posttoday

เยียวยา 3 พันล้าน! ความเสียหาย จากการไม่พร้อมของรัฐ - ท้องถิ่น - ประชาชน

18 กันยายน 2567

ความเสียหายและรายจ่ายการเยียวยาในเหตุการณ์นัำท่วม 67 ตอนนี้เหยียบหมื่นล้าน นั่นคือภาษีที่ประชาชนต้องจ่าย! ความเสียหายซ้ำซากจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของรัฐ ท้องถิ่นเกียร์ว่าง และประชาชนที่ไม่มีองค์ความรู้อย่างเพียงพอ แม้ว่าไทยเคยทำได้ดีกว่านี้มาก่อนในปี 62

นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นกับโพสต์ทูเดย์ในบทสัมภาษณ์ ชะล่าใจ! ศูนย์บัญชาการก่อนเกิดน้ำท่วม เหตุเชียงรายอ่วม อีสานพร้อม? ไว้อย่างน่าสนใจว่า

‘เคสของพายุยางิถ้าจะมีข้อเปรียบเทียบจะเห็นว่าในช่วงปลายปี 2562 เราเคยมีพายุอยู่ลูกหนึ่งคือ 'พายุปาบึก' ตอนนั้นจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ ซึ่งกรณีของพายุปาบึก เราจะเห็นความแตกต่างในเรื่องของการบริหารจัดการเตรียมความพร้อมและก็การแจ้งเตือน’

จนโพสต์ทูเดย์ต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลเปรียบเทียบระหว่าง พายุปาบึก 62 กับน้ำท่วมเชียงราย 67 ว่ามีการแตกต่างกันในเรื่องเตรียมความพร้อมและการแจ้งเตือนอย่างไร และพบกับจุดบอดสำคัญที่ทำให้ 'ประเทศไทย' ต้องเสียหายซ้ำซากขนาดนี้

 

พายุปาบึก ถูกจัดเป็นพายุโซนร้อน ที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ โดยมีความเร็วลมสูงสุดราว 95 กม./ ชม. ความเร็วลมนี้จะขึ้นฝั่งที่แรกที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติหลายอย่างทั้ง วาตภัย น้ำท่วม และแผ่นดินถล่ม บ้านเรือนปลิวว่อน คลื่นในทะเลสูงถึง 5 เมตร และสามารถวัดปริมาณฝนสูงสุด 271.0 มิลลิเมตร

พายุลูกนี้แรงกระจายเป็นวงกว้างครอบคลุม 18 จังหวัด 90 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 212,784 ครัวเรือน

 

เยียวยา 3 พันล้าน! ความเสียหาย จากการไม่พร้อมของรัฐ - ท้องถิ่น - ประชาชน

ชาวบ้านทีแหลมตะลุมพุก อพยพจากพายุปาบึก

 

 

ในขณะที่ พายุยางิ เมื่อขึ้นฝั่งไทยถูกจัดเป็นพายุดีเปรสชั่น มีความเร็วลมระหว่าง 34-60 กม./ชม. ขึ้นฝั่งที่แรกที่เกาะไหหลำ ไปต่อที่เวียดนาม และเคลื่อนตัวช้าลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามพายุยางิมาพร้อมกับฝนขนาดใหญ่ โดยสามารถวัดปริมาณน้ำสูงสุดได้ที่ 411.0 มิลลิเมตร ที่ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

โดยพื้นที่ประสบภัยครอบคลุม 1 จังหวัด 9 อำเภอ ประชาชนได้รับผลประทบราว 53,209 ครัวเรือน

แม้ว่าพายุทั้งสองจะมีลักษณะของการสร้างความเสียหายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ‘กระบวนการเตือนภัย และการรับมือก่อนเกิดภัย’ โดยจะเห็นได้ว่า

 

พื้นที่จังหวัดเชียงรายจากอิทธิพลของพายุยางิ

 

พายุปาบึกซึ่งกินพื้นที่บริเวณกว้างกว่า และมีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่าราว 4 เท่าของพายุยางิที่เชียงราย กลับสร้างมูลค่าความเสียหายที่ 5 พันล้านบาท

ที่สำคัญคือ มีผู้เสียชีวิตเพียง 4 ราย บาดเจ็บ 2 รายเท่านั้น

 

