posttoday

สสส. นำร่องเมืองอุบล พื้นที่ต้นแบบพัฒนาเด็กเติบโตสมวัยด้วยกิจกรรมทางกาย

29 กุมภาพันธ์ 2567

สสส. MOU ภาคี ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับเมืองอุบล พื้นที่ต้นแบบส่งเสริมเด็กปฐมพัฒนาการเติบโตสมวัยด้วยกิจกรรมทางกาย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

บันทึกความร่วมมือดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย บนพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย

สสส. นำร่องเมืองอุบล พื้นที่ต้นแบบพัฒนาเด็กเติบโตสมวัยด้วยกิจกรรมทางกาย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสสส. กล่าวว่า สสส.มุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็กปฐมวัยหรือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 1- 4 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสติปัญญา พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กไทยให้เติบโตสมวัยครบทุกด้านทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคตและสุขภาพของเด็ก และที่สำคัญคือการเป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาประเทศ ด้วยการสนับสนุนพื้นที่สุขภาวะให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและสม่ำเสมอในระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน

ทั้งนี้ จากผลการเฝ้าระวังของสสส.พบว่า ยังมีเด็กไทยจำนวนหนึ่งที่พัฒนาการไม่สมวัย โดยเฉพาะด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม ขณะที่ผลการจัดลำดับคะแนนระดับสติปัญญา (IQ) จาก World of Statistics พบว่า ในปี 2552 ระดับสติปัญญาเฉลี่ยโดยรวมของประชากรไทย อยู่ที่ 88.7 คะแนน ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย โดยอยู่ในอันดับที่ 64 จาก 199 ประเทศทั่วโลก

สสส. นำร่องเมืองอุบล พื้นที่ต้นแบบพัฒนาเด็กเติบโตสมวัยด้วยกิจกรรมทางกาย

ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่ดีครบทุกด้าน ให้มีผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกในชุมชน ร่วมกันสร้างและสนับสนุนพื้นที่สุขภาวะที่เอื้ออำนวยต่อมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และนำไปสู่เป้าหมายการให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยผ่านการกิจกรรมทางกายที่เพียงพอขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยและเป็นการวางรากฐานสำคัญของประเทศในอนาคตต่อไป