posttoday

เครื่องเพชรโค่นบัลลังก์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

26 กันยายน 2564

เครื่องเพชรที่เคยเป็นของมารี อ็องตัวแน็ต (Marie-Antoinette) ถูกนำประมูลที่เจนีวา แต่มันมีเรื่องราวเบื้องหลังอย่างไร?

บริษัทคริสตี้ส์ (Christie's) นำสร้อยข้อมือเพชรอันวิจิตรสองชิ้นที่เป็นของราชินีฝรั่งเศสมารี-อองตัวแนตต์ออกประมูลที่เจนีวาในปลายปีนี้

สร้อยข้อมือทั้งสองประดับด้วยด้วยเพชรแพราวพราวทั้งหมด 112 เม็ดจะนำออกประมูลร่วมกันและคาดว่าจะดึงเงินได้ระหว่าง 2-4 ล้านดอลลาร์เมื่อนำออกประมูลในวันที่ 9 พฤศจิกายน

มารี-เซซิเล ซิซาโมโล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับของ Christie's กล่าวกับ AFP ว่า ผู้ที่ประมูลได้ “ไม่เพียงแต่รวมถึงมูลค่าที่แท้จริงของเพชรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะสวมใส่เครื่องประดับที่พระราชินีมารี-อองตัวแนตต์ผู้มีชื่อเสียงเคยสวมด้วย”

อัญมณีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้อาจทำราคามากกว่าที่คาดการณ์กันไว้

“ดังที่เห็นในการประมูลที่เจนีวาเมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดอัญมณีที่มีที่มาอันสูงส่งยังมียอดขายอย่างดีเยี่ยม” ฟรองซัวส์ คูเรียล ประธานแผนกสินค้าหรูหราของคริสตี้ กล่าวในแถลงการณ์

เครื่องเพชรโค่นบัลลังก์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

ในปี 2018 จี้มุกธรรมชาติและเพชรที่เป็นของมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีฝรั่งเศสผู้เคราะห์ร้ายถูกประเมินโดยบริษัทประมูล Sotheby ที่ 1-2 ล้านดอลลาร์ แต่ราคาหลังการประมูลพุ่งไปถึง 36 ล้านดอลลาร์

มารี อ็องตัวแน็ต ราชินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ ทรงถูกประหารชีวิตในปารีสในเดือนตุลาคม 1793 เมื่อพระชนมายุเพียง 37 พรรษา หลังการปฏิวัติฝรังเศส ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อความฟุ้งเฟ้อของพระองค์

แต่ซิซาโมโล กล่าวว่าไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์เบื้องหลังเท่านั้นที่ทำให้สร้อยข้อมือมีความพิเศษ โดยชี้ไปที่เพชรขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ประมาณ 1 - 4 กะรัต

“การวัดขนาดที่แน่นอนเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากเพชรเหล่านี้เป็นเพชรโบราณ และในสมัยนั้นขนาดก็แม่นยำน้อยกว่า” เธออธิบาย

แม้ว่าการเจียรไนเพชรโบราณจะขาดความแม่นยำไม่เหมือนอัญมณีที่เจียระไนด้วยเลเซอร์ในปัจจุบัน แต่ซิซาโมโล ได้เน้นย้ำถึงเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเพชรโบราณ

โดยรวมแล้ว Christie's ประมาณการว่ากำไลนั้นประกอบด้วยเพชรถึง 140 ถึง 150 กะรัต แต่ละชิ้นประกอบด้วยอัญมณีสามแถวและสามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและสวมใส่เป็นสร้อยคอได้

เครื่องเพชรโค่นบัลลังก์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

ตามที่ Christie's เปิดเผยข้อมูลไว้ พระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้สั่งกำไลจากนักอัญมณี ชาร์ลส์ โอกุสต์ เบอฮ์เมอร์ (Charles August Boehmer) พ่อค้าเพชรในกรุงปารีสในปี 1776 สองปีหลังจากที่พระนางดำรงตำแหน่งพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

พระนางทรงซื้อสร้อยข้อพระหัตถ์โดยทรงจ่ายเงิน 250,000 ลีฟ (ประมาณ 1,617,041 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) ซึ่งในเวลานั้นเป็นจำนวนเงินมหาศาล ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสประสบกับความทุกข์ยากนานาประการ 

รสนิยมของอัญมณีล้ำค่าของราชินีเป็นที่เลื่องลือและทำให้พระนางถูกพระราชมารดาคือจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาทรงตำหนิในเรื่องนี้

แต่พ่อค้าเพชรรายนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ตมากกว่าแค่สร้อยข้อมือเพชรเส้นเดียว ยังมีเครื่องเพชรอีกชุดหนึ่งที่เปลี่ยนชะตาชีวิตของพระนางโดยสิ้นเชิง

ทรงได้สร้อยข้อพระหัตถ์นี้มาในปี 1776 แต่หลังจากนั้นชื่อเสียงของพระองค์ก็ปรากฏในทางไม่ดีในสายตาของประชาชน เพราะทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย จนกระทั่งเกิดกรณีสร้อยพระศอ หรือ Affaire du collier de la reine อันเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาตร์อันอื้อฉาวของฝรั่งเศสในประมาณปี 1780

