posttoday

แปลง PM 2.5 เป็นแถบสี คุณภาพอากาศกรุงเทพเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในรอบ 170 ปี

22 ตุลาคม 2567

ทีมนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรคิดค้นวิธีให้คนทั่วโลกสามารถรับรู้ได้ว่าคุณภาพอากาศในเมืองที่อาศัยอยู่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในรอบ 170 ปี หวังสร้างความตระหนักต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจนถูกเรียกได้ว่าเป็น “ฆาตกรที่มองไม่เห็น” และแม้ว่าคุณภาพอากาศจะแย่ลงมากแค่ไหน ภาครัฐและคนส่วนใหญ่ยังมีความตระหนักต่อเรื่องดังกล่าวในระดับที่ไม่มากนัก 

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรจึงคิดค้นวิธีให้ผู้คนทั่วโลกสามารถรับรู้ได้ว่าคุณภาพอากาศในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในรอบ 170 ปี รวมถึงหวังว่าเครื่องมือดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเกิดความตระหนักในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมากขึ้น

แปลง PM 2.5 เป็นแถบสี คุณภาพอากาศกรุงเทพเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในรอบ 170 ปี

เครื่องมือดังกล่าวมีชื่อว่า Air Quality Stripes โดยจะแสดงข้อมูลมลพิษทางอากาศตั้งแต่ปี 1850 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละปีจะมีแถบสีแนวตั้งแสดงปริมาณของอนุภาคมลพิษทางอากาศที่เป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (สีฟ้าอ่อน สีเหลือง น้ำตาล และดำ ไล่ไปตามปริมาณมลพิษที่สูงขึ้น)

 

Kirsty Pringle หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระให้ความเห็นว่า “มลพิษทางอากาศมักถูกเรียกว่าฆาตกรที่มองไม่เห็น แต่แถบสีพวกนี้จะทำให้สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายทศวรรษ”

แปลง PM 2.5 เป็นแถบสี คุณภาพอากาศกรุงเทพเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในรอบ 170 ปี

แถบสีของลอนดอนและปักกิ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นได้หากมีการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา ลอนดอนต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันหนาทึบจากถ่านหินมานานกว่าศตวรรษ จนกระทั่งรัฐบาลถูกบีบให้ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังหลังจากมีผู้เสียชีวิต 12,000 คน

ส่วนปักกิ่ง สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่แย่ลงไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งชาวโลกเริ่มหันมาจับตาในช่วงโอลิมปิก 2008 ซึ่งในเวลานั้นจีนมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี แต่การจัดการกับภาคอุตสาหกรรมและการจราจรในช่วงปีหลังๆ ส่งผลให้คุณภาพอากาศในจีนดีขึ้นบ้างในระดับหนึ่ง

แปลง PM 2.5 เป็นแถบสี คุณภาพอากาศกรุงเทพเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในรอบ 170 ปี

ขณะที่ในไทยเอง ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา มลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการคมนาคมและภาคอุตสาหกรรม โดยปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในบ้านเราเองไม่ได้หายไปแต่อย่างใด เพียงแต่มีช่วงเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นระยะๆ ปริมาณฝุ่นก็มากน้อยเฉลี่ยกันไป 

ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ "หมอกฤตไท" ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม อันมีสาเหตุสืบเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่จุดประกายความตระหนักถึงภัยของฝุ่น PM 2.5 และการเดินหน้าพ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเราก็หวังว่า  Air Quality Stripes จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้รัฐบาลเกิดความตระหนักในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น