กรมที่ดิน ยุค 4.0 รังวัดที่ดินด้วยดาวเทียม
การรังวัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินเพื่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ดูเหมือนจะมีปัญหาไม่น้อย เนื่องจากการรังวัดไม่มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของหลักเขต หรือแนวเขตที่ดินที่ถูกต้อง
ที่ผ่านมา การรังวัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินเพื่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ดูเหมือนจะมีปัญหาไม่น้อย เนื่องจากการรังวัดไม่มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของหลักเขต หรือแนวเขตที่ดินที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบอ้างอิงตำแหน่งของหลักเขต หรือแนวเขตที่ดินที่ถูกต้อง เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและการให้บริการรังวัดที่ดินที่ล่าช้า เนื่องจากต้องทำการระวังชี้แนวเขต ดังนั้น กรมที่ดินในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงได้นำเทคโนโลยีโครงข่ายการรังวัดด้วยระบบดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) มาใช้เป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับระบบ RTK GNSS Network เป็นนวัตกรรมด้านการสํารวจและทําแผนที่ สามารถให้ค่าพิกัดของรูปแปลงที่ดินอย่างแม่นยําในระดับเซนติเมตร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามโครงการยกระดับการรังวัดที่ดินด้วยระบบดาวเทียม พ.ศ. 2560-2571 และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579)
โครงการนี้จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน การจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการพัฒนาประเทศด้วยมาตรฐานการจัดการ การบริการ ระดับสากล ตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน กรมที่ดินที่ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรังวัดและทำแผนที่ ด้วยการหาค่าพิกัดฉากโดยระบบดาวเทียม Global Navigation Satellite System (GNSS) และได้มีการยกระดับมาตรฐานการรังวัดเฉพาะราย ด้วยเทคโนโลยีโครงข่ายการรังวัดด้วยระบบดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ที่มีความละเอียดแม่นยำ ถูกต้องสูง สามารถตอบสนองการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กรมที่ดินได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการจัดทำแผนที่เพื่อรองรับการบริหารจัดการข้อมูลที่ดิน บนแผนที่มาตราส่วน 1:4,000 กิจกรรมยกระดับการรังวัดที่ดินด้วยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่งโดยระบบดาวเทียม ซึ่งกรมที่ดินได้มีการประกาศพื้นที่ยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ขึ้น
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว กรมที่ดินได้รับงบประมาณต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2562 เพื่อติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม อ้างอิงถาวร (CORS) จำนวน 121 สถานี และจัดหาเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจร (Rover) จำนวน 1,100 เครื่อง ในพื้นที่ 77 จังหวัด 459 สาขา
ในส่วนของผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2560 มีการจัดซื้อและติดตั้งสถานบริการ (CORS) จำนวน 91 สถานี สถานีจร (Rover) 340 เครื่อง โดยพื้นที่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 18 จังหวัด 103 สาขา การรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ จะเป็นการรังวัดเฉพาะรายเพื่อให้รูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่ถูกต้อง มีมาตรฐานระดับสากล ประชาชนได้รับบริการด้านการรังวัดที่ดินที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลรูปแปลงที่ดินของรัฐและเอกชน ของทุกหน่วยงานมีความถูกต้องสัมพันธ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวต่อไปว่า โดยในปีงบประมาณ 2560 กรมที่ดินได้มีการประกาศพื้นที่ยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ขึ้นในพื้นที่ 15 จังหวัด ทั่วประเทศ ได้แก่ จ.นครนายก พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี จันทบุรี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค. และจะมีการประกาศพื้นที่ยกระดับการรังวัดฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2562
ทั้งนี้ การยกระดับการรังวัดด้วยระบบดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลรูปแปลงที่ดินของรัฐและเอกชนที่ถูกต้อง ทั้งรูปแปลง เนื้อที่ และค่าพิกัดภูมิศาสตร์ สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับประชาชนจะได้รับประโยชน์ คือ ลดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน เนื่องจากรูปแปลงที่ดิน มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องสูง ลดระยะเวลาการรังวัดที่ดินของประชาชน เนื่องจากคิวรังวัดลดลง ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการรังวัดที่ดิน ลดภาระของเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการเดินทางมาระวังชี้แนวเขต
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิ และประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ก่อให้เกิดการบูรณาการในด้านต่างๆ เช่น การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ การจัดโซนนิ่ง การเกษตรอัจฉริยะ การจราจรอัจฉริยะ และระบบคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวของกรมที่ดิน จะทำให้รูปแปลงที่ดินของประชาชนมีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถตรวจสอบตำแหน่งได้ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินของตนเอง และลดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินได้ รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของรัฐและประชาชนในการรังวัดที่ดินอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การที่กรมที่ดินประกาศยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ให้แล้วเสร็จครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562 ก็เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองและเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิที่ดิน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรังวัด การจัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดิน ตลอดจนลดภาระของประชาชนในการระวังชี้แนวเขตที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นความแตกต่างจากวิธีการรังวัดแบบเดิมๆ
นอกจากนี้ ยังบูรณาการการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ หรือ กภช. ได้กําหนดให้ RTK GNSS Network เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสํารวจและทําแผนที่ที่สามารถเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายไทยแลน 4.0 นั่นเอง