posttoday

แจ้ง 'Take It Down' แพลตฟอร์มช่วยลบภาพอนาจารในโลกออนไลน์ได้แล้ว!

03 กุมภาพันธ์ 2567

มีแล้ว! Take It Down แพลตฟอร์มภาษาไทยช่วยลบรูปภาพและวิดีโอภาพเปลือยทางออนไลน์ ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศและส่งต่อภาพอนาจารในเด็ก

National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC)  องค์กรคุ้มครองเด็กที่ใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปกป้องเด็กๆ เพื่อให้เด็กทุกคนควรได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างปลอดภัย ได้ดำเนินการ CyberTipline ซึ่งเป็นระบบรายงานการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ทุกประเภท  ผ่านแพลตฟอร์ม 'Take It Down' ซึ่งมีหน้าแพลตฟอร์มใช้งานเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กไทยสามารถเข้าไปใช้งานได้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยปัจจุบัน จากข้อมูล คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต พบว่า คดีปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ตั้งแต่ปี 63-65 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 65) พบว่าในปี 2565 มีการแจ้งเป็นคดีสูงขึ้นกว่า 6 เท่า คือ 392 คดี (ซึ่งรวมทั้งคดีครอบครองสื่อลามกเด็ก และล่วงละเมิดทางเพศเด็ก)  อย่างไรก็ตามจากผลวิจัยพบว่าเด็กไทยเข้าถึงการแจ้งความจากคดีดังกล่าวน้อย ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10-15 เท่านั้น

หน้าตาแพลตฟอร์มภาษาไทย

ข้อดีของ Take It Down

1. เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยลบหรือหยุดการแชร์ภาพหรือวิดีโอทางออนไลน์ที่เป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน หรือเนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ่ายไว้ขณะที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยภาพนั้นอาจเกิดจากการแชร์หรืออัปโหลดบนโลกออนไลน์ โดยบริการดังกล่าวจะช่วยได้เป็นอย่างมากในกรณีที่มีการข่มขู่เด็กที่แชร์ภาพเปลือยของตนเองแล้วเกิดการข่มขู่จากอีกฝ่ายหนึ่ง ( สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีสามารถเข้าใช้บริการได้อีกแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งยังไม่มีบริการเป็นภาษาไทยได้ที่ https://stopncii.org )

2. ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนในขณะที่ใช้บริการ และไม่ต้องส่งรูปภาพหรือวิดีโอให้ Take It Down

 

Take It Down ทำงานอย่างไร

Take It Down จะทำงานโดยเป็นการกำหนดลายนิ้วมือดิจิทัลที่ไม่ซ้ำกันซึ่งเรียกว่า 'ค่าแฮช' ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอนั้น จากนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์จะใช้ค่าแฮชเพื่อตรวจหารูปภาพหรือวิดีโอเหล่านี้และลบเนื้อหา  โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นโดยที่ภาพหรือวิดีโอจะถูกปล่อยหรือไม่มีใครได้เห็นภาพนั้น เพราะจะมีแค่เฉพาะค่าแฮชเท่านั้นที่หน่วยงานจะได้รับ  โดยมีวิธีการทำงานดังนี้

1.เมื่อรูปภาพจากมือถือ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ของผู้แจ้ง ถูกเลือกเพื่อติดตั้งค่าแฮชในแพลตฟอร์ม

2.จากนั้นจะมีการสร้าง 'ค่าแฮช' และถูกเพิ่มลงในรายการที่ปลอดภัยของ NCMEC โดยที่รูปภาพไม่ได้มีการอัปโหลดลงไปในออนไลน์แต่อย่างได้ ทาง NCMEC จะแชร์ค่าแฮชเฉพาะกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าร่วม

3.หากแพลตฟอร์มออนไลน์ตรวจพบจะมีการลบเนื้อหา

4.ทั้งนี้ หากมีการอัปโหลดและติดตั้งค่าแฮชแล้ว หากมีการอัปโหลดขึ้นไปอีก บัญชีโซเชียลมีเดียดังกล่าวจะถูกบล็อค

แพลตฟอร์มพันธมิตรที่เข้าร่วมกับ Take It Down

 

สำหรับใครที่อยากเข้าไปใช้งาน Take It Down สามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://takeitdown.ncmec.org/th/ จากนั้นกดปุ่มเริ่ม จะมีการถามตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับ อายุ ภาพนั้นถูกเผยแพร่หรือไม่ เมื่อกดปุ่มถัดไป จะเข้าสู่การติด 'ค่าแฮช' และจะมีการแสกนเพื่อลบเนื้อหาดังกล่าวในแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตรต่อไป

แพลตฟอร์มใช้งานง่ายและปลอดภัยสูง