posttoday

ถาม! K-ETA ได้ผลจริงมั้ย เมื่อ #แบนเกาหลี ไต่ท็อปหลังนทท.ไทยไปเกาหลีลดฮวบ

20 มิถุนายน 2567

ชาวเน็ตสงสัยมาตรการกำกับเรื่อง ‘ผีน้อย’ เมื่อนทท.ไทยต้องทำ K-ETA เพื่อคัดกรองคนได้ผลจริงหรือไม่? เพราะหลายคนทำแล้วก็ผ่านตม.ไม่ได้อยู่ดี ล่าสุดยอดนทท.ไทยลดฮวบสวนทางกับชาติอื่นในเกาหลีใต้ .. พร้อมพาไปรู้จัก K-ETA สำหรับใครที่อยากจะไปเกาหลีใต้!

ประเด็นดราม่าร้อนแรงล่าสุดคือ #แบนเกาหลี ที่หลายคนลงความเห็นเมื่อได้ทราบข่าวยอดนักท่องเที่ยวไทยในเกาหลีลดลงกว่าร้อยละ 21 โดยคอมเม้นท์ส่วนมากไปในแนวของ ‘การเห็นด้วย’ และเห็นว่า ‘สมควร’ เพราะบางคนเคยถูกปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีจนเสียเงินมานักต่อนัก แม้จะสมัคร K-ETA แล้วก็ตาม

 

  • นักท่องเที่ยวไทยลดฮวบ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเกาหลีสูงขึ้นร้อยละ 470!

แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะลดลงกว่าร้อยละ 21 และหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงก่อนโควิดก็จะพบว่านักท่องเที่ยวไทยลดลงกว่าร้อยละ 59 โดยสื่อเกาหลีใต้ระบุว่า ในปี 2019 นั้นประเทศไทยเป็นประเทศตัวท็อปของการท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเกาหลีโดยมีผู้เดินทางไปเกาหลีใต้กว่า 572,000 คน รองลงมาคือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามในปีนี้ประเทศไทยตกเป็นอันดับที่สามด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 163,000 คน

ในขณะที่การท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศเกาหลีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ไตรมาสแรกถึงร้อยละ 86.9 โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวชาติที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้สูงสุดโดยมีอัตราเติบโตที่ร้อยละ 470 หรือสูงขึ้นเกือบ 5 เท่า ตามมาด้วยประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเกาหลีใต้มีความกังวลเนื่องจากต้องการยอดนักท่องเที่ยวต่อปีที่ 20 ล้านคน

 

 

  • รู้จัก K-ETA เบื้องหลังนักท่องเที่ยวหด

K-ETA หรือ Korea Electronic Travel Authorization คือ ระบบออนไลน์ที่จัดทำเพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมายังเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการโดนปฏิเสธของนักท่องเที่ยวที่บริเวณ ตม. ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นในช่วงหลัง โดยมีไว้สำหรับผู้ที่จะเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้นหรือการเดินทางเพื่อมาทำธุรกิจ  โดยผู้ที่เดินทางสามารถสมัครผ่านเว็ปไซต์ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ต้องมี K-ETA นั้นมาจาก 112 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าออนไลน์

ซึ่งความต่างระหว่าง K-ETA และ E-Visa ก็คือจุดประสงค์การเดินทาง ระยะเวลาในการขอรวมไปถึงความยุ่งยากเรื่องเอกสารต่างๆ ระยะเวลาในการเดินทางหรืออยู่ รวมไปถึงค่าธรรมเนียม

 

ถาม! K-ETA ได้ผลจริงมั้ย เมื่อ #แบนเกาหลี ไต่ท็อปหลังนทท.ไทยไปเกาหลีลดฮวบ

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร K-ETA ได้แก่

  1. หนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต (passport)
  2. รูปถ่ายหน้าตรงแบบทางการ พื้นหลังขาว
  3. เอกสารการจองที่พัก ซึ่งต้องจองที่พักล่วงหน้า เพื่อใช้ยื่นตอนสมัคร K-ETA 
  4. บัตรเครดิตสำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียม

สามารถสมัครผ่านเว็บไซต์  www.k-eta.go.kr ซึ่งมีการรอผลอนุมัติอย่างน้อย 72 ชั่วโมง

