ปิดตำนานอาหารพิสดารพันปี ถึงเวลาเกาหลีเลิกกินเนื้อหมา
ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้แย้มเรื่องการห้ามกินเนื้อสุนัขท่ามกลางการโต้เถียงเรื่องสิทธิสัตว์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าประธานาธิบดีมุน แจ-อินของเกาหลีใต้กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าอาจมีความจำเป็นต้องห้ามการบริโภคเนื้อสุนัข ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการกินเนื้อสุนัขที่เป็นข้อขัดแย้งในสังคมมานานและความตระหนักในสิทธิสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ
แม้ว่าจะแพร่หลายเหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ตาม แต่เนื้อสุนัขส่วนใหญ่ยังเป็นอาหารที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุและให้บริการในร้านอาหารบางแห่งและสามารถซื้อได้ที่ตลาดเฉพาะ
มุน แจ-อินกล่าวหลังได้รับฟังการบรรยายสรุปจากนายกรัฐมนตรี คิม บู-คยอม เกี่ยวกับความพยายามที่จะปรับปรุงการจัดการสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง และระบบการขึ้นทะเบียนบังคับสำหรับสุนัข
“หลังจากการบรรยายสรุป เขากล่าวว่าถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาการสั่งห้ามกินเนื้อสุนัขอย่างรอบคอบแล้ว” พัค คยอง-มี โฆษกหญิงของมุน แจ-อิน กล่าวในแถลงการณ์
นับเป็นครั้งแรกที่มุน แจ-อินออกคำสั่งห้าม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับความหยายามสั่งห้ามกินเนื้อสุนัขครั้งใหม่
อาหารที่มีมานานนับพันปี
การกินเนื้อสุนัขในเกาหลีน่าจะมีมานานตั้งแต่ยุคสามอาณาจักร (ซัมกุก) ในช่วงศตวรรษที่ 1 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน หลังจากนั้นด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แพร่เข้ามาทำให้ชาวเกาหลีไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่
คาดว่าการกินเนื้อสุนัขในเกาหลีน่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลังของราชวงศ์โครยอ การกินเนื้อสุนัขแพร่หลายโดยการชักนำชาวชี่ตานซึ่งเป็นชนแผ่าเร่ร่อนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและเป็นผู้อพยพจากสงครามที่ทะลักเข้าไปในโครยอระหว่างการรุกรานของชาวมองโกล
ก่อนหน้านี้ด้วยอิทธิพลพุทธศาสนา ทำให้ชาวเกาหลีไม่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่หลังจากที่ชาวมองโกลรุกราชวงศ์โครยอจึงได้มีคำสั่งยกเลิกการห้ามเนื้อวัวและอนุมัติให้มีการบริโภคเนื้อสัตว์
ในช่วงราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1392–1910) ชนกลุ่มน้อยชี่ตานที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาได้กลายเป็นคนในสังคมเกาหลี และกลายเป็นชนชั้นที่เรียกว่า "แพคจอง" ซึ่งเป็นชนชั้นที่ทำอาชีพค้าเนื้อถือเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดของสังคม รัฐบาลโชซอนมอบหมายงานให้แพคจองจัดการกับปัญหาสุนัขป่า ดังนั้นเนื้อสุนัขจึงกลายเป็นอาหารของคนยากจน (และชนชั้นล่าง) นับแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงราชวงศ์โชซอน เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนโต้แย้งว่าสุนัขเป็นเพื่อนมนุษย์และต้องการห้ามการบริโภคเนื้อสุนัข แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีมีความเห็นไม่ลงรอยกันเรื่องการกินเนื้อสุนัขมาตั้งแต่โบราณแล้ว
