posttoday

ถ้ำสิงห์ โรบัสต้าชั้นเยี่ยมเพื่อคนไทยได้ดื่มกาแฟดี กวาดรายได้ปีละ 20 ล้าน!

10 กันยายน 2567

โพสต์ทูเดย์พาไปสำรวจแนวคิดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร จากวันที่คิดอยากรวมกลุ่มพัฒนากาแฟของตนเองจนกล้าการันตีถึงคุณภาพโรบัสต้าต้องไม่เปรี้ยว ต่อยอดสู่ความมั่นคงด้านน้ำให้พื้นที่การเกษตร และวันที่สร้างรายได้ให้ชุมชนถึงปีละ 20 ล้านบาท!

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตกาแฟโรบัสต้าในจังหวัดชุมพรที่มีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ การเก็บผลผลิต การตาก การสี และการคั่ว โดยใช้เวลาในการบ่มไว้กว่า 1 ปี ทำให้เมล็ดกาแฟของถ้ำสิงห์มีรสชาติเข้มข้น กลิ่นหอม และที่สำคัญซึ่งจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ ‘กาแฟโรบัสต้า’ ที่คนบอกว่า ‘เปรี้ยว’ ไปตลอดกาล!

 

ถ้ำสิงห์ โรบัสต้าชั้นเยี่ยมเพื่อคนไทยได้ดื่มกาแฟดี กวาดรายได้ปีละ 20 ล้าน!

 

 

  • จุดเริ่มต้นและแนวคิดกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์  ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนแก้ปัญหา ‘โรบัสต้าเปรี้ยว’ สำเร็จ

นายนิคม ศิลปศร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เล่าให้ฟังถึงที่มาของกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ว่า พื้นที่ชุมชนกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เริ่มต้นจากการปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมาตลอด จนกระทั่งปี 2532 ต้นกาแฟอายุเยอะ และรัฐบาลในยุคนั้นมองว่าควรลดพื้นที่ปลูกกาแฟ จึงมีการตัดต้นกาแฟและมาปลูกทุเรียนในลักษณะของพืชเชิงเดี่ยว แต่ปรากฎว่าการปลูกทุเรียนใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น จนเกิดการประกาศว่าพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์เป็นพื้นที่สีแดงที่ใช้สารเคมีหนัก จึงอยากคิดแก้ปัญหา

ชุมชนจึงคิดที่จะรื้อฟื้นการปลูกกาแฟอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มองว่าต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อ ปลูก แปรรูป และจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ ‘กาแฟถ้ำสิงห์’ โดยรื้อฟื้นการปลูกกาแฟโดยเฉพาะสายพันธุ์โรบัสต้า

เมื่อมีการปลูกขึ้นมาใหม่ สิ่งสำคัญคือชุมชนมีการปรับเปลี่ยนในขั้นตอนของการผลิตเพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามาใช้ เช่น แต่เดิมเก็บผลกาแฟสดโดยไม่ได้คัดเมล็ด และใช้วิธีตากพืชปูน ซึ่งกว่าจะแห้งใช้เวลา 20-25 วันทำให้เมล็ดกาแฟเน่า และมีรสเปรี้ยว ซึ่งส่งผลทำให้คนเข้าใจผิดว่ากาแฟโรบัสต้าเปรี้ยว

ปัจจุบันชุมชนมีการใช้ 'ตู้อบความร้อน' เข้ามาช่วย โดยเป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวของประเทศที่นำมาใช้กับการผลิตกาแฟ พัฒนามาจากตู้อบผลไม้ สาเหตุที่ต้องใช้เนื่องจากกาแฟภาคใต้จะเก็บเกี่ยวช่วงฤดูฝน เมล็ดที่เก็บมาแล้วหากไม่แห้งจะเจอเชื้อรา ทำให้เมล็ดกาแฟเสียหาย จึงต้องนำมาทำให้แห้ง ด้วยการอบความร้อนใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง และค่อยนำมาตากราว 5-7 วัน ซึ่งได้ประสิทธิภาพดีกว่า และลดเวลาจากเดิมที่ต้องใช้ราว 20-25 วัน  หลังจากนั้นจะนำเมล็ดมาบ่มใช้เวลา 4 เดือน ให้กาแฟแห้งดี จึงค่อยนำมาคั่ว เพื่อให้ได้กาแฟที่เข้มและหอม

 

นิคม ศิลปศร ประธานกลุ่มฯ

 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตกาแฟอื่นๆ  เช่น การใช้เครื่องจักรในการคั่วเมล็ดกาแฟ และการแปรรูปเป็นกาแฟรูปแบบต่างๆ ทำให้กาแฟถ้ำสิงห์มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดริป กาแฟสำเร็จรูป กาแฟกระป๋องพร้อมทาน เป็นต้น

โดยทางวิสาหกิจชุมชนฯ มีการจำหน่ายเมล็ดกาแฟไปยังเครือข่ายชุมชนกาแฟในจังหวัดชุมพรและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ และมีการเปิดสาขาร้านกาแฟถ้ำสิงห์อีกกว่า 6 สาขาในจังหวัดชุมพร และเตรียมขยายสาขาไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงในเร็วๆ นี้

 

 

นายนิคม เปิดเผยถึงจุดประสงค์ของการผลิตกาแฟสำหรับกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ว่า นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว กลุ่มยังต้องการให้คนไทยได้ดื่มกาแฟที่มีคุณภาพดี

 

