเสมอซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เกิดผลข้างเคียงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในบางครั้ง ที่สำคัญคือไม่สามารถยืนยันผลการรักษาได้เสมอไป

 

          ทั้งหมดนี้กลับเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำสารสกัดจากเห็ดขี้ควายมาใช้ประกอบ ในขั้นตอนการทดสอบมีการใช้สารสกัดชนิดนี้ราว 1 – 2 ครั้ง เว้นห่างกันหลายสัปดาห์ พบว่าอาการของคนไข้เป็นที่น่าพอใจ มีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาอาการซึมเศร้าตามท้องตลาดทั่วไปถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

 

          สารสกัดสำคัญที่ทำให้ต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตรคือ วิธีการสกัดสาร Psilocybin และ Psilocine โดยเริ่มมีการใช้สารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับการรักษาอาการทางจิตแก่ผู้ป่วยซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี 2016 ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจเมื่อสารสกัดจากเห็ดขี้ควาย ช่วยทุเลาอาการปรับสมดุลให้การทำงานของสมองกลับมาเป็นปกติได้แม้สร่างจากฤทธิ์ยาแล้ว

 

          ผลการทดสอบจากผู้ป่วยซึมเศร้า 27 คนที่มีอาการซึมเศร้าเรื้อรังนานกว่า 2 ปี ถือเป็นผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก หลังผ่านการรักษาเป็นเวลา 12 เดือนโดยใช้สารสกัดจากเห็ดขี้ควายประกอบพบว่า โรคซึมเศร้าทุเลาลงจนอยู่ในระดับที่แทบไม่เหลืออาการหดหู่ อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นนัยยะสำคัญจากสาร Psilocybin อีกด้วย

 

          ถือเป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญที่ช่วยเปิดแนวทางใหม่ในการรักษาโรคซึมเศร้า นอกจากนี้จากการทดลองในห้องวิจัยพบว่า สารสกัดจากเห็ดขี้ควายมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูเซลล์ประสาทภายในสมองของหนูทดลอง นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สารสกัดชนิดนี้ใช้รักษาอาการซึมเศร้าเห็นผล อีกทั้งยังอาจนำไปต่อยอดในการรักษาโรคจิตเวชชนิดอื่นได้ด้วย

 

          อย่างไรก็ตามขั้นตอนการรักษาดังกล่าวจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรนำไปทดลองด้วยตัวเอง

 

Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ใช้ในไทยไม่ได้

 

แล้วประเทศไทยจะมีโอกาสได้ใช้ยาชนิดนี้ไหม?

          เป็นที่น่าเสียดายเห็ดขี้ควายในประเทศไทยถูกจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท ส่วนผู้เสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          นั่นทำให้การใช้งานเห็ดขี้ควายในการรักษาอาการทางจิตเวชจึงยังไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่ามันยังถูกจัดเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย เพราะสารสกัดในเห็ดขี้ควายมีคุณสมบัติในการหลอนประสาท เมื่อเสพเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เห็นภาพหลอน หูแว่ว ควบคุมสติไม่อยู่ อาเจียน หายใจติดขัด จนอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

          แต่ในทางกลับกันยาหลายชนิดในปัจจุบันเมื่อใช้ผิดประเภทหรือมากเกินล้วนเป็นอันตราย ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเห็ดขี้ควายจึงมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อถูกนำไปใช้ในการรักษา โดยเฉพาะเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดผิดกฎหมายให้โทษประเภท 5 เว้นแต่สารสกัดที่มีอสาร THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่เป็นยาเสพติด

 

          ในส่วนของกัญชาล่าสุดมีการยื่นร่างพรบ. กัญชา กัญชง ต่อสภา เหลือเพียงการประมวลผลให้ผ่านรัฐสภาแล้วออกประกาศราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน นับว่าอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายรอแค่การผ่านร่างเมื่ออนุมัติก็เสร็จสิ้น กัญชงและกัญชาจะสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรค รวมถึงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

 

          ดังนั้นการนำเห็ดขี้ควายมาใช้ไม่ถึงขั้นหมดหวังเสียทีเดียว แต่อาจต้องรอคนมองเห็นคุณค่าในการเปลี่ยนมันเป็นยารักษาแบบเดียวกับกัญชา แม้อาจต้องใช้เวลาไปบ้างแต่เชื่อว่า เมื่อสารสกัดจากเห็ดขี้ควายถูกใช้งานแพร่หลาย ได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับการรักษาในหลายประเทศ เห็ดขี้ควายคงพ้นจากการเป็นยาเสพติดออกมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคต