posttoday

อินเดียพบโควิดสายพันธุ์เดลตาทำผู้ป่วยหูดับ-เนื้อเน่า

10 มิถุนายน 2564

ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในอินเดียมีอาการเนื้อตายเน่า-หูดับ แพทย์ยอมรับสายพันธุ์นี้คาดเดาอาการป่วยไม่ได้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดียซึ่งแพร่ระบาดไปกว่า 60 ประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อมีภาวะลิ่มเลือดซึ่งนำไปสู่เนื้อตายเน่า สูญเสียการได้ยิน รวมไปถึงปวดท้องอย่างรุนแรง

โดยแพทย์ในอินเดียสันนิษฐานว่าอาการดังกล่าวเชื่อมโยงกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ขณะที่คเณช มณูเดน แพทย์ในเมืองมุมไบระบุว่าผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดจนเนื้อเยื่อได้รับผลกระทบและเกิดเนื้อตายเน่าในที่สุด

โดยเมื่อปีที่แล้วเขาพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเพียง 3 ถึง 4 รายเท่านั้นแต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเกิดอาการเนื้อตายเน่าถึง 1 รายต่อสัปดาห์

พร้อมเผยว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาตนได้รักษาผู้ป่วย 8 รายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากอาการลิ่มเลือดอุดตันโดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 2 รายที่ต้องตัดนิ้วมือหรือนิ้วเท้า

แพทย์เสริมว่าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาการเนื้อตายเน่าภายใน 24 ชั่วโมงอาจลดโอกาสในการรอดชีวิตถึง 50% เนื่องจากเป็นอาการที่รุนแรงและมีโอกาสกระทบทุกส่วนของร่างกาย

นอกจากนี้เฮตัล มาร์ฟาเทีย ศัลยแพทย์หูคอจมูกที่โรงพยาบาลในเมืองมุมไบเปิดเผยว่าผู้ป่วยบางรายยังมีอาการสูญเสียการได้ยิน คอบวม และต่อมทอนซิลอักเสบขั้นรุนแรง พร้อมระบุว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในอินเดียนั้นแต่ละคนมีอาการแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ แพทย์ชี้ว่าโควิด-19 เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทสมองดังที่เห็นรายงานผู้ป่วยมีอาการอัมพาตของเส้นประสาทบนใบหน้ารวมถึงการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาทรับกลิ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่โควิด-19 จะทำให้เส้นประสาทการได้ยินบกพร่อง

โดยก่อนหน้านีผู้ป่วยมักมีอาการทั่วไปเช่น ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร หรือปวดตามข้อ แต่ขณะนี้อาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้

อย่างไรก็ตามแพทย์ระบุว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไปเพื่อวิเคราะห์ว่าอาการที่พบเหล่านี้เชื่อมโยงกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจริงหรือไม่

Photo by Diptendu DUTTA / AFP