posttoday

ณาปนกิจด้วยน้ำ การจัดการศพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

01 ตุลาคม 2567

ที่ผ่านมาเราอาจพบเห็นการเผาศพกันทั่วไป แต่วันนี้เราจะพาไปรู้จักการฌาปนกิจด้วยน้ำ แนวทางฌาปนกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึงการจัดพิธีศพวิธีการยอดนิยมมักเป็นการฝังไม่ก็เผา นับเป็นขั้นตอนการฌาปนกิจที่สามารถพบได้ทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระบวนการจัดการศพเหล่านั้นเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น เนื่องจากมลพิษและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาหลังดำเนินการ

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลในการคิดค้นแนวทางฌาปนกิจรูปแบบใหม่อย่าง การฌาปนกิจด้วยน้ำ

 

ณาปนกิจด้วยน้ำ การจัดการศพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 

ฌาปนกิจด้วยน้ำ การณาปนกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม

 

          เดิมการฌาปนกิจด้วยน้ำถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดการเนื้อเยื่อ ใช้สำหรับกำจัดซากสัตว์ในภาคการเกษตรเป็นหลัก ก่อนเริ่มถูกนำมาใช้กำจัดซากสัตว์ในห้องทดลอง จากนั้นช่วงปี 2011 จึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการฌาปนกิจ และเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจากพิธีศพของ อาร์ชบิชอป Desmond Tutu เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

 

          กลไกของการฌาปนกิจด้วยน้ำเป็นการย่อยสลายศพผ่านปฏิกิริยาทางเคมีที่ชื่อ Alkaline hydrolysis เป็นการอาศัยความร้อนและสารเคมีทำละลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงการย่อยสลายตามธรรมชาติ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจะเหลือเพียงแคลเซียมฟอสเฟตทิ้งไว้เท่านั้น

 

          ขั้นตอนการดำเนินการจะเริ่มจากการนำร่างผู้ตายไปบรรจุในถังสแตนเลส จากนั้นจึงทำการปล่อยสารละลายจากน้ำผสมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ 5% ท่วมศพ แล้วจึงทำการจ่ายพลังงานสู่ตัวถังให้ร้อนในระดับอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส ก็จะสามารถย่อยสลายร่างนั้นได้ภายในเวลาราว 4 – 6 ชั่วโมง

 

          ปฏิกิริยาเคมีจะย่อยสลายพันธเคมีที่เชื่อมโยงเนื้อเยื่อในร่างกาย ให้เหลือเพียงสารละลายที่เป็นสารอินทรีย์อย่างกรดอะมิโน เกลือ น้ำตาล ฯลฯ เมื่อรวมกับคุณสมบัติสารละลายที่จะฆ่าเชื้อโดยอัตโนมัติ ทำให้สารตกค้างที่เหลืออยู่ทั้งหมดเป็นสารอินทรีย์ที่นไปบำบัดแล้วปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ตามปกติ

 

          ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางณาปนกิจที่เรียบง่ายจนแทบไม่แตกต่างจากขั้นตอนการฌาปนกิจรูปแบบอื่น

 

ณาปนกิจด้วยน้ำ การจัดการศพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 

ข้อดีของการฌาปนกิจด้วยน้ำ

 

          จุดเด่นของการฌาปนกิจด้วยน้ำคือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการเผาศพที่แม้จะเป็นวิธีฌาปนกิจที่ได้รับความนิยมในไทยโดยทั่วไป แต่เราต่างทราบดีว่าการเผาไหม้มักตามมาด้วยควันไฟหรือสารตกค้างอื่นๆ จนอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน

 

          แตกต่างจากการฌาปนกิจด้วยน้ำที่อาศัยการย่อยสลายผ่านสารเคมี ตลอดกระบวนการไม่มีการเผาไหม้จึงไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์หรือสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการสารละลายที่เหลือเป็นสารอินทรีย์ที่เป็นมิตร ซึ่งสามารถนำกลับไปสู่ระบบนิเวศได้ทันทีหลังการบำบัด

 

