ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ รกน. ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช และคณะทำงาน นิเทศติดตามการดำเนินงานตามนโยบายบูรณาการด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ รกน. ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช และคณะทำงาน นิเทศติดตามการดำเนินงานตามนโยบายบูรณาการด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ “โรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนา พรรณวดี” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3
เมื่อไม่นานมานี้ นายเผด็จศึก โชติกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 มอบหมายให้ นางดวงใจ ชัยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 และคณะ ร่วมต้อนรับผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ รกน. ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี,รอง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 และคณะทำงาน ในโอกาสลงพื้นที่นิเทศติดตามการดำเนินงานตามนโยบายบูรณาการด้านการศึกษา ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โรงเรียน Stand Alone นำร่องของ สพป. กาญจนบุรี เขต 3 ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่กลางหุบเขาติดแนวเขตชายแดนประเทศเมียนมาร์ การเดินทางโดยรถยนต์ มีเส้นทางขึ้นเขาตลอดระยะทาง มีโค้งรวมแล้วถึง 399 โค้ง จึงใช้เวลาในการเดินทางจากตัวอำเภอเมืองกาญจนบุรี ถึง 4 ชม. ด้วยระยะทาง 220 กม. ซึ่งมีห้องเรียนสาขาอีก 2 แห่ง ได้แก่ ห้องเรียนสาขาพระธาตุโบอ่อง และห้องเรียนสาขาบ้านใหม่ไร่ป้า ที่ต้องเดินทางเข้าสู่ห้องเรียนสาขาด้วยเรือเท่านั้น เพราะห้องเรียนสาขาอยู่บนเกาะในเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
นางสาวสราพร เจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง)ฯ กล่าวว่าโรงเรียนมีสภาพปัญหาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ในส่วนของกระแสไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ ปตท.ร่วมกับหมู่บ้าน มีการติดตั้งเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าใช้งานเองในกรณีไฟฟ้าไม่เพียงพอแต่ยังประสบปัญหาในส่วนของงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อยากได้รับการช่วยเหลือในส่วนของระบบกระแสไฟฟ้าเร่งด่วนที่สุด เพื่อให้การจัดการเรียนรู้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เรียน
ด้าน ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่าเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ดิฉันพบว่าโรงเรียนมีการบูรณาการ แนวทางในการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมเสริมอื่นๆของโรงเรียน โดยการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนตามความถนัดและสนใจ ในด้านการฝึกทักษะอาชีพ รวมทั้งเปิด school stay ให้นักท่องเที่ยวพัก ฝึกให้นักเรียนทำเบเกอรี่ (เค้กส้ม) นอกจากนี้ได้เปิดร้านกาแฟสด นักเรียนเป็นบาริสต้า ชงเครื่องดื่มต่างๆ ขายให้กับนักท่องเที่ยวในชุมชน ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน มีเปิดบาร์เบอร์ นักเรียนเป็นคนตัดผม โดยได้รับความร่วมมือจากจิตอาสา เจ้าของร้านตัดผมจากตัวเมืองกาญจนบุรีมาสอนให้นักเรียน นอกจากนี้ ยังมีการนวดแผนไทย โดยได้มีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลทองผาภูมิมาเป็นวิทยากรให้ และดิฉันขอชื่นชม ครูเก่ง ขยันและวางระบบการทำงานเป็นทีมของนักเรียนได้เป็นอย่างดี โรงเรียนฝึกให้นักเรียนมีทักษะด้านอาชีพ และนักเรียนมีรายได้เสริมของตนเอง นอกจากนี้ ยังแบ่งกลุ่มของนักเรียน ที่ดำเนินการต่างๆ เช่น School Stay,ร้านตัดผม,นวดแผนไทย โรงเรียนจะแบ่งรายได้ให้นักเรียน 50% ร้านกาแฟ,เบเกอรี่, น้ำพริก, ขนมไทย, การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เช่น กล้วยฉาบ มันฉาบ เผือกฉาบ โรงเรียนจะแบ่งรายได้ให้นักเรียน 40% จากยอดขายที่ขายได้จากนักท่องเที่ยวและชุมชน ขอชื่นชม การทำงานเป็นทีมของนักเรียนทั้งโรงเรียนโดยมีพี่ ป.6 เป็นพี่ใหญ่และขอกำลังเสริมจากน้องๆ ผ่านวิทยุสื่อสารในโรงเรียน ซึ่งดำเนินการอย่างคล่องแคล่ว โดยมี ดร.ธวัชชัย อาจมาก เป็นครูประจำชั้น