posttoday

ถอดรหัสโรค NCDs ทำไมถึงคร่าชีวิตคนไทยปีละ 4 แสนราย และตายก่อนอายุ 60 ปี!

21 ตุลาคม 2567

ถอดรหัสทำไมโรค NCDs คืออะไร? ถึงคร่าชีวิตคนไทยปีละ 4 แสนราย และทำให้รัฐสูญเสียต้นทุนรายได้ปีละกว่า 1.6 ล้านล้านบาท จนกระทรวงสาธารณสุขต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ!

  • ความน่ากลัวของโรค NCDs ไม่ใช่ของจำนวนผู้เสียชีวิต แต่มักจะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

จากข้อมูลของ สสส.พบว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตราว 300,000 - 400,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี

โดยพบว่า ในปี 2562 โรค 3 อันดับแรก ที่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ (ตายก่อนวัยอันควร) ได้แก่

  1. อุบัติเหตุทางท้องถนน
  2. โรคเบาหวาน
  3. โรคหลอดเลือดสมอง  

ซึ่งทั้งสามโรคที่กล่าวมานี้ คิดเป็น 30% ของการสูญเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตามอีก 50% ที่เหลือซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ก็ยังอยู่ในกลุ่มโรค NCDs 

 

อย่างไรก็ตามในปี 2567 การเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 สภาพัฒน์ได้ออกมาเตือน ประเด็นเรื่อง 'การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง'   ที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย  โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง (ซึ่งโรคมะเร็งก็เป็นหนึ่งในโรค NCDs)

จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 355,213 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผู้ป่วย 350,934 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวน 47,275 ราย เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2566)

ที่น่าสนใจคือ สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบผู้เสียชีวิตแล้ว 35,116 ราย (เฉลี่ยวันละ 100 คน )  ซึ่งในกลุ่มอายุ 18 – 39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 

 

ทั้งนี้ สสส. เคยเปิดปัจจัยการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 5 อันดับ พบสาเหตุได้แก่

อันดับ 1 ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

อันดับ 2 บุหรี่ เกิดจากการสูบบุหรี่/ยาสูบทุกชนิด และการได้ควันบุหรี่มือสอง 

อันดับ 3 ระดับความดันโลหิตสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มโรค NCDs

อันดับ 4 บริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม 

อันดับ 5 มลพิษทางอากาศ

 

โดยจะพบว่าทุกอันดับย่อมเชื่อมโยงกับการเกิดโรค NCDs แทบทั้งสิ้น!

 

  • โรค NCDs คืออะไร สำรวจตัวเองว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่?

โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้  โรค NCDs อาทิเช่น 

 

โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง,  โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง ,โรคเบาหวาน , โรคมะเร็งต่างๆ , โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง , โรคไตเรื้อรัง ,โรคอ้วนลงพุง, โรคตับแข็ง ,โรคสมองเสื่อม เป็นต้น

 

สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทำให้คนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้มากกว่าคนอื่นๆ

 

  • ภาระหนักระดับชาติ เสนอเน้นการป้องกันมากกว่านโยบายจ่ายค่ารักษา!

เว็บไซต์ รัฐสภาไทย เผยแพร่บทความวิชาการ ฉบับที่ 6/2567 ในประเด็น งบประมาณรายจ่ายด้านการสาธารณสุข : ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นธรรม เพียงพอ และยั่งยืน โดยกล่าวถึงภาระของรัฐในการดูแลและรักษาโรค NCDs ไว้ว่า ภาวะการเจ็บป่วยของประชาชน เป้นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญต่อแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ โดยประชากรไทยมีอัตราการป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) และพฤติกรรมทางสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โรคที่ประชากรไทยป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคทางจิตเวช (กรมควบคุมโรค, 2566) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เหล่านี้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ในบทความดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางการจัดการของกองทุนสุขภาพต่างๆ ที่มีในประเทศไทยกับการจัดการปัญหาโรค NCDs ไว้ว่า

การลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในสังคมสูงวัยอาจเสริมด้วยการยกระดับแนว ทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกองทุนเดียวที่แจกแจงงบประมาณการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีเพียงสิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น

 

และเมื่อคำนึงถึงความยั่งยืนในอนาคต  "การจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาพยาบาลมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เพียงพอของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคต"

 

  • วิธีป้องกันโรค NCDs
  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. งดสูบบุหรี่
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ผ่อนคลายความเครียด
  8. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  9. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  10. หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์