posttoday

'สาธิตการเผชิญเหตุ' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ 'รถบัส'!

03 ตุลาคม 2567

หากเจอกับเหตุฉุกเฉินขณะโดยสารขนส่งสาธารณะ จะปฏิบัติตัวอย่างไร? ถ้านึกไม่ออก ถึงเวลาหรือยังที่พาหนะโดยสารทุกแบบจะต้องมี 'สาธิตการเผชิญเหตุ' เพื่อป้องกันการสูญเสีย เพราะในกรณีเครื่องบินโดยสารมีผลวิจัยว่าหากอพยพภายใน 90 วินาทีจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตได้

เคยตั้งคำถามกับตนเองหรือไม่ว่า

หากวันหนึ่งต้องเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินบนรถโดยสารประเภทใดประเภทหนึ่ง

บนเรือโดยสารกลางทะเล หรือในรถไฟฟ้าใต้ดิน

จะเอาตัวรอดจากการเผชิญเหตุการณ์นั้นอย่างไร?

 

จากเหตุการณ์อันน่าสลดที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเกิดการสูญเสียจำนวนมากที่ไม่ควรเกิดขึ้น เมื่อรถโดยสารแบบเช่าซึ่งทางโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี ใช้เพื่อนำนักเรียนมาทัศนศึกษา จนเกิดเพลิงลุกไหม้ และมีนักเรียนและครูจำนวนหนึ่งไม่สามารถเปิดประตูออกมาได้ โดย ณ ขณะนี้มีการคาดเดาเหตุไปต่างๆ นานาจนกว่าจะพิสูจน์ความจริงได้

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อพิจารณาจากเหตุการณ์นี้ คือ การจัดการสถานการณ์เมื่อเผชิญกับเหตุฉุกเฉิน และ การตรวจสอบสภาพพาหนะก่อนเดินทาง สองปัจจัยที่พบว่าไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดหรือให้ความรู้หรือข้อมูลก่อนล่วงหน้า เมื่อรวมกับความตื่นตระหนกต่างๆ จากเหตุการณ์จึงทำให้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียที่มากมายขนาดนี้

 

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องทบทวนว่า การโดยสารพาหนะแต่ละประเภทนั้น มีมาตรฐานความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน!

 

\'สาธิตการเผชิญเหตุ\' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ \'รถบัส\'!

 

เครื่องบิน ตัวอย่างของพาหนะโดยสารที่มีระบบการเผชิญเหตุที่รัดกุม และครอบคลุม

เมื่อพิจารณาการโดยสารพาหนะประเภท 'เครื่องบินโดยสาร'  เครื่องบินโดยสารจะต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดของสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เราจะพบว่ามีการตระเตรียมในกรณีฉุกเฉินเป็นลำดับ

ตั้งแต่ก่อนเครื่องบินจะ Take Off  มีการตรวจเช็คระบบและความพร้อมของเครื่องบินอยู่เสมอ รวมไปถึงความพร้อมของกัปตันเครื่องบิน ในฐานะผู้ขับเครื่องบินและผู้ตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อนั่งประจำเครื่องบินโดยสาร จะมีใบชี้แจ้ง รวมไปถึงการสาธิตทั้งวิธีการรัดเข็มขัด และวิธีการเผชิญเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งมีการบอกประตูนิรภัยว่าอยู่ตำแหน่งใดของการโดยสาร มีการติดตั้งอุปกรณ์ในกรณีฉุกเฉินอย่างเช่น ห่วงยางชูชีพ หรือสายออกซิเจน รวมไปถึงยังครอบคลุมการดูแลเด็กที่เดินทางมากับผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

นอกจากนี้บนเครื่อง หน้าที่ของแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต ไม่ได้เพียงแต่อำนวยความสะดวกในด้านบริการเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น 'ผู้พิทักษ์ความปลอดภัย' ให้แก่ผู้โดยสาร เช่น ดูแลช่วยเหลือผู้โดยสารกรณีฉุกเฉิน ตรวจเช็คอุปกรณ์ประจำเครื่องตามจุดต่างๆ สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีการกระตุกหัวใจ การทำ CPR และสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีบาดเจ็บเล็กน้อย อีกทั้งยังทำหน้าที่สาธิตให้แก่ผู้โดยสารในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้โดยสารมีองค์ความรู้ในการเผชิญเหตุ นอกเหนือไปจากความปลอดภัยขณะขับเครื่องบิน หรือสภาพเครื่องบินที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

 

\'สาธิตการเผชิญเหตุ\' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ \'รถบัส\'!

