เมื่อหมู่บ้านโอลิมปิกรักษ์โลกแต่ไม่รักนักกีฬา
วันนี้เราจะพาไปดูเทคโนโลยีประหยัดพลังงานของโอลิมปิกปารีส ที่มาพร้อมกับข้อติติงจากฝั่งนักกีฬาว่า เป็นงานที่ไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าแข่งขันเอาเสียเลย
มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตามาพร้อมกับความรักษ์โลก ตั้งเป้าให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นการแข่งขันกีฬาสีเขียว โดยเฉพาะภายในหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งถือเป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่มีการปรับนำเทคโนโลยีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้ในหลายด้าน
วันนี้เราจึงพามารับชมเทคโนโลยีลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในงานแข่งขันกีฬาคราวนี้กัน
- พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานแสงอาทิตย์ จัดเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานหลักที่มีการใช้งานทั่วไป ภายในงานจึงมีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ทั้งบริเวณหลังคาและกันสาด ส่งผลให้พื้นที่ศูนย์กีฬาทางน้ำ หมู่บ้านนักกีฬา หรือแม้แต่ยานพาหนะที่ใช้รับ-ส่งตลอดการแข่งขัน ล้วนใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น
สถาปัตยกรรมก็ได้รับการออกแบบอย่างยั่งยืนใช้ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ สิ่งอำนวยความสะดวกหลายชนิด ทั้งแสงสว่าง ระบบทำความร้อน ไปจนระบบทำน้ำอุ่น ล้วนอาศัยโซล่าเซลล์ร่วมกับการดักจับความร้อนจากแสงอาทิตย์แปลงเป็นพลังงานทั้งสิ้น
- พลังงานความร้อนใต้พิภพ
อีกหนึ่งเทคโนโลยีของโอลิมปิกปารีสในครั้งนี้คือ พลังงานความร้อนใต้พิภพ ภายในอาคารและหมู่บ้านนักกีฬาจะไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ใช้พลังงานสูงและมีส่วนในการสร้างมลภาวะ แต่จะใช้การควบคุมอุณหภูมิผ่านพลังงานความร้อนใต้พิภพแทน
ด้วยฉนวนกันความร้อน ม่านบังแดด รวมกับระบบทำความเย็นจากน้ำ โดยการดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงภายในอาคาร ช่วยให้ที่พักของนักกีฬาเย็นลงอัตโนมัติเฉลี่ยราว 6 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงจากระบบปรับอากาศเดิมได้มากถึง 45%
- พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ
พลังงานส่วนอื่นนอกจากที่กล่าวไปข้างต้น เชื่อมต่อเข้ากับโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในฝรั่งเศส 100% อาศัยโรงไฟฟ้าพลังงานลม 6 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 2 แห่ง จากบริษัทพลังงาน EDF Group ผู้รับหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้าและแก๊สธรรมชาติ
นี่จึงถือเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่สุดเท่าที่เคยมี
ปัญหาในหมู่บ้านโอลิมปิก ธรรมชาติ vs ความสะดวก
อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีพร้อมระบบในการรองรับ แต่ในการใช้งานจริงพลังงานหมุนเวียนกลับมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะกับระบบปรับอากาศจากความร้อนใต้พิภพ ที่ดูจะมีขีดจำกัดในการรับมือกับสภาพอากาศหน้าร้อนของฝรั่งเศส
ปัจจุบันปารีสและมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง โดยอุณหภูมิอาจพุ่งไปถึง 35 องศาเซลเซียส ซึ่งระบบปรับอากาศดังกล่าวไม่สามารถจัดการได้ดีพอ จนอาจเป็นระดับความร้อนรุนแรงที่อาจทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชม หรือแม้แต่นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งได้รับอันตราย
จริงอยู่ทางเจ้าภาพได้มีการปรับตารางเวลาแข่งขันสำหรับกีฬาหลายชนิด เพื่อหลบเลี่ยงคลื่นความร้อนและช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนจัด ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับนักกีฬา ส่วนผู้เข้าชมเองก็มีการจัดตั้งแหล่งน้ำดื่มฟรีมากกว่า 400 จุด และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มร่มเงาในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหา
ด้วยเหตุนี้หลายประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ตัดสินใจติดตั้งเครื่องปรับอากาศเอง ทั้งอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา ไอร์แลนด์ กรีซ ออสเตรเลีย ฯลฯ นำไปสู่การติดตั้งเครื่องปรับอากาศมากกว่า 2,500 เครื่อง เพื่อความสะดวกสบายและเร่งอัตราการฟื้นฟูร่างกายของนักกีฬาให้ได้มากที่สุด
นอกจากประเด็นเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ ภายในหมู่บ้านนักกีฬายังมีปัญหาในบางด้าน เช่น อาหารลดการปล่อยคาร์บอนส่งผลต่อปริมาณเนื้อสัตว์ ความแข็งของเตียงกระดาษที่ใช้ภายในห้องพัก ไปจนการขาดแคลนของใช้แล้วทิ้งบางชนิดอย่างกระดาษชำระ จนนำไปสู่การตั้งคำถามในหลายด้าน
อย่างไรก็ตามทางผู้จัดงานยังคงยืนยันถึงแนวทางจัดการแข่งขันกีฬาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ต่อไป
ที่มา
https://olympics.com/en/paris-2024/our-commitments/the-environment/renewable-energy
https://olympics.com/ioc/news/all-you-need-to-know-about-paris-2024-sustainability