"นายกฯอิ๊งค์" ยัน กทม. รับมือแผ่นดินไหวได้ อาฟเตอร์ช็อกไม่รุนแรง
"นายกฯอิ๊งค์" ยัน กทม. รับมือแผ่นดินไหวได้ สั่งเร่งช่วยเหตุอาคารถล่มระหว่างก่อสร้าง ย้ำไม่มีสึนามิ-อาฟเตอร์ช็อกไม่ร้ายแรง
ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา จนส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่รวมถึงประเทศไทย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างเร่งด่วน
โดยเน้นย้ำถึงความพร้อมของอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ได้มาตรฐานและสามารถรองรับแรงสั่นไหวได้ พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดสึนามิ และอาฟเตอร์ช็อกจะไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมเริ่มคลี่คลายแล้ว อย่างไรก็ตาม พบความเสียหายที่น่ากังวลคือเหตุการณ์อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งหนึ่งได้ถล่มลงมา
ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในอย่างเต็มที่ โดยได้มีการหารือกับทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
และขอยืนยันว่าอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนในระดับที่เกิดขึ้นได้
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานถึงความรุนแรงของแรงสั่นสะเทือนว่าอยู่ที่ระดับ 4.9 ซึ่งเป็นระดับที่ประชาชนสามารถกลับเข้าไปในอาคารสูงได้อย่างปลอดภัย
พร้อมทั้งยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการเกิดคลื่นสึนามิ เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่บนบก
ขณะเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รายงานความคืบหน้าของการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยระบุว่า
รถไฟฟ้า BTS และ MRT จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติในเช้าวันพรุ่งนี้ ภายหลังการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียด
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสาธารณะต่างๆ พร้อมทั้งจัดเตรียมห้องสุขา อาหาร และน้ำดื่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ในคืนนี้
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้เพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทางและรถสาธารณะอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน
โดยจะมีการเพิ่มรอบการให้บริการตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงเช้าวันพรุ่งนี้
นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า อาฟเตอร์ช็อกที่จะตามมาจะไม่เป็นอันตราย และสำหรับประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในอาคารสูงที่ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถกลับเข้าไปพักอาศัยได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาคาร สามารถแจ้งให้กรุงเทพมหานครเข้าไปตรวจสอบได้ โดยมีทีมวิศวกรกว่า 2,000 คน พร้อมให้การสนับสนุนในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์
สำหรับกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่เกิดการถล่ม นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าเป็นอาคารที่ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง
ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่อาจติดอยู่ภายในซากอาคารอย่างสุดความสามารถ โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบต่อไป