ในทางกลับกัน พายุยางิที่เชียงราย สร้างมูลค่าความเสียหายตอนนี้ราว 3.6 พันล้านบาทเข้าไปแล้ว! และท้ายที่สุดรัฐต้องอนุมัติเงินเยียวยาอีกราว 3,000 ล้านบาท

แต่ที่ต้องพิจารณาคือ มีผู้เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บ 2 คน 

 

เยียวยา 3 พันล้าน! ความเสียหาย จากการไม่พร้อมของรัฐ - ท้องถิ่น - ประชาชน

 

เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์การบริหารจัดการทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ในช่วงของพายุปาบึก ก็พบว่า

พายุปาบึกที่จะขึ้นฝั่งในวันที่ 3-5 ม.ค. โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการแจ้งเตือนว่าพายุโซนร้อนปาบึกจะเคลื่อนเข้าฝั่งในวันศุกร์ตอนค่ำ (4 ม.ค.) ที่ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

 

วันพุธ ที่ 2 ม.ค. (ก่อนหน้าพายุขึ้นบก 2 วัน ) อดีตนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประชุมเตรียมความพร้อมกับหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัด ไปจนถึงระดับกระทรวง โดยเห็นความเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น

 

  • ผู้ว่าราชการต่างๆ ออกตรวจความพร้อมทั้งในเรื่องไฟฟ้าเพื่อรับมือกรณีเกิดเหตุขัดข้องไฟฟ้าดับ และอพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปยังที่ปลอดภัย เมื่อมาถึงศูนย์อพยพจะมีการแบ่งโซนต่างๆ เช่น โซนผู้ป่วย โซนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และโซนของคนทั่วไป
  • นายกรัฐมนตรีสั่งการให้อพยพประชาชน โดยให้เคลื่อนย้ายตนเองและทรัพย์สินออกมาก  สั่งให้ดูแลเรื่องการกิน สาธารณสุข และสั่งให้ดูแลผนังเขื่อนที่อาจมีความเปราะบางจากพายุ
  • กองทัพเรือส่งเรือหลวงออกทะเลเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือและกู้ภัยทางทะเล
  • ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการผู้ว่าฯ เตรียมพร้อม เตือนภัย แจ้งข่าว เตรียมกำลังพล เรือท้องแบน รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตกรในพื้นที่เร่งพร่องน้ำในลำน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำจากฝนที่ตกลงมา พร้อมขุดลอกคูคลองกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเตรียมสำรองยาชุดน้ำท่วม ยารักษาโรค ฯลฯ
  • กรมชลประทานจะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุทกภัย
  • มีการเตรียมสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • มีการประกาศแจ้งเตือนอพยพ และราชการของให้ประชาชนปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังพบว่าก่อนหน้าพายุจะขึ้นบก 3 ชั่วโมง ก็มีการตระเวนตามพื้นที่เพื่อตามหาผู้ตกหล่นที่ยังไม่อพยพ และใช้ระเบียบบังคับแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพทันที!
  • ฯลฯ

 

ปี 62 ชาวบ้านเตรียมอพยพออกจากพื้นที่

 

ซึ่งการรับมือในครั้งนี้ องค์การสากลอย่าง UNDRR หรือ United Nation Office for Disaster Risk Reduction ของ UN ยังลงบทความชื่นชมการจัดการของไทย โดยกล่าวว่า การเตือนภัยล่วงหน้าและการดำเนินการในเชิงรุกช่วยให้พายุโซนร้อนปาบึกซึ่งพัดถล่มภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 5 มกราคมผ่านไปโดยมีการสูญเสียชีวิตในระดับจำกัด และถึงแม้พายุครั้งนี้จะมีความรุนแรงและเปรียบได้กับพายุโซนร้อนแฮเรียต แต่ด้วยระบบพยากรณ์อากาศที่ดี รวมถึงการเตือนภัยและการอพยพล่วงหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่คน 

นอกจากนี้ ยังถูกถอดเป็นบทเรียนเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 ในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2561 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2562 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี(อาคารบี) มีการเสวนาหัวข้อ “พลังพลเมืองอาสา สร้างสังคมสุขภาวะ” โดยประชาชนในพื้นที่ให้ความเห็นดังนี้ (อ้างอิงจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ )

ละม้าย มานะการ เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ ตัวแทนจากพื้นที่จังหวัดปัตตานี วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานีรับมือกับพายุปาบึกได้ดี เป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัด ประชาชน และภาคประชาสังคม เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับพายุหมุนหรือสตอร์ม เสิร์จ มาแล้วในปี 2553 ทำให้มีการสั่งให้อำเภออพยพผู้คนโดยเร็ว มีการจัดกลุ่มเฝ้าระวังภัยพิบัติร่วมวางแผนและแจ้งข่าวสาร และชาวบ้านเตรียมพร้อมสิ่งต่างๆ ในการดูแลตนเองอย่างดี โดยไม่รอหรือร้องขอจากหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว หน่วยทหารก็ช่วยอพยพคนได้เยอะ ในส่วนสถาบันวิชาการในพื้นที่คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ร่วมระดมทรัพยากรจากเครือข่าย จัดหาเสบียงให้เพียงพอและจัดสรรอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้การจัดสรรอย่างเป็นธรรมเป็นหัวใจสำคัญมากในสถานการณ์ภัยพิบัติ
 
อานนท์ มีศรี สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช  กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามทำข่าวสถานการณ์ในพื้นที่พบว่า การอพยพทำได้รวดเร็ว ชาวบ้านให้ความร่วมมือทำให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นเพียง 4 ชีวิต แต่อาจต้องมีการประเมินความปลอดภัยที่ละเอียดกว่านี้เพราะโรงยิมของปากพนังที่เป็นศูนย์รองรับผู้อพยพเป็นพันคน สุดท้ายก็โดนพายุพัดหลังคาปลิวไปเกือบหมด รวมถึงระบุด้วยว่า ประเด็นสำคัญหลังจากพายุผ่านพ้นคือการฟื้นฟูสิ่งที่เสียหาย ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องรวบรวมความเสียหาย รวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบและนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
.

.

ผ่านมาเพียง 5 ปี เชียงรายเจอพายุยางิ

หลายฝั่งกล่าวว่าสาเหตุที่ความเสียหายมากขนาดนี้ เพราะไม่มีการแจ้งเตือนภัย บางรายบอกว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ยอมออกจากบ้าน

เมื่อโพสต์ทูเดย์ติดตามข่าวในช่วงวันที่ 8 กันยายน ก่อนหน้าการเกิดฝนตกพบว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการออกมาแจ้งเตือนประชาชนว่าจะมีฝนตกหนักและฝนตกที่สะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม!

 

เยียวยา 3 พันล้าน! ความเสียหาย จากการไม่พร้อมของรัฐ - ท้องถิ่น - ประชาชน

 

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกสานต่อ เฉกเช่นในสมัยของพายุปาบึก หรือชะล่าใจว่าจะไม่รุนแรงหรือไม่? ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาเตือนว่าอย่าประมาทกับพายุลูกนี้ แม้จะมีการอ่อนกำลังลงแล้วเช่นกัน

 

เยียวยา 3 พันล้าน! ความเสียหาย จากการไม่พร้อมของรัฐ - ท้องถิ่น - ประชาชน

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถห้ามธรรมชาติได้ แต่การบริหารจัดการที่ดีย่อมจะลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน!  ไม่ว่าจะทั้งภาครัฐที่ขาดความสนใจในประเด็นนี้ ส่วนท้องถิ่นที่ปล่อยเกียร์ว่าง หรือตัวของประชาชนเอง ที่ไม่มีความรู้เพียงพอว่าบ้านที่ตนเองสร้างนั้น พื้นที่มีความเสี่ยงอย่างไร และไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลตัวเอง เอาเป็นว่าภัยพิบัติครั้งนี้ ไม่เห็นการจัดการใดๆ ที่ประเทศไทยเคยทำได้ในปี 2562 เลย! 

 

การอพยพประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

 

ซึ่งหากรัฐรวมถึงท้องถิ่น และประชาชน รวมถึงสื่อเอง ยังปฏิบัติเช่นนี้ ภัยพิบัติในอนาคตที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐก็ต้องเอาเงินซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ออกมาจ่ายมากขึ้น?  ซึ่งงบประมาณด้านภัยพิบัติจะว่าไปก็เป็นงบประมาณที่ตรวจสอบได้ยาก! ซึ่งเป็นคำถามที่ชวนให้คิดต่อไม่น้อย