posttoday

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน "แหนมวาสนา"

20 พฤศจิกายน 2567

เมื่อแม่เสียไป ทิ้งไว้เพียงความหวังในการสานต่อธุรกิจ ที่เริ่มต้นจากความรักและความตั้งใจของครอบครัว ทายาทรุ่นใหม่ของ "แหนมวาสนา" ซึ่งไม่เคยคิดจะเข้ามาทำธุรกิจ กลับต้องรับบทบาทสำคัญในการยกระดับแบรนด์ให้ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และความท้าทายในการทำตลาดต่างประเทศ

          บนเส้นทางของทายาทรุ่นที่สองที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว "แหนมวาสนา" ณัฐธีรยา ชัยวิสิทธิ์ หรือ นิชา ลูกสาวคนสุดท้องจากครอบครัวผู้ผลิตแหนมใบตองสูตรอีสานแท้ของย่านปากช่อง เล่าย้อนถึงชีวิตวัยเด็กอย่างอบอุ่นและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ว่า "เราโตมากับพ่อแม่ที่มาจากขอนแก่น และย้ายมาตั้งรกรากที่ปากช่อง พ่อแม่ของเรามีความตั้งใจจะนำอาหารพื้นถิ่นอย่าง แหนมห่อใบตอง มาเผยแพร่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยกับแหนมห่อใบตองในยุคนั้น" 

          เธอจำได้ว่าชีวิตในวัยเด็กนั้น ผูกพันกับการทำงานในครอบครัวอย่างลึกซึ้ง แม้จะไม่เข้าใจ หรือ ไม่ได้อินกับธุรกิจที่พ่อแม่ทำ ก็ตาม "พ่อจะขับรถกระบะพาเราไปส่งแหนมทั่วลพบุรี สระบุรี ส่วนแม่จะคอยทำแหนมอย่างประณีต แม่เคยบอกว่า อะไรที่ลูกกินได้ แม่ก็อยากให้ลูกค้ากินได้เหมือนกัน "

          30 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของร้าน "แหนมวาสนา" ยังเป็นเพียงร้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในห้องแถวธรรมดาๆ ความเป็นอยู่ในตอนนั้นเรียบง่ายมาก พ่อใช้รถกระบะคันเก่งเป็นพาหนะหลัก ขับออกไปส่งแหนมตามตลาดและร้านค้าต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\" แหนมวาสนา

          กิจการเริ่มเติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง เพราะในยุคนั้นยังไม่มีคู่แข่งในพื้นที่ ลูกค้าเริ่มติดใจในรสชาติแหนมแบบโบราณที่ไม่เหมือนใคร เมื่อเริ่มมีรายได้ พ่อก็ตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินและสร้างโรงงานเล็กๆ ขึ้นมาผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการที่มากขึ้น

          ในช่วงปี 2540 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตฟองสบู่แตก หลายธุรกิจล้มระเนระนาด แต่แหนมของ "แหนมวาสนา" กลับได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการหารายได้เสริม ลูกค้าหลายราย โดยเฉพาะข้าราชการและพนักงานบริษัทจากต่างจังหวัด ต่างพากันขับรถมาซื้อแหนมจากหน้าโรงงาน บางคนถึงขั้นมีออเดอร์ล่วงหน้า และนี่เองที่ทำให้หน้าโรงงานในยุคนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย บางครั้งถึงขั้นแย่งของกันอย่างจริงจัง

          "ตอนนั้นจำได้เลยว่า มีลูกค้าจากหลายจังหวัดมาเข้าแถวรอของจนถึงขั้นตบตีกันจริงๆ" นิชา เล่าพร้อมรอยยิ้ม "มันเป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะคนอื่นล้มแต่เรากลับโต เรามีโอกาสได้ช่วยคนเหล่านี้ให้มีอาชีพเพิ่มขึ้นด้วย"

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\" หมูยอแหนมวาสนา

          ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้จากปีนั้นช่วยให้ครอบครัวมีงบประมาณมากพอที่จะขยายกิจการ เปิดร้านขายของฝากในตัวเมืองปากช่อง นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ "แหนมวาสนา" กลายเป็นร้านแหนมชื่อดัง ใครๆก็เรียกแม่ว่าเจ๊วาส 

