posttoday

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

11 ตุลาคม 2567

สำรวจพฤติกรรมการออกแบบของมนุษย์เมืองผ่านเรื่องราวใน “อาคิเต็ก-เจอ” และ “สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” กับชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิก-นักเขียนแห่ง The Cloud และเพจ Everyday Architect Design Studio ในเรื่องชีพจรของเมืองผ่านสิ่งเรี่ยราดรายทางที่หมายถึงชีวิต

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิก-นักเขียนแห่ง The Cloud และเพจ Everyday Architect Design Studio

 

“ผมว่าคาแร็คเตอร์ที่แข็งแรงของกรุงเทพ คือการเห็นชีวิตคน เคยมีคนพูดว่า เมืองที่ดีคือเมืองที่เราเข้าไปในเมืองแล้วมองเห็นชีพจร เห็นหัวใจเต้น จากผู้คนที่ทำให้เกิดทราฟฟิก กรุงเทพฯเรามีคาแรคเตอร์แบบนั้น คือมีชีวิตมากๆ แต่จะเป็นชีวิตที่ดีหรือไม่ดีก็คุยกันต่อไป...”

 

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิก-นักเขียนแห่ง The Cloud และเพจ Everyday Architect Design Studio ที่มีผลงานเขียนในเรื่องสถาปัตย์ (เรี่ยราดรายทางกระจุกกระจิกของเมือง) ระดับซีรีย์ ตั้งแต่เรื่องของเหล็กดัด ศาลพระภูมิ ร้านชำ ตี่จู้เอี๊ยะ กระถางต้นไม้ รถเข็นผัก ฯลฯ

 

กล่าวให้ชัด “ชัชวาล” คือผู้ใช้เครื่องมือคือ ตัวหนังสือและนิทรรศการทำให้เกิดผลงานและเรื่องราวคลี่ปมปัญหาเคลือบช็อคโกแลตของเมืองให้เแจ่มชัดขึ้น

 

"เราใช้เทคนิคในการทําภาพวาดแบบอาคิเทคเจอร์ แบบพวกสถาปัตย์ ซึ่งมันก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือทําแล้วมันน่ารักคนก็สนใจ แล้วเราก็ใช้โอกาสที่เราอยากรู้ว่าคนทําอย่างนี้ไปทําไม แล้วก็ชวนเพื่อนๆที่อยู่ในโซเชียลมีเดียมาดูภาพไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตอนแรกปลายทางเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไร แค่รู้สึกว่ามันสนุกเว้ย คนมันคิดได้ไง แม้จะดูประหลาดไปสักนิด

อย่างหนึ่งก็คือเราเห็นวัสดุที่อยู่ในเมืองแล้วคนใช้บ่อยๆ ซึ่งมันก็เกิดจากอุตสาหกรรมบ้านเราที่มันทิ้งของเหลือบางอย่าง หรืออาจเป็นของที่หาง่ายในบ้านเราที่มันทิ้งอยู่ระเกะระกะ" ชัชวาลอธิบายวิธีการสื่อสารในมุมมองแบบสถาปนิก

 

ภายในบ้านที่เป็นที่ทำงาน

 

จากการพูดคุยกันถ้าให้สรุปแบบทั้งโรแมนติกและไม่โรแมนติกกับโพสต์ทูเดย์ในครั้งนี้เราพบว่า ภายในเมืองอันแสนวุ่นวายและมากไปด้วยปัญหาสารพันเกินกว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาได้โดยลำพังมีดังนี้

 

  • สิ่งของบางอย่างเมื่อมีคนใช้ก็มีความหมาย อิฐก้อนหนึ่งอาจเป็นได้ทั้งเก้าอี้นั่ง และโครงสร้างชั่วคราวสำหรับรองฐานรถเข็นขายสินค้าอาหาร ท่อพีวีซีที่กลายมาเป็นราวตากผ้า รถกระบะที่ประกอบกันจนกลายเป็นร้านชำเคลื่อนที่อย่างรถพุ่มพวง
  • เราเห็นทั้งปัญหาและเห็นความคิดสร้างสรรค์ของคนที่พยายามเอาตัวรอด คนที่พยายามทำมาหากินบนพพื้นที่แคบและแออัดของเมือง
  • เรามองเห็นความหมาย ที่มาที่ไปของสิ่งของเรี่ยราดข้างทางว่ามันเป็น “อาการบางอย่างที่สะท้อนผ่านผู้คน” ในการประกอบร่างสร้างตัวในเมืองขึ้นมาได้อย่างไร

