posttoday

"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ติดตั้งกล้อง และระบบ AI ใต้ขบวนรถไฟฟ้า คุมความปลอดภัย

18 มิถุนายน 2567

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" BTS ลุยติดตั้งกล้อง และระบบ AI ใต้ขบวนรถไฟฟ้า หวังตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วน พร้อมเพิ่มความถี่ตรวจสอบความปลอดภัยทุก 1 สัปดาห์ ด้าน รฟม. สั่งติดตั้งกล้องทุกขบวนโมโนเรล ครอบคลุมสายสีเหลือง และสายสีชมพู

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ หรือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง พร้อมระบุว่า วันนี้ (17 มิ.ย.67) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองกลับมาเปิดให้บริการเดินรถตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี แก่ประชาชนผู้ใช้บริการแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ต้องปิดซ่อมบำรุงจากเหตุการณ์ชิ้นส่วนตัวยึดรางร่วงหล่นลงบนถนนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 

 

อย่างไรก็ดี จากการร่วมทดสอบเดินรถในวันนี้ พบว่ามีความปลอดภัย ผู้รับสัมปทานได้ปรับปรุง และควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มาตรฐานกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อีกทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบอุปกรณ์รอยต่อ และรางจ่ายไฟที่ติดยึดกับทางวิ่งตามคู่มือซ่อมบำรุงลงจากทุกรอบ 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และในจุดที่เฝ้าระวังพิเศษ จะมีการตรวจสอบทุก 1 สัปดาห์ 

 

\"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง\" ติดตั้งกล้อง และระบบ AI ใต้ขบวนรถไฟฟ้า คุมความปลอดภัย

 

นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานยังดำเนินการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งได้ดำเนินการซ่อมบำรุงตามคู่มือ และแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง

 

"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลสองสายแรกของไทย วันนี้เราไม่ได้มาโทษว่าใครผิด แต่เป็นการร่วมกันปรับปรุงแก้ไขให้ดี ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จึงมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งการติดตั้งกล้องที่ตัวขบวนรถไฟฟ้า และการเข้มงวดตรวจความปลอดภัยให้ถี่ขึ้นในทุก 1 สัปดาห์"