"เพราะเราตั้งใจอยากให้นักดื่มกาแฟชาวไทยได้ดื่มกาแฟดีๆ มีคนถามผมว่ามีการส่งออกกาแฟถ้ำสิงห์ไปยังต่างประเทศหรือไม่ ผมก็บอกว่าผมไม่ส่งออก ผมต้องการให้คนไทยได้กินของดีๆ ถ้าเมื่อไหร่คนไทยได้กินแล้วค่อยว่ากันเรื่องส่งออก เวลาแข่งก็เลยได้แค่ที่ 2 ของประเทศ เพราะไม่ได้คะแนนส่งออกเลย”

 

ทุกวันนี้นอกจากผลิตภัณฑ์กาแฟสด กาแฟสำหรับชงแล้ว ชุมชนถ้ำสิงห์ยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ 'ลูกอมกาแฟ' ซึ่งชาวบ้านคิดค้นสูตรขึ้นมาเองโดยใช้วัตถุดิบในชุมชนอย่างกาแฟผสมกับน้ำตาลโตนด ได้รสเข้มและหวานหอมไปในตัว รวมถึงมีการออกแบบแพ็คเกจเตรียมเป็นของฝากให้แก่ผู้มาเยือน

 

ถ้ำสิงห์ โรบัสต้าชั้นเยี่ยมเพื่อคนไทยได้ดื่มกาแฟดี กวาดรายได้ปีละ 20 ล้าน!

 

  • กาแฟติดตลาด สู่ความมั่นคงทางน้ำและรายได้

ในปี 2560 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ได้พัฒนาในเรื่อง 'การบริหารจัดการน้ำ' โดยตัดสินใจทำธนาคารน้ำใต้ดิน

นายนิคม ระบุว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำเกษตร หากไม่มีน้ำพืชก็ตาย เพราะฉะนั้นชุมชนจึงจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมากักเก็บไว้ที่ชั้นบาดาล ซึ่งลึกราว 60 เมตร ปราศจากสิ่งปนเปื้อน และใช้วัสดุในการกักเก็บเป็นหิน โครงการดังกล่าวเห็นผลเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงแล้งที่ผ่านมา ชุมชนอื่นต้องขนน้ำหรือซื้อน้ำจากที่อื่นมาใช้ แต่ชุมชนถ้ำสิงห์ไม่เดือดร้อน ทั้งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรเลย

อีกประเด็นที่สำคัญคือ วัสดุเหลือทิ้งทางด้านการเกษตร ซึ่งประกอบด้วยกิ่งไม้ที่อยู่ในสวนและเปลือกกาแฟ ซึ่งปกติจะนำไปเผาและทิ้งข้างทาง ทำให้เกิดมลพิษและการแพร่ระบาดของโรคได้ ทางชุมชนได้มีการนำเอาเตามาเผาเปลือกกาแฟและกิ่งไม้ดังกล่าว  ผลปรากฎว่าเปลือกกาแฟที่เผานั้น พบค่าอินทรีย์วัตถุถึง 50% และได้ค่าความเป็นด่างด้วย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อบำบัดดินที่เป็นกรดจากการใช้สารเคมีในสวนทุเรียน สาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า  และประหยัดเงินจากการซื้อปุ๋ยเคมีในเวลาเดียวกัน 

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์  มีสมาชิกทั้งหมด 651 ราย และมีสมาชิกที่มีการซื้อขายผ่านกลุ่ม 125 ราย มีพื้นที่ปลูกรวม 1,250 ไร่ ทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 30 บาท  โดยในปี 2562-2563 สามารถสร้างรายได้กว่า 32.7 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 มีการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ปีเดียวที่ 21.18 ล้านบาท เลยทีเดียว

 

ถ้ำสิงห์ โรบัสต้าชั้นเยี่ยมเพื่อคนไทยได้ดื่มกาแฟดี กวาดรายได้ปีละ 20 ล้าน!

 

  • ธ.ก.ส. เข้าสนับสนุนด้านเงินทุน และการจัดจำหน่าย

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรถือเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์และอากาศที่เหมาะสม โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. พร้อมยกระดับผู้ประกอบการกาแฟกว่า 21 เครือข่ายในจังหวัดชุมพร ด้วยการชูกาแฟโรบัสต้า ของดีจังหวัดชุมพร มาสร้างมาตรฐานในทุกขั้นตอน

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ในด้านเงินทุนสำหรับต่อยอดและหมุนเวียนธุรกิจ รวมถึงมีการสนับสนุนช่องทางการตลาด ด้วยการให้พื้นที่ด้านหน้าสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ชุมพร (สกต. ชุมพร) ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การรับรองมาตรฐาน A-Product ให้แก่ผลิตภัณฑ์กาแฟถ้ำสิงห์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีนโยบายในการจัดทำฐานข้อมูล (Database) ที่มีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการตลาดและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน คิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด ควบคู่กับการต่อยอดสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายฐานไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงการเติมเงินทุนให้เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อ BCG เป็นต้น

โดย ธ.ก.ส.ตั้งเป้าที่จะเดินหน้ายกระดับกาแฟชุมพรไปสู่ผลิตภัณฑ์กาแฟโรบัสต้าแปรรูป อันดับ 1 ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากล และผลักดันเข้าสู่โมเดล BAAC Agro-Tourism เชื่อมโยงชุมชนและนักท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป.

 

ถ้ำสิงห์ โรบัสต้าชั้นเยี่ยมเพื่อคนไทยได้ดื่มกาแฟดี กวาดรายได้ปีละ 20 ล้าน!