 

ชัชวาลบอกเราว่า

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด ฟังแล้วอาจดูรกๆ แต่ก็อาจเกิดประโยชน์บางอย่าง เพราะเมื่อมีคนใช้ก็มีความหมาย บางสิ่งเห็นแล้วตลก บางสิ่งเห็นแล้วเครียด เป็นทั้งมีม ทั้งตลกร้าย เหมือนปัญหาเคลือบช็อคโกแลต คนที่อยู่ตรงนั้นอาจไม่ขำ เพราะเรามองปัญหาด้วยมุมที่แตกต่างกัน

 

แต่เราจะแก้ปัญหาเมืองที่เกลื่อนกลาดได้อย่างไร ถ้าเรามีภาพฝันของเมืองที่ดี แล้วภาพเมืองที่ดีในฝันของคุณเป็นอย่างไร

 

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

 

จริงไหมที่ว่า เมืองที่วางผังมาดีแบบเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้วอาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ เมืองที่รกๆ แบบกรุงเทพฯ กลับดูมีชีวิตชีวาเต้นเร่าอยู่ในแสงแดดประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างไม่สะทกสะท้าน แต่เมืองก็มีทั้งมุมมืดและมุมสว่างอยู่ที่คุณจะเลือกหรือไม่เลือกอยู่ตรงไหน มากกว่านั้นบางคนมีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่ตรงไหน บางคนก็ไม่มีสิทธิ์นั้น

 

สำรวจสถาปัตยกรรมใกล้ตัวกับ “สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด”

ความจริงเริ่มจากหนังสือเล่มแรกคือ “อาคิเต็ก-เจอ” ที่พาสำรวจสถาปัตยกรรมข้างทางที่อยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งใกล้ตัว อย่างเช่น ร้านรถเข็นข้างทางทำไมจึงออกแบบอย่างนี้ มาได้อย่างไร  หรือว่ารถพุ่มพวง (รถกับข้าว) มาจากไหน เกิดขึ้นได้ยังไงในเมือง เมื่อเขียนไปเรื่อยๆ ก็เกิดแก็ปเล็กๆ ขึ้น เหมือนเราสนใจแต่ยังไม่สามารถนำมาสู่บทความใหญ่ได้ มันมีรายละเอียดอีกมากมายกระจุกกระจิกที่เราเจอข้างทาง เช่น อิฐก้อนหนึ่งที่วางอยู่แต่ช่วยแก้ปัญหาบางอย่างในเมือง อิฐก้อนนั้นมันคืออะไร เราหาข้อมูลไม่เจอ ก็เลยเกิดความรู้สึกอยากทำเล่มที่ 2 คือ "สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด"

 

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก “สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

 

“มันคือการตามหาความหมายหรือว่าที่มาที่ไปของสิ่งเรี่ยราดข้างทางนั่นแหละ ว่ามันเป็นอาการบางอย่างของเมืองที่มันสะท้อนผ่านผู้คนที่เอามาวาง เอามาประกอบร่างสร้างตัวแล้วก็ใช้ชีวิตในเมืองยังไง”

 

ก้อนอิฐและร้านรถเข็น

ถ้าเกิดเราลองถอยกลับไปมองภาพใหญ่ก่อนที่มันจะมีอิฐก้อนหนึ่งมาตั้งอยู่ตรงนั้น มันมาได้ไง มันมาจากโครงสร้างที่ออกแบบมาไม่ดี โครงสร้างเมืองมันไม่พร้อมแล้วกลายเป็นว่าถ้าเราจะไปใช้ชีวิตในเมือง ทำอาชีพค้าขาย ตั้งร้านรถเข็น หรือว่าเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ในพื้นที่เมืองที่มันไม่ได้ตอบโจทย์ในการออกแบบ เมื่อไปอยู่ตรงนั้นก็ต้องแก้ปัญหากันเอง