 

เช็คพาหนะเดินทางรูปแบบสาธารณะในไทย มีมาตรการเผชิญเหตุ หรือการตรวจสอบสภาพรถก่อนการเดินทางหรือไม่

โพสต์ทูเดย์ชวนสำรวจการเดินทางสาธารณะในทุกรูปแบบของชีวิตประจำวัน นอกจากเครื่องบินโดยสาร ว่ามีมาตรการตั้งรับเผชิญเหตุฉุกเฉินมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะพาหนะโดยสารที่อาจจะส่งผลต่อการสูญเสียเป็นจำนวนมาก

 

รถไฟฟ้า   -   มีการตรวจสภาพรถทุกคัน และรถไฟฟ้าบางสาย เช่น สายสีเหลือง มีวิดิโอสาธิตวิธีการปฏิบัติตัวในกรณีฉุกเฉินให้แก่ผู้โดยสาร โดยจะบอกทั้งจุดที่วางถังดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยในกรณีฉุกเฉิน และเส้นทางอพยพออกจากรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามพบว่ารถไฟฟ้าบางสายไม่ได้มีคลิปสาธิตวิธีการปฏิบัติตัว หรืออาจจะมีแต่ระยะเวลาในการแสดงห่างจนผู้โดยสารบางคนอาจจะพลาดการรับชมได้

 

\'สาธิตการเผชิญเหตุ\' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ \'รถบัส\'!

 

รถไฟ -  มีการตรวจสภาพรถและมีการจัดทำคู่มือในรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตามบนรถไฟโดยเฉพาะรถไฟขบวนเก่าไม่ได้มีการสาธิตเมื่อเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด 

รถบัสโดยสารประจำทาง (ระหว่างจังหวัด) -  มีการตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก รถโดยสารสาธารณะบางเจ้ามีพนักงานบนรถคอยอำนวยความสะดวก และสาธิตบนรถ รวมไปถึงมีวิดิโอที่แสดงอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถโดยสาร แต่ไม่ครอบคลุมทุกบริษัทที่ให้บริการ

รถบัสโดยสารไม่ประจำทาง -  มีการตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ไม่ได้กำหนดให้มีพนักงานบนรถ และไม่ได้มีการกำหนดให้มีการสาธิตการเผชิญเหตุ

เรือโดยสาร - ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดทำคู่มือความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร รวมถึงในกรณีเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉิน

 

\'สาธิตการเผชิญเหตุ\' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ \'รถบัส\'!

 

อย่างไรก็ตาม การซ้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในการขนส่งสาธารณะสามารถลดอัตราการสูญเสียได้อย่างมาก เพราะลดการตื่นตระหนก เพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองและรับมือได้ดีกว่า จากการศึกษาหลังเหตุเพลิงไหม้ในรถไฟฟ้าใต้ดินที่ฮ่องกงปี 2017 พบว่าผู้โดยสารที่ผ่านการฝึกอบรมปฐมพยาบาลมีโอกาสรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีการฝึกอบรม นอกจากนี้ 46.1-63.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยผู้ที่ได้รับการฝึกปฐมพยาบาลมาก่อนมีแนวโน้มที่จะรับมือได้ดีกว่า

