เงินเดือนปีหน้าขึ้น 5.5% ย้ายงานต่ำแต่ประมาทไม่ได้
พอเข้าช่วงปลายปีทีไร มนุษย์เงินเดือนต่างใจจดใจจ่อกับการประกาศขึ้นเงินเดือน
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
พอเข้าช่วงปลายปีทีไร มนุษย์เงินเดือนต่างใจจดใจจ่อกับการประกาศขึ้นเงินเดือน แต่จากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้โตหวือหวา แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนปีหน้าก็อาจไม่ตื่นเต้นอย่างที่หลายคนหวัง
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำผลสำรวจความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน ประจำปี 2559 พบว่า แนวโน้มทุกอุตสาหกรรมปี 2560 ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5.5% ระดับเดียวกับที่ปรับในปี 2559 แต่อัตราเงินที่ได้เพิ่มจริงจะต่ำกว่า เพราะเมื่อนำเงินเดือนที่เพิ่มหักด้วยเงินเฟ้อ เท่ากับปี 2560 มีอัตราเงินได้เพิ่ม 4.4% ส่วนปี 2559 หักลบแล้วมีอัตราเงินเพิ่ม 5.3%
แม้ผลสำรวจนี้จะทำก่อนรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในหลายจังหวัด แต่คาดว่าเมื่อรวมปัจจัยนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้ทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนปีหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินนัก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขึ้นเงินเดือนสูงสุดคือ ประกันชีวิต เพิ่ม 6% เท่ากับที่เพิ่มปีนี้ เพราะเป็น กลุ่มที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้จากการที่จำนวนผู้ทำประกันชีวิตในไทยยังต่ำ และการแข่งขันในตลาดแรงงานยังมี
ด้านทิศทางการให้โบนัสปีนี้ คาดว่าภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 เท่าของ เงินเดือน กลุ่มที่มีแนวโน้มจ่ายสูงสุดคือ ธนาคารพาณิชย์และบริการการเงิน 3.0 เท่า รองลงมาคือ ประกันชีวิต 2.9 เท่า กลุ่มที่จ่ายต่ำสุด คือ อิเล็กทรอนิกส์ 1.8 เท่า เช่นเดียวกับ ประกันทั่วไป 1.8 เท่า
พิชญ์พจี กล่าวว่า แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนและโบนัสไม่หวือหวา ทำให้การโยกย้ายเปลี่ยนงานในตลาดแรงงานไม่หวือหวาเช่นกัน เพราะองค์กรยังไม่หาคนที่มีความสามารถ (ทาเลนต์) เชิงรุก ทำให้โอกาสเปลี่ยนงานลดตาม สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่มีแนวโน้มเติบโต 3% เช่นเดียวกับปีนี้ เมื่อไหร่ที่จีดีพี กลับไปโต 4-5% จึงจะเห็นตลาดแรงงานกลับมาโยกย้ายเปลี่ยนงานกันคึกคักอีกครั้ง
ทั้งนี้ อัตราการลาออกของพนักงาน (เทิร์นโอเวอร์) ปีนี้ของไทยอยู่ที่ 12% ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 14% ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีเทิร์นโอเวอร์ 12.6% เมื่อดูรายอุตสาหกรรมพบว่า เทิร์นโอเวอร์เกือบทุกอุตสาหกรรมลดลง ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน ประกันทั่วไป ประกันชีวิต สินค้าไฮเทค มีเพียงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่เทิร์นโอเวอร์เพิ่มจาก 12% เมื่อปี 2558 เป็น 16% ในปี 2559 สะท้อนว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นกลุ่มที่หลายคนมองว่ามีโอกาสเติบโตอยู่
พิชญ์พจี กล่าวอีกว่า แม้การโยกย้ายเปลี่ยนงานจะไม่หวือหวาแต่องค์กรก็ประมาทไม่ได้ เพราะแม้โอกาสในตลาดแรงงานจะน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีทางเลือก คนที่เก่งจริงก็พร้อมจะไปจากองค์กรอยู่ดี ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะรักษาคนเหล่านี้ไม่ใช่แค่โจทย์ที่ว่าขึ้นเงินเดือนสูงแค่ไหน แต่บริษัทต้องไปให้ความสำคัญกับการปรับนโยบายการขึ้นเงินเดือนว่าจะจ่ายอย่างไรให้ คุ้มค่าที่สุด ในงบที่มีอยู่จำกัด
สำหรับแนวโน้มที่จะเห็นชัดขึ้นปีหน้า คือบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการจ่ายผลตอบแทนเพิ่มขึ้นให้ ถูกฝาถูกตัว คือ จ่ายตามผลงานจริงให้ถูกคน เพื่อรักษาคนมีความสามารถไว้ เรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับการประเมินผลของหัวหน้างาน ที่ต้องมีทักษะการบริหารคนแยกให้ได้ว่าใครทำผลงานดีกว่ากัน แตกต่างกันชัดเจนระดับใด
ประเด็นนี้ยังเป็นจุดอ่อนของหัวหน้างานในไทย ที่มักไม่อาจแยกผลงานได้ สุดท้ายก็พยายามจ่ายผลตอบแทนเพิ่มให้เท่าๆ กันทุกคน เพราะไม่อยากถูกลูกน้องทักท้วงว่าทำไมจึงได้น้อย เนื่องจากไม่สามารถอธิบายผลงานที่แตกต่างกันได้ชัด เมื่อจ่ายผลตอบแทนเพิ่มเท่ากันหมด ในที่สุดคนที่เก่ง มีความสามารถก็ไม่อยู่
"ธรรมชาติของคนไทยคือไม่ชอบว่าใคร จึงไม่กล้าแยกผลงานคนเก่งกับคนไม่เก่งให้เห็นชัด โดยบริษัทที่เป็นระดับในประเทศจะมีปัญหานี้มากกว่าบริษัทข้ามชาติ"
เมื่อเงินเดือนขึ้นน้อยก็เป็นความท้าทายของหัวหน้างานแล้วว่าจะ แบ่งงบอย่างไรเพื่อรักษาคนมีความสามารถไว้ผลักดันบริษัทให้พร้อมเติบโตต่อไปได้