posttoday

ถาม-ตอบ : เรื่องการรักษาผู้ป่วย COVID-19

30 มีนาคม 2563

ชัวร์ก่อนแชร์ : แพทย์สถาบันบำราศนราดูร ตอบข้อสงสัยเรื่องการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาล

ต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงและความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ แพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ถาม : ป่วยโควิด-19 หายเองได้หรือไม่ ?

ตอบ : หากเชื้อไม่เยอะและร่างกายแข็งแรง คนไข้สามารถหายเองได้

ถาม : มีวิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไร ?

ตอบ : ในรายที่หายเอง ไม่ได้ให้ยาฆ่าเชื้อ มีรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก อ่อนเพลียให้น้ำเกลือ ให้คนไข้พักผ่อนเยอะๆ

ส่วนคนไข้ที่เริ่มมีปอดอักเสบ จะเริ่มมีการให้ยา และเฝ้าสังเกตอาการจนผลจะเป็นลบ (ตรวจไม่พบเชื้อ)

ถาม : มีใครบ้างที่เสี่ยงอาการรุนแรง ?

ตอบ : จากข้อมูลผู้ป่วยตอนนี้จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว

ถาม : ป่วยโควิด-19 หากรักษาหาย แต่ปอดก็จะถูกทำลายไป ?

ตอบ : ที่พูดกันว่าไวรัสลงปอดนั้น แปลว่าคนไข้มีอาการปอดอักเสบและมีการให้ยา เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ และข้อมูลตอนนี้มีน้อย ยังไม่สามารถบอกได้ว่าในระยะยาวเป็นอย่างไร แพทย์จึงต้องมีการตามอาการอีก 6 เดือน และ เอกซเรย์ซ้ำว่าเป็นอย่างไร จึงจะสามารถตอบข้อมูลตรงนี้ได้ชัดเจน

ถาม : คนไข้ที่รักษาหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่ ?

ตอบ : คำถามนี้ต้องติดตามดูข้อมูลต่อไป แต่ปกติเมื่อร่างกายได้รับเชื้อตัวไหนแล้ว ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นจะมีตลอดชีวิต ยกเว้นเชื้อนั้นมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ และโคโรนาไวรัสนั้นมีรายงานแล้วว่ามีการเปลี่ยนสายพันธุ์ หากเราไปเจอตัวสายพันธุ์ใหม่ เราก็จะยังมีอาการได้

ขอขอบคุณ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์สำนักข่าวไทย อสมท