เลือดกำเดาไหลในเด็ก สัญญาณบอกความผิดปกติเรื่องใด
ช่วงอากาศร้อน ลูกน้อยอาจมีเลือดกำเดาไหล เช็กอาการอย่าปล่อยผ่าน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายแรกเริ่ม มาดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการป้องกันเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก
อาการเลือดกำเดาไหล หรือ Epistaxis หมายถึง การที่มีเลือดออกจากโพรงจมูก ทางด้านหน้าหรือด้านหลังโพรงจมูก อาจออกข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ สามารถพบได้ทุกเพศและทุกวัย มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ตำแหน่งที่พบเลือดกำเดาไหล
- เลือดออกจากด้านหน้าของโพรงจมูก ซึ่งพบได้ร้อยละ 90 ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็ก และวัยรุ่นที่มีประวัติแคะจมูก หรือมีเยื่อบุจมูกอักเสบ ส่วนมากเลือดมักออกจากบริเวณผนังกั้นช่องจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดหลายแขนงรวมกัน ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้ง่าย จากการตรวจโพรงจมูกทางด้านหน้า
- เลือดออกจากด้านหลังของโพรงจมูก คือมีเลือดไหลลงคอ ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งมีภาวะหลอดเลือดแข็งร่วมด้วย หรือพบในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก (nasopharyngeal angiofibroma) เป็นต้น โดยเลือดมักออกจากแขนงหลอดเลือดใหญ่ทางด้านหลังโพรงจมูก ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
- เลือดออกจากด้านบนของโพรงจมูก เลือดออกจากตำแหน่งนี้มักพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยอาจเกิดจากการผ่าตัดไซนัส อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น
ทำไมเลือดกำเดาถึงไหล?
- เลือดกำเดาไหลเพราะภาวะโรคในจมูก คืออาจเกิดจากการที่ “มีก้อนในจมูก” หรือ “ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูก” รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ที่ทำให้มีแรงดันขึ้นไปทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือจาม จนเส้นเลือดฝอยแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหลออกมา หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ถูกกระแทกจนกระดูกหัก ผนังจมูกคด ก็ทำให้เลือดกำเดาไหลได้ รวมถึงการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาภูมิแพ้ ถ้าพ่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผนังจมูกบาง และเป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน
- เลือดกำเดาไหลเพราะความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเลือดที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกง่าย หยุดยาก โดยมักจะเป็นตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุจมูก หรือว่าไรฟัน รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคตับหรือคนที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดต่างๆ ก็มีโอกาสเลือดกำเดาออกได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปทั้งนี้ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกจนเลือดกำเดาไหลนั้น ถือเป็นปลายเหตุที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดออก ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งมีก้อนที่จมูก หรือมีปัญหาโรคเลือดก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ เพราะปกติเส้นเลือดคนเรานั้นจะไม่แตกง่ายๆ ยกเว้นแต่มีสาเหตุกระตุ้นให้แตก เช่นไปกระแทก เกิดอุบัติเหตุ หรือขาดวิตามินต่างๆ อย่างวิตามินเค ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย
เลือดกำเดาไหลในเด็ก
สาเหตุ เลือดกำเดาไหลเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ส่วนมากมักจะมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง และเลือดมักจะหยุดเองได้ภายใน 10-15 นาที ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เนื่องจากอากาศแห้ง โดยเฉพาะวันที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด ร่างกายขาดวิตามินซี เกิดจากการกระทบกระเทือน หรืออุบัติเหตุ และความผิดปกติของร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย ก็อาจเป็นอาการของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการแบบไหนต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์
ข้อมูลจากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดย รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล ฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ปกครองควรทราบในกรณีที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยว่า หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์
- เลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีจ้ำเขียว มีจุดแดง หรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย
- มีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย
- มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย หรืออุจจาระของลูกมีเลือดปนมาด้วย
- ลูกมีไข้สูง
- ลูกมีอาการอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือผิวหนังมีสีซีดลง
สัญญาณของโรค
การที่ลูกเลือกกำเดาไหลบ่อยอาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ ได้แก่
โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัวร่วมด้วย
โรคที่เกิดขึ้นภายหลัง ทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น
- โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคไขกระดูกฝ่อ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเม็ดเล็ดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง
- ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หากลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยและเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย เหนื่อยง่าย หรือมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว
ไม่อยากให้ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยทำอย่างไรดีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเลือดกำเดาไหลง่ายนั้น เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้
- พยายามไม่ให้จมูกของลูกแห้ง โดยอาจจะใช้น้ำเกลือหยอดจมูก หรือทาวาสลินเคลือบในรูจมูกก่อนนอน
- ปรับอุณภูมิในห้องนอนของลูก ไม่ให้อากาศแห้งเกินไป
- ให้ลูกกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้เด็กนั่งตัวเอียงไปด้านหน้า
- ก้มศีรษะลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป
- ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกข้างที่มีเลือดกำเดาไหลเบาๆ ประมาณ 10 นาที
- หากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์