          อันดับต่อมาคือ ประหยัดพลังงาน ตลอดขั้นตอนอุณหภูมิสูงสุดที่พวกเขาต้องใช้งานคือ 160 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ในขณะที่การเผาศพต้องใช้ความร้อนสูงมากเพื่อให้ร่างกลายเป็นขี้เถ้า ซึ่งจะช่วยให้พลังงานที่ใช้ในกระบวนการฌาปนกิจลดลงจากเดิมกว่า 80%

 

          การฌาปนกิจด้วยวิธีนี้จะทำให้ชิ้นส่วนแปลกปลอมในร่างกาย เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุทันตกรรม ไปจนวัสดุศัลยกรรมไม่ถูกเผาไหม้ไปด้วย ลดความยุ่งยากในการชันสูตรเพื่อนำชิ้นส่วนเหล่านี้ออก รวมถึงหลีกเลี่ยงการเผาไหม้วัสดุเหล่านี้ไปพร้อมศพ จึงสามารถนำไปจัดการนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป

 

          ในส่วนของท่านที่ต้องการเก็บรักษาเถ้ากระดูกของผู้เสียชีวิต หลังเสร็จสิ้นการฌาปนกิจจะหลงเหลือแคลเซียมฟอสเฟตบริสุทธิ์ไว้ สามารถนำไปบดให้เป็นผงแล้วนำไปใช้ในฐานะเถ้ากระดูกได้ไม่แตกต่างจากการเผาศพ และสามารถนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมตามความต้องการของผู้ตายได้ต่อไป

 

          นั่นทำให้โดยพื้นฐานแล้วการฌาปนกิจด้วยน้ำไม่ได้แย่กว่าการเผาตามปกติ แต่นับเป็นวิธีฌาปนกิจที่มีประสิทธิภาพกว่าเสียอีก

 

         

 

          ข้อจำกัดที่ทำให้การฌาปนกิจด้วยน้ำไม่ได้รับความนิยม

 

          ถึงจะมีข้อโดดเด่นในหลายด้านปัจจุบันการฌาปนกิจด้วยน้ำก็ไม่ได้รับความนิยมนักจากหลายเหตุผล แรกสุดคือค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การฌาปนกิจด้วยน้ำมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเผาปกติราว 2 – 4 เท่า เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ต้องอาศัยเครื่องมือซับซ้อน นี่จึงไม่ใช่แนวทางฌาปนกิจที่เข้าถึงได้ทั่วไป

 

          อันดับต่อมาคือ การใช้งานทรัพยากรน้ำ ถึงจะมีอัตราการเผาไหม้และใช้พลังงานความร้อนน้อยกว่ามาก แต่การฌาปนกิจด้วยน้ำต้องอาศัยน้ำในการทำละลาย การฌาปนกิจแต่ละครั้งจึงอาจต้องอาศัยน้ำมากเกินไปโดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ วิธีนี้จึงอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

 

          อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ความเชื่อและความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิต บางพื้นที่การตายมีความผูกพันกับความเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างมาก อาจมองว่าการฌาปนกิจนี้ผิดหลักพิธีกรรมทางศาสนาจนนำไปสู่ความไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับญาติผู้เสียชีวิตที่อาจตะขิดตะขวงใจจนไม่คิดใช้บริการ

 

          นอกจากนี้การฌาปนกิจด้วยน้ำยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับอนุญาตจำกัด ในบางพื้นที่การฌาปนกิจด้วยน้ำยังไม่ได้รับอนุญาต ประเทศที่อนุมัติให้ใช้งานการฌาปนกิจนี้มีอยู่ไม่มาก เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก ร่วมกับบางส่วนของยุโรปและสหรัฐฯเท่านั้น

 

          ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีการอนุญาตหรือบริษัทใดที่ให้บริการฌาปนกิจด้วยน้ำเช่นกัน

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.theguardian.com/society/2023/jul/02/boil-in-the-bag-environmentally-friendly-funerals-arrive-in-uk-resomation-acquamation

 

          https://newatlas.com/lifestyle/water-cremation-eco-friendly-alternative/

 

          https://www.bbc.com/thai/articles/c2x4exnj130o