 

เช่น ร้านรถเข็น เรามักคิดว่าร้านรถเข็นมันน่าจะต้องตั้งบทฟุตบาทในขนาดที่กว้างพอเพื่อที่จะไม่เกะกะทางเดิน แต่ในพื้นที่ที่จำกัดเช่นปากซอย ฟุตบาทมันแคบมากก็ต้องใช้อิฐมารองล้อเพื่อให้มันตั้งอยู่ได้ (ภาพที่เรามักเห็นกันคือร้านรถเข็นตั้งอยู่บนฟุตบาทครึ่งหนึ่งและอยู่บนพื้นถนนครึ่งหนึ่ง)

 

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

 

แต่อีกมุมหนึ่งมันคือคำตอบว่า การออกแบบพื้นที่ตรงนั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์พฤติกรรมจริงๆ ของคน แม้กระทั่งการที่คนต้องมาทำมาค้าขายบนพื้นที่ถนน มันก็คือการผลักภาระทางด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน คือเราเป็นผู้มีรายได้น้อยแต่เราไม่มีพื้นที่ในเมืองในการทำมาหากินได้ เราก็ต้องมาลำบากอยู่ในพื้นที่แคบแล้วก็แก้ปัญหากันเองในโครงสร้างที่มันไม่พร้อม

 

นั่นเป็นกลไกของหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นไอ้อิฐก้อนที่คนเอามาเทินใต้ล้อมันก็คืออาการแบบหนึ่งที่สะท้อนว่าโครงสร้างเมืองมันมีปัญหาทั้งในแง่กายภาพและในทางเศรษฐกิจรวมร่างกัน สุดท้ายมันคือสิ่งที่บอกว่า คนต้องแก้ปัญหากันเองในโครงสร้างที่มันไม่พร้อม

 

สถาปัตยกรรมเรี่ยราดในประเทศที่พัฒนาแล้วล่ะ

มันก็มี แต่อาจอยู่ในพื้นที่บางจุดที่โดนกันออกไปรอบนอก จากการทำโซนนิ่ง ส่วนหนึ่งที่มันดูเรียบร้อยเพราะว่า ภาครัฐเข้าไปจัดการ ยกตัวอย่างสิงค์โปร์ ถ้าเราอยู่ในตัวเซ็นเตอร์ของเมืองในย่านธุรกิจการค้าหรือ CBD มันก็จะดูเรียบร้อยมากๆ แต่มันจะไปโผล่เรี่ยราดในตลาดฮอว์เกอร์ (Hawker Centres) ในมุมที่แบบรัฐเข้าไม่ถึง เขาก็จะจัดการของเขาเองมันก็จะดูรกๆ แต่ว่ามันไม่ได้ออกมาให้เราเห็น ในขณะเดียวกัน ถ้าออกไปตามชานเมืองก็จะเจอกับตลาดแผงลอยเหมือนกับบ้านเรา มีภาพไม่ต่างกันนัก

 

เรียกว่ามันคือเนื้อแท้ของมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนในการทำมาหากินไม่ต่างกัน และที่สุดแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของภาครัฐว่าจะทำงานอย่างไร ซึ่งก็เป็นวิธีการจัดการที่แต่งต่างกันไปของแต่ละประเทศ อย่างประเทศโลกที่หนึ่งคนกับรัฐจะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในระดับที่เข้มข้นมากๆ ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้โซลูชั่นที่ลงตัวและตอบโจทย์การดำเนินชีวิต แต่ในประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดก็จะเป็นไปตามนั้น ผู้คนจะเคารพกฎหมายแต่มันก็จะขาดความเป็นมนุษย์ไปอีก เรียกว่ามีการจัดการปัญหาที่แตกต่างกัน

 

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

 

บ้านเราก็มีคาแรคเตอร์ของตัวเองที่ทำให้มันออกมาเป็นแบบนี้ แน่นอนว่ามันเป็นปัญหา แต่เราจะทำอย่างไงให้มันดีขึ้น ไม่ใช่การไปเปรียบเทียบกับประเทศนั้น ต้องดีเหมือนประเทศนี้เป๊ะๆ เพราะโครงสร้างมันไม่เหมือนกัน แต่เราจะดีขึ้นในแบบของเราเองได้ยังไงและไปกับสากลได้ด้วย