          ทว่า นิชา ก็ไม่ได้อินกับธุรกิจอาหารอีสาน เพราะไม่รู้ว่า ทำไมถึงขายดี เพราะคนรุ่นไหม่ ไม่กิน เมื่อเติบโตขึ้น นิชา จึงได้แต่งงานและย้ายครอบครัวไปทำธุรกิจอะไหล่รถยนต์ น้ำมันเครื่อง ร่วมกับสามีของเธอ ที่กรุงเทพฯ แม้จะอยู่ในสายงานที่ต่างจากครอบครัวโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เธอเรียนรู้จากองค์กรใหญ่ๆ ทำให้เธอเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ การสร้างระบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์

การกลับมาสานต่อธุรกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

          เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 คุณแม่ของเธอเริ่มดึงเธอกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ลูกๆ เรียนออนไลน์และเธอสามารถปรับตารางเวลามาศึกษากระบวนการผลิตในโรงงานได้อย่างจริงจัง

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\" ณัฐธีรยา ชัยวิสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 2 แบรนด์แหนมวาสนา

          "แม่สอนเราตั้งแต่กระบวนการเลือกวัตถุดิบจนถึงเคล็ดลับที่แม่สะสมมา แม่เหมือนจะเร่งรีบจนเราเองยังแปลกใจ เราต้องตื่นตี 4 ทุกวัน เรียนรู้อยู่อย่างนั้นเป็นปี" นิชา กล่าวด้วยแววตาที่เต็มไปด้วยความคิดถึง และเมื่อสูญเสียคุณแม่ไป เธอได้ตัดสินใจยืนหยัดที่จะสานต่อธุรกิจให้ดีที่สุด

วันเผาศพคุณแม่ ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเหมือนย้อนกลับเข้ามาในหัว ความทรงจำเกี่ยวกับคำสั่งสอนของแม่ที่เคยปลุกเราตั้งแต่ตี 4 เพื่อสอนงาน ความจ้ำจี้จ้ำไชของแม่ที่เราสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องเป็นเรา จู่ๆ ก็เหมือนคำตอบมันชัดเจนขึ้นมาในตอนนั้น

          ทั้งหมดที่แม่ทำ เหมือนแม่รู้ล่วงหน้าว่าเวลาของแม่ใกล้เข้ามา และแม่อยากส่งต่อสิ่งที่แม่สร้างไว้ให้เธออย่างสมบูรณ์แบบ ณ วินาทีนั้น เธอได้แต่บอกกับตัวเองในใจว่า จะสานต่องานทุกอย่างของแม่ จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

         รุ่งขึ้นหลังงานศพ ขณะที่เราเดินตรวจโรงงาน ลูกน้องหลายคนเข้ามากอด นิชา ได้แต่บอกพวกเขาว่า ไม่ต้องห่วงนะ ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เดี๋ยวฉันจะดูแลต่อเอง จากนั้นเธอก็เรียกประชุมทีมงานทั้งโรงงาน บอกทุกคนว่าให้ตั้งใจทำงานต่อไปเหมือนเดิม เพราะแม่รักพวกเขาทุกคน และเธอเองก็นับถือทุกคนเหมือนกัน ทุกคนต้องก้าวไปด้วยกัน ไม่มีใครต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะลูกน้องของแม่เป็นคนเก่าแก่ที่ทำงานกันมาอย่างยาวนาน

ปรับตัวและพัฒนาแบรนด์ "แหนมวาสนา" ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

          ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด แหนมวาสนา นิชา เริ่มพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประสบการณ์จากอุตสาหกรรมก่อนหน้า เธอปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานบางส่วน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น แหนมไก่ แหนมปลากราย หมูยอไก่ หมูส้มแท่ง และปลาส้มฟัก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เธอไม่สามารถยึดติดกับสูตรเดิมๆ ได้อีกต่อไป

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\" แหนมปลากรายแหนมวาสนา

          นิชา เริ่มหันกลับมามองที่ตัวเองและองค์กรอย่างจริงจัง ตั้งคำถามกับตัวเองว่า แหนมวาสนาคือใคร? เราทำอะไร? อะไรคือศักยภาพของเรา? และที่สำคัญ ทำไมลูกค้าถึงยังอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้?

