posttoday

สมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่า

07 ตุลาคม 2561

พระสมเด็จวัดเกศไชโย ในอดีตไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งมีการเปิดกรุวัดบางขุนพรหมแล้วพบว่ามีพระสมเด็จพิมพ์ 7

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected] 

พระสมเด็จวัดเกศไชโย ในอดีตไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งมีการเปิดกรุวัดบางขุนพรหมแล้วพบว่ามีพระสมเด็จพิมพ์ 7 ชั้นแบบหูบายศรีบรรจุอยู่ในกรุด้วย จึงได้รับการยอมรับว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้สร้างพระรุ่นนี้จริง นับตั้งแต่นั้นมา พระสมเด็จวัดเกศไชโย เริ่มเป็นที่เสาะหาและราคาก็พุ่งสูงขึ้นตามลำดับ

วันนี้นำพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่า ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมนับได้ว่าลำดับที่ 4 ของตระกูลพระสมเด็จวัดเกศไชโย กล่าวคือพิมพ์ที่นิยมที่สุด คือ พิมพ์ 7 ชั้น พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน พิมพ์ 6 ชั้นอกตลอด และมาพิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่านี่เอง องค์ที่นำมาให้ชมกันนี้ถือว่าดูง่ายเป็นไปตามมาตรฐาน ราคาค่านิยมในปัจจุบันหลักแสนปลายครับ

พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่านี้ พิมพ์โดยรวมใกล้เคียงกับพิมพ์ 7 ชั้นนิยม ขนาดองค์พระกว้าง 2.3 เซนติเมตร สูง 3.4 เซนติเมตร ผู้สันทัดได้สันนิษฐานว่า แม่พิมพ์จาก 7 ชั้นพิมพ์นิยม ได้มีการแก้ไขบางส่วนอาจเพราะแม่พิมพ์ชำรุด มีการปรับแก้บริเวณยอดเกศ พระเศียรกลมให้รีใหญ่ขึ้น พระอุระใหญ่ขึ้นจากพิมพ์นิยมที่เดิมทีมีลักษณะคล้ายศีรษะช้างเป็นแผ่กว้างขึ้นมีเนื้อแผ่ไปที่ซอกแขนทั้งสองข้าง และเส้นพระกรรณทั้งสองข้างที่แต่งแม่พิมพ์โค้งยาวลงมาจรดไหล่อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ หูประบ่า

มาดูพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์7 ชั้นหูประบ่าองค์นี้ ถ้าดูตั้งแต่ด้านบนลงมาจะเห็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ชัดเจน กล่าวคือบริเวณซุ้มกรอบกระจกมุมขวาบนขององค์พระจะเป็นแอ่งเล็กน้อย พระเกศจะป้อมสั้น พระกรรณจะโค้งงอนยาวลงมาประบ่าทั้งสองข้างและปลายพระกรรณขวาจะแหลมคมอันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ พระองค์นี้ลงรักน้ำเกลี้ยงมาแต่เดิมเพื่อรักษาเนื้อพระ เมื่อรักหลุดออก ส่องดูก็จะเห็นมวลสารเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วองค์พระอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระสมเด็จวัดเกศไชโยซึ่งเป็นพระแก่มวลสาร

มามองส่วนกลาง คือ วงพระกรหรือวงแขนจะคล้ายแก้วบรั่นดี ไล่ลงมาที่หน้าตักมองดูจะคล้ายบล็อกเดียวกับพิมพ์ 7 ชั้นนิยมเกือบทั้งหมด เมื่อมีการแต่งแม่พิมพ์จากพิมพ์ 7 ชั้นนิยมและกลายมาเป็นพิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่านี้ เหตุผลเพราะหลายส่วนถูกปรับแต่งและขยายใหญ่ขึ้นมาจากพิมพ์ 7 ชั้นนิยม ทั้งเส้นฐานต่างๆ ซึ่งพิมพ์ 7 ชั้นนิยมจะมีความคมชัดกว่า ปลายของฐานแต่ละชั้นของพิมพ์ 7 ชั้นนิยมจะแหลมคมกว่า

มองดูที่ฐานชั้นที่ 1 จะคล้ายเรือสำเภาเหมือนพิมพ์นิยม และตำหนิพิมพ์ที่คล้ายพิมพ์ 7 ชั้นนิยม คือ ตำแหน่งเนื้อเกินที่เส้นซุ้มครอบแก้วฝั่งขวามือองค์พระ บริเวณฐานชั้นที่ 2 จะเห็นเนื้อเกินออกมาเล็กน้อย บริเวณปลายฐานชั้นที่ 2 และปลายฐานชั้นที่ 3 ฝั่งซ้ายมือองค์พระจะแหลมเชิดขึ้น ขณะที่ฐาน
ชั้นที่ 4 และฐานชั้นที่ 5 มองไปเหมือนจะห่างกันเล็กน้อยในช่วงกลาง

ส่วนบริเวณฐานชั้นที่ 5 กับฐานชั้นที่ 6 ทางขวาองค์พระจะชิดกันเล็กน้อย และยังเห็นเนื้อเกินย้อยลงไปที่บริเวณฐานชั้นล่างสุดฝั่งขวามือองค์พระ (ฝั่งซ้ายมือเรา) ปลายฐานล่างสุดด้านซ้ายขององค์พระ (ด้านขวามือเรา) จะเป็นลักษณะเดือยแหลมวิ่งเข้าชนเส้นซุ้มอันเป็นตำหนิเหมือนพิมพ์ 7 ชั้นนิยม และจุดสำคัญอีกจุด คือ ใต้ซุ้มกรอบกระจกด้านล่างเมื่อยกขึ้นมาส่องเห็นเส้นวิ่งเล็กเหมือนพิมพ์นิยม

พลิกมาดูด้านข้างก็ปรากฏรอยขัดแต่งองค์พระมาแต่เดิม และทั้ง 4 มุมขององค์พระจะมน ไม่คมอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของพระสมเด็จวัดเกศไชโย มองเห็นรูพรุนอยู่ทั่วไปอันเป็นลักษณะความเก่าขององค์พระซึ่งเกิดจากมวลสารที่ยุ่ยเปื่อยและหลุดออกไปตามธรรมชาติของพระอายุร้อยกว่าปี ส่วนด้านหลังเมื่อส่องและนำมาขยายดูอีกครั้งจะเห็นรอยนิ้วมือรางๆ รูพรุนเล็กกระจายเต็มด้านหลังอันแสดงถึงความเก่าของพระและปรากฏมวลสารกระจายอยู่ทั่วไป โดยรวมแล้วพระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่าองค์นี้ ถึงแม้ว่าหลังจากรักที่เคลือบองค์พระหลุดออกไปแล้วและผ่านการใช้งานมาพอสมควรก็ถือว่าเป็นพระที่ดูง่ายเหมาะเป็นแนวทางศึกษาครับ