posttoday

ผู้ชายเชื่อว่า ผู้หญิงเลือกให้ความสำคัญครอบครัวมากกว่าทำงาน จริงไหม?

17 กันยายน 2567

ผลสำรวจชี้ 43% ของผู้ชายเชื่อว่า ผู้หญิงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าการทำงาน และทั้งผู้ชายและผู้หญิง มองว่า ความคาดหวังเรื่องการรับผิดชอบในครอบครัว อาจขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพของผู้หญิง

KEY

POINTS

  • ‘จุดหมายปลายทาง’ คือนิยามความสำเร็จทางอาชีพของเจนใหม่ ซึ่งหมายถึง การได้รับชัยชนะเล็ก ๆในแต่ละวัน ในขณะที่เจนมากประสบการณ์มองความสำเร็จว่าเป็น ‘การเดินทาง’ โดยให้ความสำคัญกับการทุ่มเทในการทำงาน
  • 85% ของทั้งสองเจนมองว่า Work-Life Balance เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเติบโต และต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น
  • 73% ของคนเจนใหม่ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ และยังต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานอย่างเป็นปกติ

สลิงชอท กรุ๊ป (Slingshot Group) บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร เปิดผลสำรวจ ค่านิยมการทำงานของเจนเนอร์เรชั่นใหม่และปัญหาด้านความเท่าเทียมของผู้นำชายและหญิง

 

โดยในปี 2567 ได้ทำการสำรวจค่านิยมและแนวคิดการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างเจนเนอร์เรชั่นใหม่และเจนเนอร์เรชั่นมากประสบการณ์ (Next Gens Think and Work Differently) ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้นำองค์กรและผู้นำฝ่าย HR กว่า 242 คนในไทย เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้นำรุ่นใหม่สามารถทำงานร่วมกับทีมงานที่มีหลากหลายเจนเนอร์เรชั่นด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งพบประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • 48% ของเจนใหม่ชอบการฟีดแบคเชิงสร้างสรรค์เป็นประจำรายสัปดาห์ ในทางกลับกันเจนมากประสบการณ์มักปฏิบัติเป็นรายเดือน หรือรอจนจบโปรเจกต์ก่อน

 

  • เจนใหม่ให้ความสำคัญกับ ‘ทำไมจึงต้องทำ (why)’ แต่เจนมากประสบการณ์ให้ความสำคัญกับวิธีการว่าทำ ‘อย่างไร (How)’

 

  • ‘จุดหมายปลายทาง’ คือนิยามความสำเร็จทางอาชีพของเจนใหม่ ซึ่งหมายถึง การได้รับชัยชนะเล็ก ๆในแต่ละวัน ในขณะที่เจนมากประสบการณ์มองความสำเร็จว่าเป็น ‘การเดินทาง’ โดยให้ความสำคัญกับการทุ่มเทในการทำงาน

 

  • 85% ของทั้งสองเจนมองว่า Work-Life Balance เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเติบโต และต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น

 

  • 73% ของคนเจนใหม่ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ และยังต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานอย่างเป็นปกติ

 

  • คนทั้ง 2 เจนมองว่า ผู้นำที่โปร่งใสควรแบ่งปันประสบการณ์ความล้มเหลว พูดและกระทำสอดคล้องกัน และให้ข้อมูลอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทเป็นประจำ

 

 

นอกจากนี้ สลิงชอท กรุ๊ป ยังได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาผู้นำระดับโลก Center for Creative Leadership (CCL) สำรวจประเด็นปัญหาด้านความเท่าเทียมของผู้นำชายและหญิงผ่านผลสำรวจ Elevate the System 2024 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 894 คนใน 5 ประเทศรวมถึงประเทศไทย พบว่า 

 

ในประเทศไทย 43% ของผู้ชายเชื่อว่าผู้หญิงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าการทำงาน 

โดยทั้งผู้ชาย (44%) และผู้หญิง (51%) มองว่า ความคาดหวังเรื่องการรับผิดชอบในครอบครัว อาจขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพของผู้หญิง 

อีกทั้งผู้หญิงมักได้รับโอกาสและข้อเสนอมากกว่าผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะไม่แสวงหาและรับโอกาสในการพัฒนาเท่าผู้ชาย

 

‘REAL Way of Work’ หรือ ‘REAL WoW’ - โอบรับความหลากหลายทางเจนเนอร์เรชั่นและเพศ 

ซึ่งจากผลสำรวจทั้ง 2 ประเด็น นำมาสู่การสร้างสรรค์แนวทาง ‘REAL Way of Work’ หรือ ‘REAL WoW’ ที่ชวนผู้นำรุ่นใหม่เปิดใจ ยอมรับ เข้าใจ และโอบรับความหลากหลายทางเจนเนอร์เรชั่นและเพศ เพื่อให้สามารถประสบผลสำเร็จในการทำงานร่วมกัน โดยประกอบด้วย

 

R: Respect Individuality - เคารพความเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมารวมและมองลึกถึงตัวตนและจุดแข็งของแต่ละคน

 

E: Evolve Conversation - สร้างสภาพแวดล้อมดีต่อใจพนักงาน (Psychological Safety) ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกตัดสิน

 

A: Activate Growth Strategies – สนับสนุนการเติบโตตามต้องการ โดยเตรียมพร้อมระบบองค์กรที่รองรับเส้นทางการเติบโตที่แตกต่างกันไปของพนักงาน

 

L: Lead Inclusively – นำพาทีมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจะต้องรับฟัง เข้าอกเข้าใจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อใจให้พนักงาน

 

ผู้ชายเชื่อว่า ผู้หญิงเลือกให้ความสำคัญครอบครัวมากกว่าทำงาน จริงไหม?

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สลิงชอท กรุ๊ป ได้จัดงาน ‘Leading the Future Forum 2024’ โดยยกทัพผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำมาแลกเปลี่ยนเคล็ดลับการการพัฒนาผู้นำองค์กรสู่ระดับโลก ประกอบด้วย ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC, คุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, และคุณณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด 

 

โดยทั้ง 3 ท่านมีมุมมองต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นหนึ่งเดียวว่าจะต้องเริ่มต้นขึ้นจากผู้นำ ที่เปิดใจและมีความรับผิดชอบต่อความหลากหลายในองค์กรอย่างแท้จริง โดยทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติและปกติ รับฟังและเคารพมุมมองที่แตกต่าง และสามารถนำจุดแข็งเฉพาะตัวของทีมงานแต่ละเจนเนอร์เรชั่นและเพศมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด

 

“การขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันจะต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญด้วยกัน ได้แก่ กลยุทธ์ (Strategy) การเป็นผู้นำ (Leader & People) และวัฒนธรรมองค์กร (Culture) เมื่อกลยุทธ์พร้อม ผู้นำเข้าใจและบริหารทีมงานบนความหลากหลาย จนสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นได้ จะนำไปสู่การสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน"

 

 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านผลสำรวจ ‘Next Gens Think and Work Differently’ และ ‘Elevate the System’ ฉบับเต็ม ได้ตามลิงค์