posttoday

ยุทธการยึดแบงก์ชาติ (1) เก้าอี้ประธานฯ ด่านแรก!

10 ตุลาคม 2567

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ ยังคงทวีความรุนแรง แม้มีภาพ “พิชัย ชุณหวชิร” จู๋จี๋กับ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ปรากฏออกสื่อ ทว่าไม่อาจทำให้ไฟร้อนจากการปะทะคารมจากนโยบายที่สวนทางกันหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา จะดับมอดลงได้

ยุทธการยึดแบงก์ชาติ (1) เก้าอี้ประธานฯ ด่านแรก!
          หากไม่นับเรื่องราวในอดีต ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ในระยะเวลา 1 ปี 1 เดือนที่ผ่านมา มี 2 ประเด็นหลัก ประการแรก รัฐบาลเพื่อไทยมองว่าแบงก์ชาติยุคปัจจุบัน แข็งขืนไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายดูแลกลุ่มคนชั้นล่าง กับอีกประเด็นคือ ขัดขวางโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ที่สำคัญยังออกมาประจานต่อสาธารณะ.....

          กลิ่นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ นับวันยิ่งคละคลุ้ง ทวีความรุนแรง แม้มีภาพ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลัง จู๋จี๋กับ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าแบงก์ชาติ ปราฏออกสื่อเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ทว่าไม่อาจทำให้ความตึงเครียดจากการปะทะคารม เมื่อครั้งนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จนถึง แพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ผ่อนคลายลงได้ 

          “กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”.....

          เป็นคำพูดของ แพทองธาร ชินวัตร เมื่อครั้งพรรคเพื่อไทยจัดอีเว้นท์ "10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10" ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 หรือ 4 เดือนก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

          น้ำท่วมภาคเหนือในวันนี้ จึงมีไม่มากพอดับไฟสงครามระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติในเวลานี้!?.....

          ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบอร์ดแบงก์ชาติ วาระตรวจคุณสมบัติเพื่อตั้งเป็นประธานคนใหม่ แทน ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลง ณ วังบางขุนพรหม เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เช่นกัน เมื่อมีการเผชิญระหว่างคนของทั้งสองฝ่าย การหาข้อสรุปแบบม้วนเดียวจบจึงเป็นไปได้ยาก 

          มีกรรมการสรรหาบางคนร้องขอเอกสารเพิ่มเติมว่าด้วยคุณสมบัติของแคนดิเดต โดยเฉพาะประวัติ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีคลัง เกี่ยวกับคดีจำนำข้าว ว่าได้หลุดพ้นคดีเป็นที่แน่นอนแล้ว........

          (คดีจำนำข้าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่งยกฟ้อง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา)

          การประชุมดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00น. ผ่านไป 3 ชั่วโมง หรือเวลา 17.00น.  จากการที่กรรมการสรรหาบางคนขอเอกสารเพิ่มเติม ได้มีการชี้แจงจากฝ่ายเลขานุการ ระบุว่า มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว

          ก่อนการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ วงการธุรกิจและการเมือง โดยเฉพาะคนกระทรวงการคลัง เชื่อว่าไม่มีเซอร์ไพรส์ เพราะรายชื่อตามโผ คนที่มานั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แทน ปรเมธี เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก กิตติรัตน์ มีแต่คนในแบงก์ชาติ ที่ยังเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนของฝ่ายการเมือง เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแบงก์ชาติมาตลอด หากยอมให้เข้ามา หายนะจะมาเยือน!?..... 

          สำหรับฝั่งแบงก์ชาติ ผู้ว่าฯ ได้ส่ง 2 รายชื่อตามกฎหมายกำหนด เป็นแคนดิเดต คือ กุลิศ สมบัติสิริ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน อีกคนคือ นามว่า สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน หวังจะให้มาเป็นประธานที่มีความรู้ความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ธนาคารกลาง

          ขณะที่ฝ่ายการเมืองมองว่าเก้าอี้ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” มีความสำคัญในเชิงการกำหนดนโยบายการเงิน ประธานมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการ และการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2551 ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล จะต้องเข้าไปครอบครอง!?.....

ภาพ : สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

          ในเมื่องานนี้ วันนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยัง “ปิดจ็อบไม่ลง” และจะมีการประชุมคัดเลือกกันใหม่ภายใน 1 เดือน แม้ว่าในยกแรก รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ทว่าการวางตัวคณะกรรมการสรรหาฯ ถูกจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะประธานสรรหาที่ชื่อ สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการบริหารบุคคล จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โอกาสผิดพลาดมีน้อยมาก เพียงแต่ในสถานการณ์ที่น้ำเชี่ยว อย่าเพิ่งเอาเรือไปขวาง ยังมีเวลาให้จัดประชุมใหม่เพื่อลดข้อครหาให้เหลือน้อยที่สุดในครั้งหน้า

          อย่าลืม นี่แค่ด่านแรก ยังไม่มีการเปลี่ยนธง ห้ามกะพริบตา เพราะยังมีภารกิจยิ่งใหญ่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ ปฏิบัติการยึดเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะหมดวาระลงในวันที่ 30 ก.ย.ปี68 สงครามครั้งนี้จึงแพ้ไม่ได้!?.....

แมน ซิตี้ไดมอนด์