          คำถามเหล่านี้ ทำให้ นิชา ย้อนกลับมาวิเคราะห์ธุรกิจอย่างละเอียด เธอเริ่มมองหาจุดแข็ง จุดอ่อน และเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่ทำ สิ่งหนึ่งที่เธอค้นพบอย่างชัดเจนคือ อาหารอีสานมีเสน่ห์ในตัวเอง ทั้งในด้านวัฒนธรรม เรื่องเล่า และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แม้กระทั่งภาษาอีสานเองยังมีเสน่ห์ที่ดึงดูดใจ

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\"

          เมื่อมองลึกลงไป นิชา พบว่าความพิเศษของอาหารอีสานอยู่ที่ความหลากหลายของรสชาติ ทั้งเปรี้ยว เผ็ด แซ่บ และนัว ทุกอย่างถูกผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น ส้มตำที่ไม่เพียงเป็นอาหารพื้นบ้าน แต่ยังสามารถโกอินเตอร์ไปไกลถึงต่างประเทศได้ นี่เป็นตัวอย่างของความมีเสน่ห์ที่อาหารอีสานนำเสนอ

          นิชา กลับมาตระหนักว่า แบรนด์ "แหนมวาสนา" เองก็มี DNA ของความเป็นอีสานอย่างชัดเจน และอาหารอีสานก็เป็นสิ่งที่ เธอรักและเติบโตมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยคุณย่า จนมาถึงรุ่นพ่อ และ แม่ โดยที่เธอ ไม่รู้ตัว  เธอเริ่มเชื่อว่า ความเป็นอีสานคือจุดแข็ง และมันไม่ได้อยู่แค่ในจานอาหาร แต่มันคือเรื่องราว วัฒนธรรม และความภาคภูมิใจที่สามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่และแม้แต่คนทั่วโลก

          เมื่อเธอรักในสิ่งที่ทำ ก็จะสามารถส่งต่อความรักนั้นไปถึงคนอื่นได้ นี่คือความเชื่อที่ทำให้เธอกลับมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตจากรากฐานที่รู้จักดีที่สุด นั่นก็คือ ความเป็นอีสาน

          ปี 2565 ถือเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับหนึ่งในอุปสรรคที่ท้าทายที่สุดในธุรกิจ นั่นคือ ยุคหมูแพงทั้งแผ่นดิน ราคาหมูทะยานสูงถึงกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท วัตถุดิบหลักของ แหนมวาสนา กลายเป็นสิ่งที่หายากและมีต้นทุนสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

          เธอเล่าย้อนไปก่อนหน้านั้นในช่วงโควิด-19 ธุรกิจของเธอเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้านและหันมาเก็บสต๊อกอาหารแห้ง เช่น กุนเชียง หมูหยอง ทำให้สินค้าของ แหนมวาสนา ขายดีเป็นพิเศษ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหมูแพง ทุกอย่างกลับตาลปัตร จึงต้องหาทางรับมือกับสถานการณ์นี้ให้ได้

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\" หมูส้มแหนมวาสนา         

          วิธีแรกที่เราทำคือการปรับไซส์สินค้าให้เล็กลง เช่น จาก 400 กรัม ลดเหลือ 360 กรัม เพื่อให้ราคาสินค้าลดลง แต่ยังคงคุณภาพและวัตถุดิบที่ดีเหมือนเดิม การปรับนี้ช่วยให้สินค้าของ แหนมวาสนา ยังสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ และตอบโจทย์ครอบครัวขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในยุคนี้

          แต่แค่นั้นยังไม่พอ เธอเริ่มตระหนักว่า การพึ่งพาหมูเป็นวัตถุดิบหลักเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ จึงหันไปมองวัตถุดิบอื่นๆ ที่ยังมีราคาย่อมเยา เช่น ไก่และปลา ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง แหนมไก่ (ไก่ส้ม) และ ปลาส้ม ที่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นอาหารอีสาน