K-ETA จะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ได้รับการอนุญาตและไม่ต้องขอใหม่ในช่วงเวลานั้นหากต้องการเดินทางไปอีก แต่ต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลที่พักต่างๆ  ซึ่งสามารถอยู่ในประเทศเกาหลีได้ไม่เกิน 3 เดือน

 

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวก็ตกกับที่นั่งลำบากหลายครั้ง เนื่องจากมีหลายคนที่ต้องการเดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อท่องเที่ยวจริงๆ ถูกปฏิเสธจากตม.หลายครั้งแม้จะมี K-ETA ซึ่งต้องทิ้งตั๋วเดินทาง รวมไปถึงการจองที่พักต่างๆ ไว้หมดแล้ว ซึ่งหลายคนบอกว่าเพราะเหตุนี้เองเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเดินทางไปยังเกาหลีใต้น้อยลง แม้มาตรการดังกล่าวจะมีขึ้นตามความต้องการที่จะควบคุมแรงงานผิดกฎหมายหรือ ‘ผีน้อย’ ซึ่งทางเกาหลีใต้ระบุว่านำไปสู่คดีอาชญากรรมร้ายแรง การค้ายา หรือการค้ามนุษย์ตามมา

ในโซเชียลมีเดียอย่าง X มีการระบุว่า หลังจากเปิดฟรีวีซ่าจีน นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปยังจีนซึ่งเที่ยวได้ง่ายกว่า และเดินทางสะดวก มีสถานที่ให้เที่ยวหลากหลาย เพื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ และมีความเห็นระบุว่าแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเพื่อป้องกัน ‘ผีน้อย’ แต่ดูเหมือนว่าตามโซเชียลมีเดียก็ยังพบเห็นแรงงานไทยผิดกฏหมายเข้าไปทำงานได้ ต่างจากคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวจริงๆ ซึ่งเข้าไม่ได้ จนเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการทำ K-ETA ว่ามีประสิทธิภาพในการคัดกรองคนหรือไม่? ในเมื่อก็มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม รวมไปถึงการทำงานของตม.ในประเทศเกาหลีใต้ด้วย

แหล่งข่าวของโพสต์ทูเดย์ระบุว่า ญาติของเขาเดินทางไปทำงานแบบผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ในตอนแรก จนปัจจุบันเก็บเงินและสามารถจ้างชาวเกาหลีใต้แต่งงานเพื่อจะได้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย จนสามารถเดินทางเข้าออกไทยได้ตามปกติ และชักชวนญาติอีกหลายคนเดินทางไปในลักษณะเดียวกัน .. 

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปยังเกาหลีใต้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่าในปี 2023-2024 ประเทศไทยและเกาหลีใต้จะประกาศเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อสานสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งขึ้นก็ตาม

 

  • นักท่องเที่ยวเกาหลีในไทย อันดับ 5 จำนวน 778,264 คน

ในทางกลับกัน จำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ในไทยระหว่างเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2567 นี้มีจำนวนกว่า 778,264 คน ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีอยู่ราว 640,801 คน เป็นรองจีน มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย โดยจีนเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวมากที่สุดอยู่ที่ 2,795,888 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด  ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เที่ยวไทยทั้งปีราว 1,785,147 คน

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวในไทย จำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีจำนวน 12,127,447 คน คิดเป็นการเติบโตที่ร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสามารถสร้างรายได้แล้วกว่า 583,902 ล้านบาท ( ในปีที่พีคที่สุดของการท่องเที่ยวคือช่วงก่อนโควิด ประเทศไทยสามารถทำรายได้สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทต่อปี )

ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ภาพรวมไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 8,272,300 คน เพิ่มขึ้น 29% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 367,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%

อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางททท. ได้ตั้งเป้ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 2.3 ล้านล้านบาท และเมื่อดูรายรับครึ่งปีจะพบว่าคาดการณ์อยู่ที่ 951,802 ล้านบาท จึงตกไปอยู่ที่ความคาดหวังในช่วงไฮซีซั่นปลายปีตั้งแต่เดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงพีคสุดของการท่องเที่ยวไทยว่าจะได้ตามเป้าหรือไม่