ในราวปี 1816 ช็อง ฮัก-ยู ลูกชายคนที่สองของ ช็อง ยัก-ยองซึ่งเป็นนักการเมืองและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์โชซอนในขณะนั้น ได้เขียนบทกวีชื่อ "นงกา วอลยองกา" บทกวีนี้ซึ่งเป็นที่มาที่สำคัญของประวัติศาสตร์พื้นบ้านเกาหลี อธิบายถึงสิ่งที่ครอบครัวชาวนาเกาหลีทั่วไปทำในแต่ละเดือนของปี ในคำอธิบายของเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อนกวีบทนี้เล่าถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไปเยี่ยมพ่อแม่โดยนำเอาของไปฝากคือเนื้อสุนัขต้ม ขนมข้าว และเหล้าข้าวหมักซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของเนื้อสุนัขในยุคสมัยนั้น
อาหารตามประเพณี
เนื้อสุนัขมักถูกบริโภคในช่วงฤดูร้อนและนำไปย่างหรือปรุงเป็นซุปหรือสตูว์ ซุปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ "แคจังกุก" ซึ่งเป็นสตูว์รสเผ็ดที่มีไว้เพื่อปรับสมดุลความร้อนของร่างกายในช่วงฤดูร้อนเพื่อปรับสมดุลหรือพลังชี่ (ลมราณ) ตามหลัการแพทย์แผนจีน สูตรการปรุงแคจังกุกศตวรรษที่ 19 ระบุว่าการปรุงจะทำโดยการต้มเนื้อสุนัขด้วยหัวหอมและพริกป่น บางครั้งใส่เนื้อไก่และหน่อไม้
ในตำราอาการ "อึมชิก ดีมีบัง" ในสมัยโชซอนกล่าวถึงการปรุงเนื้อสุนัขไว้ว่า เอาไว้ทำ "ซุนแด" หรือใส่กรอกเลือด เนื่องจากเนื้อสุนัขมีกลิ่นสาบแรงจึงต้องปรุงโดยใส่เครื่องปรุงมากๆ แบบใส้กรอก
ในตำราทางการแพทย์ "ทงอึย โบกัม" รวบรวมหลังการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อสุนัข ระบุว่าช่วยเพิ่มพลังงานด้วยการผ่อนคลายลำไส้ทั้งห้า ควบคุมหลอดเลือด เสริมสร้างลำไส้และกระเพาะอาหาร และทำให้เอวและเข่าอุ่นขึ้นด้วยการผ่อนคลายไขกระดูก
ประเด็นหาเสียงที่ร้อนแรง
แต่นั่นเป็นเรื่องโบราณนานมาแล้ว นับวันชาวเกากหลียิ่งเมินกับการกินเนื้อสุนัข และเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนได้ให้คำมั่นที่จะห้ามกินและซื้อขายเนื้อสุนัขโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขกลายเป็นที่นิยมในฐานะสัตว์เลี้ยงและกลุ่มผู้สนับสนุนได้เรียกร้องให้เกาหลีใต้ปิดร้านอาหารและตลาดขายเนื้อสุนัข
อี แจ-มย็องผู้ว่าการจังหวัดคย็องกีที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ และผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีชั้นนำจากพรรคของมุน แจ-อินได้ให้คำมั่นว่าจะผลักดันการห้ามกินเนื้อสุนัขผ่านการทำฉันทามติทางสังคม
แต่ ยุน ซ็อก-ยอลผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่ามันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล
โพลที่จัดทำโดยกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์ Aware ที่เผยแพร่ในเดือนนี้ กล่าวว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการผลิตและจำหน่ายเนื้อสุนัขและแมวควรเป็นสิ่งต้องห้าม และ 49% สนับสนุนการห้ามบริโภค
อย่างไรก็ตาม การสำรวจอีกครั้งหนึ่งโดยบริษัทสำรวจความเห็น Realmeter พบว่าผู้คนยังเสียงแตกว่ารัฐบาลควรห้ามกินเนื้อสุนัขหรือไม่ แม้ว่า 59% จะสนับสนุนข้อจำกัดทางกฎหมายในการฆ่าสุนัขเพื่อการบริโภคของมนุษย์
คนขายเนื้อสุนัขยืนกรานในสิทธิในการประกอบอาชีพ โดยกล่าวว่าชีวิตของพวกเขาจะยากลำบากหากมีคำสังห้ามกินหรือซื้อขาย
Photo by handout / The Blue House / AFP