          เมื่อทดลองทำตลาด ผลตอบรับดีเกินคาด แหนมไก่และปลาส้มกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดี โดยเฉพาะแหนมไก่ที่ได้รับความนิยมสูงกว่าหมูในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพัฒนาหมูยอไก่แบบใหม่ให้มีขนาดยาว เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้สินค้า ผลปรากฏว่าตลาดไก่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลา ซึ่งตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\"

         ปลาส้มฟักแหนมวาสนา

          นอกจากนี้ เธอยังให้ความสำคัญกับการจัดการฟู้ดเวสต์ที่ไม่เพียงลดการสูญเสีย แต่ยังเปลี่ยนให้กลายเป็นโอกาสใหม่

           กระบวนการผลิตปลาส้ม จากการใช้ปลาตะเพียนเป็นวัตถุดิบหลัก มีสิ่งหนึ่งที่ต้องเจอเสมอคือ “ไข่ปลา”

          แรกเริ่ม ไข่ปลาที่เหลือจากการผลิตมักจะถูกแจกจ่ายให้คนงาน หรือบางครั้งก็ถูกทิ้งไปเพราะไม่มีแผนการใช้งานที่ชัดเจน จนวันหนึ่ง เธอหันกลับมามองว่าแท้จริงแล้ววัตถุดิบนี้มีศักยภาพมากแค่ไหน หลังจากทดลองและพัฒนา นิชา ก็พบคำตอบที่น่าตื่นเต้น

          นิชา ได้นำไข่ปลาตะเพียนมาทำ ข้าวเกรียบปลา ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงช่วยลดของเหลือจากกระบวนการผลิต แต่ยังกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในเวลาไม่นาน ด้วยรสชาติที่อร่อยและคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่น

          ตอนนี้แบรนด์ แหนมวาสนา ได้พัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายปัจจุบันมีสินค้า 17 รายการ  77 SKU การปรับตัวครั้งใหญ่ในยุคหมูแพงไม่เพียงช่วยให้เธอฝ่าวิกฤตมาได้ แต่ยังทำให้เธอค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ที่ช่วยให้แบรนด์เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\"

สินค้าของแบรนด์ แหนมวาสนา

          ทำให้ตอนนี้ แหนมวาสนา มีสินค้าที่สามารถฉีกซองทานได้เลย สามารถเข้าไมโครเวฟได้ เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่อยู่คอนโดมิเนียม สามารถหาซื้อได้ตามเดอะมอลล์ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ และช่องทางออนไลน์ line : @vassana ,Tiktok : vassasa-shop,Lazada : vassana506 และ Shopee : vassana วาสนา

ส่งต่อเสน่ห์อาหารอีสานสู่ตลาดโลก

          "อาหารอีสานมีเสน่ห์ในตัวมันเอง ทั้งรสชาติ ทั้งวัฒนธรรม" นิชา กล่าวถึงแผนการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและจีน และต่อยอดสู่ยุโรป รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าสู่ตลาด

          นิชา ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาอาหารฮาลาลในกลุ่มปลา เช่น แหนมปลากาย ปลาส้มฟัก หนังไก่พริก ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

          ในมุมมองของ นิชา  อาหารไทย-อีสานไม่ได้เป็นแค่อาหารพื้นถิ่นอีกต่อไป แต่คือสะพานที่สามารถเชื่อมวัฒนธรรมไทยสู่สากลได้ ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์และเรื่องราวเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยเสน่ห์

“นิชา” ทายาทผู้ไม่เคยคิดทำธุรกิจครอบครัว สู่การสานต่ออาหารอีสาน \"แหนมวาสนา\"

   แหนมวาสนาเมนูประหยัด ต้นทุนน้อย

          ขณะเดียวกัน นิชา ยังมองเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมจากกระบวนการผลิตอาหารอีสานแบบดั้งเดิม เช่น การหมักดอง โดยอยู่ระหว่างหาแนวทางวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ เพื่อศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะต่อยอดไปในด้านสุขภาพ เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพรีไบโอติก

          เธอเชื่อว่า อาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่เรากิน แต่เป็นการเล่าเรื่องราว และสิ่งที่พ่อแม่สร้างไว้ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่มันคือการรักษามรดกและถ่ายทอดวัฒนธรรมอีสานผ่านอาหาร