posttoday

เปิด 17 ชนิดมะเร็งที่คน 'Gen X และ Y' เสี่ยงป่วยมากกว่าคนรุ่นก่อน!

13 สิงหาคม 2567

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง The Lancet พบคน 'Gen XและY' หรืออายุ 28-60 ปี ณ ปัจจุบัน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 17 ชนิดมากกว่าคนรุ่นก่อน จากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต!

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง The Lancet Public Health  เผยว่ามีมะเร็ง 17 ชนิดที่คน Gen X และ Gen Y  (อายุราว 28-60 ปี ณ ปี 2024 และเป็นการเก็บสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา ) มีสถิติป่วยมากกว่าเมื่อเทียบกับคนในยุคก่อน ในอัตรา 12%-169%

ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบมะเร็งมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีสถิติกระโดดขึ้นมากกว่า 169% เมื่อเปรียบเทียบคนที่เกิดในยุค 1990 กับคนที่เกิดในช่วงปี 1950  นอกจากนี้ยังมีการศึกษามะเร็ง 34 ชนิด โดยพบว่า 17 ชนิดดังต่อไปนี้มีอุบัติการของโรคมากขึ้น และมี 5 ชนิดที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

 

17 ชนิดมะเร็งที่คน Gen X และ Gen Y ยุคนี้ต้องระวัง

  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งลำไส้เล็ก
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งรังไข่
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งช่องปากและคอหอย
  • มะเร็งทวารหนัก
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี
  • มะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • มะเร็งตับอ่อน
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา
  • มะเร็งที่ไม่ได้อยู่ในส่วนต้นของกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งลูกอัณฑะ
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา 

โดยพบว่ามะเร็งบางชนิดเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในคนวัยนี้มาก่อน กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต

 

นักวิจัยเตือนสาเหตุที่เพิ่มขึ้น เพราะสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต และโรคอ้วน

นักวิจัยเผยว่า 10 ใน 17 โลก เป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งที่กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ตับอ่อน ฯลฯ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า มะเร็งนั้นจะมีพัฒนาการยาวนาน บางชนิดใช้เวลาพัฒนาหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจึงเกี่ยวข้องกับสุขภาพตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับอากาศอย่างไร กินอาหารแบบไหน เช่นหากเป็นมะเร็งในวัย 30 ปี ปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

ดังนั้น การคัดกรอง จึงเป็นส่วนที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย หรือทำให้สามารถรู้เท่าทันโรคได้ รวมไปถึงการหมั่นสังเกตตนเอง เช่น หากมีเลือกออกปนกับอุจจาระอาจเป็นสัญญารถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือเลือดออกที่ช่องคลอดอาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งมดลูก การเจ็บปวดที่บริเวณศีรษะเป็นเวลาต่อเนื่องกัน หรือแม้แต่การเหนื่อยเพลีย และน้ำหนักลดอย่างผิดปกติก็เป็นสัญญาณที่ควรจะดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด

 

สถิติผู้ป่วยมะเร็งอัปเดต 2567 ในประเทศไทย

ในปี 2567 โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยโรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน เป็นจำนวนที่มากขึ้นเปรียบเทียบกับปี 2565 ซึ่งคนไทยป่วยเป็นมะเร็ง 122,757 คนต่อปีและเสียชีวิต 80,665 คนต่อปี 

โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ

  1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งเต้านม
  4. มะเร็งปากมดลูก
  5. มะเร็งเม็ดเลือดขาว