posttoday

ช้างไทย

21 เมษายน 2556

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนบทความนี้ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมั่วและ

โดย...นพพล ชูกลิ่น

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนบทความนี้ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมั่วและโศกเศร้าเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากเห็นข่าวการค้นพบซากช้างที่ตายไปหนึ่งเชือกเมื่อเดือนที่ผ่านมา จากนั้นผ่านมาไม่ครบเดือนค้นพบซากช้างตายอีกหนึ่งเชือก ซึ่งเชื่อว่าตายในระยะเวลาไล่เลี่ยกับเชือกแรกและตายในระยะทางที่ห่างกันไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ที่สำคัญการฆ่าช้างทั้งสองเชือกกระทำโดยคนที่จิตวิปลาสทั้งคนที่ฆ่าและคนที่รับซื้อชิ้นส่วนของช้างไป ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านใช้เวทีนี้ในการประณามหยามเหยียดการกระทำในครั้งนี้และอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านหันมาช่วยกันอนุรักษ์ช้างอันเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติมาแต่ครั้งโบราณกาล

ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ช้างเป็นสัตว์ที่ถูกกำหนดให้เป็นพระราชพาหนะในการทำสงคราม หรือที่เรียกว่า ยุทธหัตถี ช้างถือเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการทำสงครามเพื่อปกป้องประเทศชาติแล้ว ช้างยังมีหน้าที่สำคัญๆ ในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิเช่น การเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาอารยประเทศต่างๆ ผมจึงถือว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความผูกพันกับคนไทยทุกๆ คน วันนี้เรามีวันสำคัญอยู่หนึ่งวันที่คนไทยหลายๆ คนไม่ทราบ นั่นคือ “วันช้างไทย” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มี.ค.ของทุกๆ ปี ซึ่งจะมีการจัดงานวันช้างไทยตามศูนย์รับเลี้ยงช้างต่างๆ ที่เห็นมีงานค่อนข้างใหญ่จัดเป็นกิจกรรมก็คงเป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีความเข้าใจในชีวิตช้าง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและให้ความสำคัญของสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ขอขอบคุณท่านผู้ว่าฯ และทุกท่านที่ผมไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้ ที่ช่วยกันรักษาชีวิตช้างไทยให้คงอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้รู้จักคุณค่าของช้างไทย

สถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันมีช้างที่ยังดำรงชีวิตในผืนป่าทั่วประเทศอยู่ประมาณ 3,000 ตัว และมีอัตราการเติบโตที่ถดถอยลงในทุกๆ ปีที่มีการสำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นปริมาณผืนป่าที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่ลดลงจนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของช้างไทย แต่ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นมีช้างอีกกว่า 4,000 เชือกที่มีผู้เลี้ยงอยู่ตามสภาพที่แตกต่างกัน และในจำนวนนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ถูกเลี้ยงไปตามยถากรรม หรือใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการหากินโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะพวกที่เอาช้างมาให้คนซื้ออาหารให้ตามถนน มันเป็นภาพที่ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก ปริมาณอาหารที่ขายทั้งวันคงไม่พอที่ช้างต้องการแค่มื้อเดียว สภาพที่ต้องเดินอยู่บนถนนซีเมนต์ที่ร้อนระอุทั้งวันและต้องเดินวันละหลายกิโลเมตรและที่สำคัญศักดิ์ศรีของช้างที่มีมาในครั้งอดีตก็ถูกทำลายไป ผมอยากขอร้องท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันรณรงค์ไม่ให้ความร่วมมือสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยกันนะครับ คนไม้คนละมือให้อาชีพนี้หมดไปจากแผ่นดินไทยเสียที

ภาพที่ผมนำมาให้ผู้อ่านทุกท่านได้ชมเป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้เมื่อหลายปีก่อนเป็นกิจกรรมของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย จัดขึ้นโดยเป็นการรวบรวมโขลงช้างใน จ.กาญจนบุรี มารวมกันและได้มีการเชิญควานช้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงคนเดียวที่ใช้วิธีคล้องช้างจากป่าตามประเพณีโบราณ ผมนั่งคุยกับอาจารย์ท่านนี้ แกบอกผมว่าวิชาที่แกมีอยู่ยังไม่มีใครสืบทอด สิ่งที่แกห่วงไม่ใช่การจับช้างออกจากป่า แต่แกอยากถ่ายทอดเทคนิคการดูแลเอาใจใส่ ความเข้าใจในภาษาช้าง หรือแม้แต่การรักษาพยาบาลยามที่ช้างเจ็บป่วย ซึ่งแกยืนยันกับผมว่าแกรักษาช้างได้ดีกว่าหมอแผนปัจจุบัน เพราะแกเข้าใจภาษาและมีความสามารถในการสื่อสารกับช้างได้ ซึ่งเป็นศาสตร์แต่โบราณที่สืบทอดกันมานะครับ ผมฟังแกเล่าแล้วสะท้อนใจว่าวันนี้แค่เราจะให้ช้างมีความเป็นอยู่ให้สมกับที่ควรจะเป็นยังทำไม่ได้เลย ศาสตร์โบราณเหล่านี้ก็คงสูญหายไปตามกาลเวลา ผมเก็บภาพความน่ารักความฉลาดของช้างที่เห็นในวันนั้นกับข่าวที่เห็นในวันนี้แล้วรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่คู่บ้านเมืองไทยและมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแล้วหลายครั้งให้ดำรงอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลานและเรียกเขาว่า “ช้างไทย” อย่างสมศักดิ์ศรี