 

“หนังสือคือสิ่งที่เปิดประตูสู่เรื่องเชิงลึกของเมือง รายละเอียดต่าง ๆ ที่มาของปัญหา บางสิ่งผิดแต่อาจมีปัญหาบางอย่างซ่อนอยู่ และอาจมีการหยิบจับปัญหาขึ้นมาพูดถึงและแก้ปัญหาของเมืองได้ตรงจุดมากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่เล็กมากๆ จนคนมองข้ามไปก็ตาม”

 

จะแก้ไขเรื่องเรี่ยราดได้ยังไง

ผมก็พยายามศึกษาเรื่องพวกนี้นี้ให้รอบด้านแล้วในมุมหนึ่งผมเป็นสถาปนิก ผมจะมองในแง่ทางกายภาพมากๆ เช่น ยังมองว่ารถเข็นขนาดเท่านี้ไปอยู่ในฟุตบาทที่แคบแบบนี้แล้วเขาแก้ปัญหายังไง แล้วมองในแง่การใช้งานใช้สอยเชิงกายภาพมากๆ แต่พอถ้าเราถอยเข้าไปเห็นจริงๆ มันก็จะเห็นว่า มันมีเรื่องเชิงมหภาคที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับกายภาพเหมือนกัน เช่นโครงสร้างทางเศรษฐกิจบางอย่างที่มันไม่สอดคล้องทำให้ต้องออกมาทำอะไรกันเอง ทําไมเขาไม่ขายขายของอยู่ในบ้านล่

 

มันมีปัจจัยมันมันรายล้อมไปหมดเลย  ถ้ามองแบบกําปั้นทุบดินของผมก็คือถ้าโครงสร้างเมืองออกแบบมาถูกต้องแต่แรก ว่าถ้าเราคิดอยู่แล้วว่า เดี๋ยวมันต้องมีขายของ คนมันต้องออกมามีกิจกรรมกันอย่างนี้นะ แล้วจะจัดการขยะยังไง คือถ้ามันถูกคิดมาตั้งแต่ตอนวางผังเมืองแต่แรกมันคงไม่เป็นแบบนี้ แต่ว่าถ้าเราไปศึกษาประวัติศาสตร์การวางผังเมืองกรุงเทพมันก็จะไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น มันก็จะเลยตามเลยไปเรื่อยๆ

 

“สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด” ความหมายในอิฐหนึ่งก้อนสะท้อนภาพเมืองทั้งโลก

 

ถ้าถามว่าต้องแก้ยังไงผมว่า ต้องกลับมาดูกันที่จุดเริ่มต้นเลยว่า ปัญหาจริงๆตอนนี้มันคืออะไรกันแน่ เขาก็จะมองกันหลายมุมเช่น บางคนจะมองในมุมว่า สัดส่วนมันไม่ใช่ บางคนก็จะมองไปถึงระบบเงินกู้ว่า กู้ยังไงถ้ากู้เงินไปตั้งร้านได้ก็ไม่ต้องมาเกะกะข้างทาง ถ้ารายได้น้อยจริงๆ เราผ่อนผันและจะจัดระเบียบได้ไหม เช่นมี Hawker ซึ่งบางที่ก็ทำสำเร็จบางที่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะทำเลไม่ดี สร้างปัญหาให้แม่ค้าอีก

 

ถ้าแต่ละคนมองปัญหารอบด้านทุกจุดแล้วมีการตั้งโต๊ะพูดคุยกันอย่างจริงจังน่าจะดี ความจริงมันก็มีการพูดคุยกันมาแล้ว แต่ผมว่ามันยังมีระยะห่างจากกลไกบางอย่างที่มันยังไม่ได้สอดประสานกันแบบพอดีกับคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้จัดระเบียบและคนที่ทำมาหากิน ถ้ามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ก็อาจแก้ปัญหาได้ในวันหนึ่ง...