ทส. ผนึกกำลังเครือข่ายภาคประชาชน “หยุดทำลายโลกใบนี้ ก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 65 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชน “หยุดทำลายโลกใบนี้ ก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน” เพื่อผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยจัดการประชุมแบบ Hybrid Meeting โดยจัด On site ณ ห้อง EVERGREEN โรงแรม เอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี และจัด Online ผ่านทาง Facebook กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแอพพลิเคชั่นซูม (Zoom Cloud Meeting) เพื่อระดมข้อเสนอจากเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเพื่อให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการปรับตัวและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อปี 2562 มีโอกาสรับฟังข้อเสนอจากองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเอกชน เครือข่ายอาสาสมัครต่างๆ จากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผลักดันให้เกิดกลไกการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรม โดยตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน ในปี 2565 ทส. มีความมุ่งมั่นให้ “เป็นปีแห่งการปรับตัวและฟื้นฟู” หรือ Adaptation and Rehabilitation Year “Adapt & Rehab Year” โดยปรับตัว (Adaptation) ภายใต้นโยบาย “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” ปรับตัว ภายใต้วิถีใหม่ยุค New Normal ใน 5 มิติ คือ (1) บุคลากรปรับตัว สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดกับประชาชน (2) ปรับสมรรถนะ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (3) ปรับการจัดการทำงานรูปแบบใหม่ รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน (4) ปรับการสื่อสาร/สร้างความเข้าใจ (5) ปรับให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสานสัมพันธ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟู เพื่อการมุ่งเป้าหมายไปข้างหน้า ไร้ขีดจำกัด และไม่มีที่สิ้นสุด โดยเดินหน้า 2 เป้าหมายหลัก คือ 1. การสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน สังคมมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดตั้งป่าชุมชน การสร้างความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และการจัดทำแผนการจัดการสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อปท. 2. การมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาระบบ Digital Platform เพื่อส่งต่อถึงคนในรุ่นอนาคตและเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนให้กับชุมชน เป็นต้น
ในปี 2565 นี้ ทส. ยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างเหนียวแน่นในการ “หยุดทำลายโลกใบนี้ เพื่อก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน” โดยให้ความสำคัญกับประเด็นหลักๆ อาทิเช่น 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนและบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากมาตรการการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 2. การแก้ไขปัญหาชุมชน ตามแนวทางคนอยู่ร่วมกับป่า 3. การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และการมีส่วนร่วมของชุมชน อปท. ในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคเหนือ 4. การแก้ไขปัญหาขยะทะเล ภัยสิ่งแวดล้อม แผนลดขยะพลาสติกและ 5. การแก้ไขปัญหาขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรม การลักลอบทิ้งน้ำเสียอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก รวมถึงการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ไปประมวลเพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อไป รมว. ทส. กล่าวทิ้งท้าย
นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ (3 มี.ค. 65) เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยวานนี้ (2 มี.ค. 65) เป็นการนำเสนอบทเรียน ประเด็นปัญหาที่ผ่านการประมวลจากเวทีย่อยในทุกภูมิภาค นำมาแลกเปลี่ยนเพื่อหาข้อสรุปและพัฒนาเป็นแนวทางการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการหนุนเสริมการทำงานร่วมกันในทิศทางที่เหมาะสมเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและลดความขัดแย้งในสังคม
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมจัดในรูปแบบ Hybrid Meeting มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน ทั้งในรูปแบบของ On site และ Online โดยถ่ายทอดสดผ่าน Facebook กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเสนอข้อคิดเห็นผ่านแอพพลิเคชั่นซูม (Zoom Cloud Meeting) จากสมาชิกสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า สมัชชาองค์กรเอกชนฯ เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายภาคประชาชน ถือเป็นความพยายามที่ทำให้เกิดพลังในการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคีเครือข่าย ซึ่งการพบกันในวันนี้ ถือเป็นวาระสำคัญที่จะต้องหารือร่วมกันใน 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรก คือ การประมวลสถานการณ์เพื่อการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาข้อเสนอภาคประชาชน ส่วนเรื่องที่ 2 คือการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัชชาฯ ชุดที่ 8 ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการเชื่อมประสานและสนับสนุนการทำงานของสมาชิกสมัชชาฯ ที่ปัจจุบันมี 190 องค์กร ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีองค์กรเอกชนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสมัชชาฯ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพราะโจทย์ในการทำงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ถูกขยายและพัฒนาประเด็นออกไปมากมาย ในการจัดประชุมสมัชชาฯ ครั้งนี้ มีประเด็นขับเคลื่อน การทำงานร่วมกัน คือ “หยุดทำลายโลกใบนี้ ก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน” เพื่อให้เราทุกคนได้ตระหนักและหยุดทำลายโลกของเรา ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายและต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกคนในสังคมและโลกใบนี้