posttoday

ส.ค.นี้ เปิด แพลตฟอร์มบริหารและติดตามการเพาะปลูกทุเรียน คว้าโอกาสส่งออก

02 กรกฎาคม 2567

ดีป้า เตรียมเปิดตัว แพลตฟอร์มบริหารและติดตามการเพาะปลูกทุเรียน ส.ค.นี้ หนุนสวนทุเรียน 1,000 สวน คว้าโอกาสส่งออก แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.5 พันล.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในเดือน ส.ค.2567 กระทรวงโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จะเปิดแพลตฟอร์มบริหารและติดตามการเพาะปลูกทุเรียน โดยมีเป้าหมาย 1,000 สวนทุเรียน ให้สามารถเชื่อมต่อระบบการส่งออกตามมาตรฐาน GAP คาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ 1,500 ล้านบาท โดยสาเหตุที่เริ่มนำร่องที่ทุเรียนก่อน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ที่ต่างชาติชื่นชอบ ทว่าตลาดส่งออกยังอยู่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง จันทบุรี และตราด ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการให้สวนทุเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้น

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยบริหารจัดการจำนวนการเพาะปลูกที่ส่งออกได้จริง ทำให้ไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อนเข้าสู่ระบบการส่งออก นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถช่วยให้ผู้ส่งออกทุเรียนเดิมสามารถต่ออายุมาตรฐานการส่งออกที่ต้องเดินทางไปต่อที่สำนักงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสามารถทำผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ทันที ขณะเดียวกันสวนทุเรียนที่ร่วมโครงการก็จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และการขอใบรับรองเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย โดยดีป้ายังมีการให้ความรู้ในการทำการตลาดดิจิทัลกับกลุ่มเป้าหมายด้วย

สำหรับจังหวัดนำร่อง นอกจากเป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ดีป้าก็ยังเปิดให้จังหวัดที่มีทุเรียนรสชาติเป็นอัตลักษณ์ และมีกลิ่นไม่แรง เหมาะสำหรับต่างชาติที่ไม่ชอบทุเรียนกลิ่นแรง เข้าร่วมโครงการด้วย คือ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช ยะลา และชุมพร