'สามารถ ราชพลสิทธิ์'แนะป้องกัน 'คนตกท่อ' จี้กทม.เร่งสำรวจฝาบ่อทั่วกรุง
'สามารถ ราชพลสิทธิ์' อดีตรองผู้ว่าฯกทม.แนะป้องกัน “คนตกท่อ” กทม.ต้องจริงจัง เร่งสำรวจฝาบ่อพักทั่วกรุง พบจุดชำรุดต้องเร่งซ่อม ฝาบ่อหายต้องรีบปิด เข้มงวดผู้รับเหมาเรื่องความปลอดภัย หากไม่ทำต้องลงโทษอย่างหนัก
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ในฐานะอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ดังนี้
กทม. “เมืองที่คนตกท่อ”
เหตุการณ์คนตกท่อร้อยสายไฟเสียชีวิต สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้กับครอบครัวหนึ่ง และสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนที่ทราบข่าว เพราะคาดไม่ถึงว่า กทม.ใน พ.ศ.นี้จะมีเรื่องราวเช่นนี้อีก !
คนตกท่อในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่เป็นการตกท่อระบายน้ำซึ่งฝาบ่อพักชำรุด ทำให้ “คนตกท่อ” กลายเป็นภัยใกล้ตัวอีกประการหนึ่งในกรุงเทพฯ
ในกรุงเทพฯ มีบ่อพักท่อระบายน้ำจำนวนมาก ทำให้มีฝาบ่อพักมากเช่นเดียวกัน บางฝาเป็นเหล็ก บางฝาเป็นคอนกรีต บางฝาเป็นทั้งเหล็กและคอนกรีต ถ้าทุกฝามีสภาพสมบูรณ์ เหตุการณ์คนตกท่อก็จะไม่เกิดขึ้น
ฝาบ่อพักที่ไม่สมบูรณ์ หรือชำรุด หรือที่ถูกขโมย เป็นเหตุให้ผู้ที่สัญจรบนทางเท้าก้าวพลาดตกลงในท่อ ด้วยเหตุนี้ ถ้าสำนักการระบายน้ำ หรือสำนักงานเขตของ กทม.ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ ตรวจสอบและแก้ไขให้ฝาบ่อพักมีสภาพมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอเหตุการณ์ “คนตกท่อ” ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
คนเดินเท้าคงได้พบเห็นฝาบ่อพักชำรุด ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ก้าวพลาดลงบ่อพักกันบ้าง เหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการตกท่อ โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นพื้นทางเท้าได้ ทำให้ก้าวพลาดลงบ่อพักได้ง่าย
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “คนตกท่อ” อีก สามารถทำได้ดังนี้
(1) เร่งสำรวจฝาบ่อพักทั่วกรุง
(2) หากพบฝาที่ชำรุดจะต้องเร่งซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงโดยเร็ว ก่อนซ่อมแซมให้ติดตั้งป้ายเตือนผู้เดินเท้า พร้อมทั้งกั้นไม่ให้ผู้เดินเท้าเดินผ่าน ทั้งนี้ ควรเร่งซ่อมแซมฝาบ่อพักให้เสร็จก่อนที่ฝนจะมาเยือน เพราะเมื่อถึงหน้าฝนจะมีน้ำท่วมขัง หากมีฝาบ่อพักชำรุด จะทำให้ก้าวพลาดตกบ่อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่
(3) หากพบบ่อพักที่ไม่มีฝา (ซึ่งอาจถูกขโมย) จะต้องเร่งหาฝาใหม่มาปิดโดยเร็ว ก่อนปิดฝาใหม่ให้ติดตั้งป้ายเตือนผู้เดินเท้า พร้อมทั้งกั้นไม่ให้ผู้เดินเท้าเดินผ่าน ที่สำคัญ จะต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้ฝาบ่อพักถูกขโมยอีก
(4) หากมีการก่อสร้างบ่อพักหรือท่อร้อยสายไฟบนทางเท้า เกาะกลางถนน หรือบนผิวจราจร หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเข้มงวดกวดขันผู้รับเหมาให้ปิดบ่ออย่างมั่นคงแข็งแรง มีไฟแสงสว่างเพียงพอ หากผู้รับเหมาไม่ทำ จะต้องลงโทษอย่างหนัก
ในระยะหลัง จะเห็นได้ว่าคนตกท่อใน กทม.ลดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกของ กทม. ที่เปิดช่องทางให้ผู้พบเห็นฝาบ่อพักชำรุดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ หรือเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจเอง เป็นผลให้ กทม.สามารถแก้ไขปัญหาฝาบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่ยังมีคนตกท่ออยู่บ้างมักเกิดในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา
ด้วยเหตุนี้ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเอาจริงเอาจัง เชื่อว่าเหตุการณ์ “คนตกท่อ” จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว กทม.ก็จะไม่ใช่ “เมืองที่คนตกท่อ” อีกต่อไป