นอกจากนี้ การศึกษาจาก National Transportation Safety Board (NTSB) พบว่าผู้โดยสารที่ฟังการสาธิตความปลอดภัยมีโอกาสในการตอบสนองอย่างถูกต้องสูงกว่าผู้ที่ละเลยการฟังถึง 30% ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ การอพยพออกจากเครื่องบินภายในเวลา 90 วินาทีจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตได้ และการสาธิตที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถทำตามขั้นตอนนี้ได้ง่ายขึ้น

รวมไปถึง ผู้โดยสารที่รับทราบวิธีการใช้หน้ากากออกซิเจนและเสื้อชูชีพจากการสาธิตจะสามารถใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ความคืบหน้าจากกรณีรถบัสไฟไหม้ 

ล่าสุดวานนี้ (2 ตุลาคม 2567)  นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม มีการเปิดเผยหลังเหตุการณ์ รถบัสไฟไหม้คร่าชีวิตครู-นักเรียน ว่า ได้มีการสั่งการกรมการขนส่งทางบกเรียกรถทั้งหมดที่ใช้ NGV จำนวน 13,400 คันมาตรวจสอบสภาพ หากไม่ผ่านจะยกเลิกไม่ให้ประกอบการ ขณะที่รถ 30 จะเป็นรถไม่ประจำทาง ไม่เหมือนรถ บขส. จึงจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เนื่องจากรถ 30 กระจายตัวตามจังหวัด โดยจะให้เข้ามาตรวจสอบคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

อีกทั้งจะมีการพิจารณาระเบียบให้รถ 30 จะต้องมีพนักงานท้ายรถ และในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นเด็กเล็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และไม่มีความรู้ จึงจะออกมาตรการขอความร่วมมือสถานศึกษา​ ให้ผู้ใช้บริการรถ 30 โดยเฉพาะหากเป็นนักเรียน​ ก่อนออกเดินทางต้องมีการตรวจร่วมกับขนส่งจังหวัด เรื่องมาตรฐาน​ความปลอดภัย​ เพื่อเพิ่มการป้องกันระยะเร่งด่วนและหลังจากนี้จะให้ดูกฎหมายเรื่องอายุการใช้งานรถและอุปกรณ์​ เพื่อให้ทันเหตุการณ์​ ต้องมีใบรับรองเผชิญเหตุ และก่อนรถออกเดินทางต้องมีการสาธิตการเผชิญเหตุ ทั้งคนและรูปแบบวิดีโอเหมือนแอร์ไลน์ ซึ่งขณะนี้ไม่มีข้อบังคับ โดยขณะนี้รถโดยสารที่ให้บริการมีทั้งหมด 13,426 คัน แบ่งเป็นรถประจำทาง 10,491 คัน และรถไม่ประจำทาง หรือรถ 30 จำนวน 2,935 คัน

 

\'สาธิตการเผชิญเหตุ\' สิ่งที่ขาดหายไปในพาหนะโดยสารที่ไม่ใช่แค่ \'รถบัส\'!

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่รถ 30 เท่านั้นที่ควรจะออกมาตรการหรือไม่?  แต่นี่เป็นช่วงเวลาที่กระทรวงคมนาคมควรทบทวนความปลอดภัยในพาหนะสาธารณะทุกประเภท เพราะก่อนหน้านี้ก็มีอุบัติเหตุจากขนส่งสาธารณะหลายครั้ง และเกิดการสูญเสียเช่นกัน  แม้ว่าการตระเตรียมอย่าง 'เครื่องบินโดยสาร' จะต้องมีการใช้งบประมาณและคน ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ในพาหนะบางประเภท แต่รัฐควรจะมีมาตรการที่จะผลักดันให้การโดยสารพาหนะสาธารณะของคนไทยปลอดภัยมากขึ้น และลดอัตราการสูญเสียหากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ทั้งในรูปแบบของกฎหมายและการสนับสนุนเชิญชวนที่ไม่เป็นภาระต่อธุรกิจเจ้าเล็กๆ จนเกินไป  เพื่อที่จะผลักดันให้เอกชนร่วมมือที่จะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้น นั่นจะเป็นข้อพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลชุดนี้อย่างแท้จริง!