ก่อนหน้านั้น ชาร์ลส์ โอกุสต์ เบอฮ์เมอร์ ได้รวบรวมเพชรที่มีขนาดและความชัดเจนเป็นพิเศษมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อทำเป็นสร้อยคอมูลค่า 1.8 ล้านลีฟ (ราว 14.5 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเขาหวังว่าจะขายให้กับมาดาม ดูบาร์รี (Madame Dubarry) สนมลับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แต่หลังจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สวรรคตไปเสียก่อน เครื่องประดับชิ้นนี้กลายเป็นที่รู้จักทั่วยุโรป แต่ทุกหนทุกแห่งผู้คนต่างปฏิเสธเพราะรับราคาไม่ไหว

ในปี 1778 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสนอจะพระราชทานสร้อยพระศอนี้ให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ต แต่พระนางปฏิเสธเพราะราคาสูง โดยมีบันทึกว่า ทรงประกาศว่าควรจะใช้เงินในการสร้างเรือได้ดีกว่า ขณะที่ฝรั่งเศสเพิ่งเข้าร่วมกองกำลังกับกลุ่มกบฏอเมริกัน (สงครามประกาศเอกราชอเมริกัน) ตรัสเสริมว่าสร้อยคอจะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยสำหรับพระองค์เพราะพระองค์ไม่ทรงเครื่องเพชรไม่เกิน 4 ถึง 5 ครั้งต่อปี

แต่ก็มีบันทึกว่าทรงไม่อยากจะซื้อของที่ออกแบบไว้สำหรับมาดาม ดูบาร์รี บ้างก็ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเปลี่ยนพระทัยไม่ซื้อให้

แต่กลับมีขบวนการแอบอ้างชื่อของพระนางเพื่อที่จะซื้อขายสร้อยพระศอเพชรนี้ แม้จะมีการกวาดล้างขบวนการได้ แต่เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความไม่พอใจของชาวฝรั่งเศสต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ชื่อเสียงของมารี อ็องตัวแน็ตยิ่งย่ำแย่ลงจากกรณีนี้ ประวัติการใช้จ่ายเงินมากเกินไปในช่วงแรกๆ ของพระนางบวกกับกรณีสร้อยพระศอยิ่งทำให้ประชาชนเพิ่มความเกลียดชัง เพราะคิดว่าพระนางถลุงเงินของอาณาจักรไปในทางที่ผิดเพื่อซื้อเครื่องประดับเป็นการส่วนตัว

แม้จะไม่ได้ซื้อสร้อยพระศออันอื้อฉาว อย่างไรก็ตามมันก่อให้เกิดความไม่พอใจในตัวพระนางและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เครื่องเพชรโค่นบัลลังก์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

พระนางมารี อ็องตัวแน็ตถึงจะไม่เกี่ยวข้องในกรณี Affaire du collier de la reine  แต่ความคิดเห็นของสาธารณชนนั้นตรงกันข้ามเพราะไม่อยากจะเชื่อในความบริสุทธิ์ขององค์ราชินี เนื่องจากทรงถูกกล่าวหาเป็นเวลานานว่ามีส่วนร่วมด้วยการใช้จ่ายที่มากเกินไปจนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณของราชอาณาจักร ความไม่พอใจนี้จะแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลุกฮือขึ้น

จนในที่สุดการปฏิวัติก็เกิดขึ้น เพราะความไม่พอใจของประชาชนจากปัญหานานาประการ กรณี Affaire du collier de la reine ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ก่อนที่จะพยายามหลบหนีจากฝรั่งเศสพร้อมกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงส่งอัญมณีของพระนางไปนอกประเทศเสียก่อน

พวกมันถูกส่งไปยังกรุงบรัสเซลส์ซึ่งปกครองโดยอาร์ชดัชเชสมารี-คริสตีนพระกนิษฐา (น้องสาว) ของพระนางก่อนที่จะถูกส่งไปยังออสเตรียบ้านเกิดของพระนางซึ่งปกครองโดยพระราชนัดดาของพระนาง

แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และมารี อ็องตัวแน็ตไม่รอดเงื้อมมือการปฏิวัติ ในปี 1792 ราชวงศ์ถูกคุมขังในปารีส กษัตริย์และราชินีถูกประหารชีวิตในปีต่อมา และหลุยส์ที่ 17 โอรสพระชนมายุเพียงวัย 10 พรรษาสิ้่นพระชนม์ในที่คุมขัง

มีเพียงพระราชธิดาคือ มารี-เตแรส แห่งฝรั่งเศสเท่านั้นที่รอดชีวิต พระองค์ได้รับการปล่อยตัวในเดือนธันวาคม1795 และถูกส่งไปยังออสเตรียซึ่งพระองค์ได้รับอัญมณีของพระราชมารดาสืบทอดต่อไป จนกระทั่งมันตกมาถึงสถาบันประมูล

“เพชรพลอยเหล่านี้สามารถสืบย้อนไปถึงมารี-อองตัวแนตต์ได้” ซิซาโมโลกล่าว พร้อมเสริมว่า เธอหวังว่าใครก็ตามที่ซื้อมันมา “จะหวงแหนพวกเขาไปตลอดชีวิต”

“คุณไม่เพียงแต่สวมสิ่งที่มารี อ็องตัวแน็ตทรงสวมเท่านั้น” เธอกล่าว "เพชรเป็นสิ่งพิเศษ"

Photo by Fabrice COFFRINI / AFP