CIRCO Hub Thailand ชวน Rethink Together ผนึกกำลังภาคธุรกิจ ภาครัฐ เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
(21 มกราคม 2565) โครงการ CIRCO Hub Thailand โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) จัดอบรมสัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-Creating Circular Economy with Circular Design” สัมมนาข้ามเส้นทางธุรกิจ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงานและแถลงภาพวิสัยทัศน์ Circular Economy ประเทศไทยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ในประเทศไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในส่วนของภาครัฐ รัฐบาลได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง และมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะด้านนโยบายแต่มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย ประกอบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมามีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในภาคีทำงานร่วมกับนานาชาติ และเราได้ประกาศเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ ผ่านกลไกหลายอย่างรวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ภาครัฐเองก็พยายามที่จะปรับปรุงรูปแบบการทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในลักษณะ Close Loop เชื่อมต่อให้ทุกภาคส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
“Circular Design หรือการออกแบบหมุนเวียนก็เป็นส่วนสำคัญ เป็นกระบวนการที่เข้ามาสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน ในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะมีหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) เข้ามา หรือทำให้วัสดุเหลือใช้เข้าสู่วงจรการผลิตได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำให้เกิดมาตรการจูงใจสนับสนุนให้เกิดตลาดสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย ในส่วนของ สอวช. ก็ได้ทำ Policy Forum ร่วมกับเครือข่าย Thai-SCP ที่ท้ายที่สุดจะได้ข้อมูลต่าง ๆ มาทำเป็นสมุดปกขาว CE Innovation Ecosystem 2030 เพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมการทำงานในด้านนี้ที่จะมีระบบเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวว่าการจัดอบรมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน ที่ สอวช. ผลักดันร่วมกับ GCNT มี CIRCO Hub Thailand เป็นกึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยสถานประกอบการภาคเอกชนในไทย ให้สามารถมีแนวทางและมีกระบวนการในการออกแบบหมุนเวียนสำหรับธุรกิจของตนเอง ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาถึงครึ่งทางแล้ว และมีภาคเอกชนหลายบริษัทที่เคยเข้าร่วมโครงการได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจซึ่งกันและกันในครั้งนี้ด้วย โดยหวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอีกครั้ง และทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจต่อไป
นางสาวธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังดำเนินเข้าสู่วิถีใหม่ เส้นทางของเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในวันนี้ ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจ อยู่รอด เติบโต ท่ามกลางความผันผวนเปลี่นแปลง และทำให้ธุรกิจยังตอบโจทย์ผู้คนในสังคมได้ CIRCO Hub Thailand อยากเห็นธุรกิจไทย 'ก้าวนำความเปลี่ยนแปลง' ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ เราจึงมุ่งมั่นส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยด้วยนวัตกรรมทางความคิดแบบ Circular Design ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีสายตาแบบนวัตกร มองเห็นโอกาสในสิ่งธรรมดา สามารถเปลี่ยนตัวเงินและทรัพยากรที่เคยสูญเสียไป ให้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยใช้องค์ความรู้ของหลักสูตร CIRCO จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในประเทศเนเธอร์แลนด์ และในอีก 11 ประเทศทั่วโลกสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลเป็น Circular Business ได้จริง
ด้าน ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการออกแบบนโยบายของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วย Key Projects/Focus Sectors และนำแบบอย่างความสำเร็จไปขยายผลในกลุ่มอื่น ๆ, ต้องมีการพัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย, มีการปรับแก้กฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรค, สร้างบุคลากร และสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต ด้วยประบวนการสร้างความรู้และความเข้าใจ, สร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสม มีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคลทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
ในส่วนของภาคเอกชน ได้มีเวทีเปิดมุมมอง สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย Circular Design เป็นการแลกเปลี่ยนและรับฟังประสบการณ์การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการและนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการ CIRCO ในรุ่นที่ 1-4 โดยภาคธุรกิจได้แบ่งปันการนำแนวทางไปใช้ทั้งการ Rethink, Reuse, Reduce, Renew และ Recycle ในภาพรวมมองว่าการเข้าร่วมโครงการทำให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ที่นอกจากจะตอบโจทย์แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยดึงดูดผู้บริโภคและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจด้วย สิ่งสำคัญคือการเข้าร่วมโครงการทำให้ภาคธุรกิจมีเครือข่ายบริษัทที่สามารถทำงานร่วมกันต่อได้ ทำให้เห็นภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ฝั่งของภาครัฐมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมพูดคุยถึงประเด็นการออกแบบและกำหนดมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในส่วนของ สอวช. นอกจากกลไกมาตรการในการสนับสนุนให้เกิดโครงการ CIRCO แล้ว จากภารกิจของหน่วยงานที่ทำเรื่องนโยบาย จึงต้องมีการศึกษาเชิงระบบ โดยเฉพาะแนวทางการสร้างระบบนิเวศในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการศึกษาดูภาพรวมการสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และยังมองไปถึงกลไกการสนับสนุนการลงทุน สนับสนุนผู้ประกอบการ ผลักดันให้มีการให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเห็นแนวทางเดินต่อในการประกอบธุรกิจ อีกส่วนที่ต้องการขับเคลื่อนคือการทำ Circular Economy Hub เพื่อเป็นหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ที่จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา คอยให้บริการ ช่วยผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็น Business Development Service ไปในตัวด้วย
ในส่วนของมาตรการส่งเสริมของภาครัฐจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการดึงดูดความสนใจเพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศไทยได้ ด้านสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายสำคัญคือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในโครงการ Packback รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR ในประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีกลไกที่สำคัญคือการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วออกไปใช้ประโยชน์ได้ ในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุน ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี และธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ ยังสามารถขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย
การร่วมเสวนา “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” และแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้ นับเป็นกุญแจสู่ทรัพยากรทางความรู้และโอกาสสำหรับทุกภาคส่วนในการเริ่มต้นทำความเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ ร่วมรับฟังเสียงที่หลากหลาย จากตัวแทนธุรกิจ ทั้งเล็กและใหญ่ ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ตรง จากการเรียนรู้และเริ่มต้นลงมือทำ ซึ่งจะเป็นทั้ง แรงบันดาลใจและกรณีศึกษาที่จะช่วย ผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้ที่สนใจ สื่อมวลชน และตัวแทนจากภาคธุรกิจอื่นๆ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิม ไปสู่ธุรกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการ ระหว่างองค์กรให้เกิดความร่วมมือ และ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy ที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย