posttoday

ความสงสัยเปลี่ยนชีวิต หมอกายภาพกลายเป็นหมอจีน

17 พฤษภาคม 2557

การเป็นแพทย์รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะหัวดีแล้วต้องมีความขยัน อดทน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การเป็นแพทย์รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะหัวดีแล้วต้องมีความขยัน อดทน มีแรงใจที่ต้องการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ด้วยกัน กว่าจะเรียนจบสาขานี้ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี และหากต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางต้องเรียนเพิ่มเติมอีก เรียกว่า ไม่รักจริงทำไม่ได้แน่ๆ แต่สำหรับ “ธวัชชัย ตรีรัตน์ดิลกกุล” หรือหมอเก่ง แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม วัย 33 ปี กลับเลือกสร้างความท้าทายให้ชีวิตมากกว่าเพื่อนแพทย์คนอื่น จากการตัดสินใจพลิกชีวิตแพทย์แผนปัจจุบันสู่การเป็นแพทย์แผนจีน

ธวัชชัย เล่าว่า ปี 2545 จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาวิชากายภาพบำบัด ซึ่งปัจจุบันยกระดับเป็นคณะกายภาพบำบัดแล้ว เมื่อจบการศึกษาได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พบกับคนไข้ที่ป่วยเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปถึงท่อนล่าง คนไข้รักษาจากโรงพยาบาลแห่งอื่นมาก่อน 2-3 ปี แต่อาการก็ไม่กระเตื้อง จึงเปลี่ยนมาโรงพยาบาลที่ตัวเองประจำอยู่ หลังจากเข้ารับการรักษา 6 เดือน คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ขยับคอได้บ้าง ยักไหล่ได้ ขยับท่อนแขนได้เล็กน้อย ทำให้คนไข้รู้สึกมีความหวังว่า จะหายเป็นปกติ

แต่ในฐานะแพทย์ ธวัชชัยรู้ดีว่า ด้วยความรู้แพทย์แผนปัจจุบันที่มีอยู่ สามารถรักษาคนไข้ให้มีอาการดีที่สุดได้เท่านี้ เหตุนี้เองจึงเป็นแรงผลักดันประการแรกทำให้ต้องการศึกษาความรู้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะมีหนทางช่วยคนไข้ให้มีอาการดีขึ้นได้มากกว่าที่ทำได้ขณะนั้น

ความสงสัยเปลี่ยนชีวิต หมอกายภาพกลายเป็นหมอจีน

 

ประจวบเหมาะกับธวัชชัยเล่นกีฬาเทควันโดเป็นประจำ ครั้งหนึ่งประสบอุบัติเหตุทำให้ข้อมือซ้ายร้าว ครูฝึกสอนเทควันโดแนะนำให้ไปพบหมอฝังเข็มชาวเกาหลีใต้ จึงอยากทดลองรักษาตัวด้วยการฝังเข็มและทำให้เขาประหลาดใจกับการรักษา เมื่อหมอฝังเข็มใช้เข็มฝังเข้าที่แขนฝั่งขวา ทั้งที่อาการเจ็บอยู่ที่แขนซ้าย แล้วพบว่าแขนซ้ายที่บาดเจ็บหายแทบในทันที ไม่ปวดร้าว ทำให้เกิดความสงสัยอยากเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ด้านฝังเข็ม

จากจุดเริ่มต้น 2 ประการ คือ ความอยากรักษาคนไข้ให้มีอาการดียิ่งขึ้นและความสงสัยที่เกิดจากการได้ทดลองรักษาเอง เป็นแรงบันดาลใจทำให้ธวัชชัยพลิกผันชีวิตสู่การเป็นแพทย์แผนจีน โดยมีอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชที่รู้จักมักคุ้นและเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แนะนำให้ต่อยอดความรู้ด้านกายภาพบำบัดที่มีด้วยการไปศึกษาต่อในโครงการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ซึ่งธวัชชัยก็ตัดสินใจเรียนสาขาแพทย์แผนจีนตั้งแต่ปี 2548 ใช้เวลาเรียนอีก 6 ปี โดย 4 ปี เรียนในไทยและอีก 2 ปี ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแพทย์จีน ที่เมืองเซี่ยงไฮ้

การเรียนแพทย์แผนจีนต่างไปจากแพทย์แผนปัจจุบัน ในด้านทฤษฎีการตรวจรักษา และวิธีการรักษา เช่น การแมะ หรือการวางนิ้วตรวจชีพจรบนมือทั้งสองข้างของคนไข้ การรักษาปรับสมดุลร่างกายด้วยการฝังเข็ม การใช้ยาจีนและการครอบแก้ว ขณะที่เดิมทีธวัชชัยไม่ได้มีความรู้ภาษาจีนมาก่อน เมื่อต้องไปเรียนที่เมืองจีนจึงจำเป็นต้องหาความรู้ภาษาจีนเพิ่มโดยปริยาย ทำให้เขาได้ความรู้ทั้งแพทย์แผนจีนพร้อมกับภาษาจีน

ความสงสัยเปลี่ยนชีวิต หมอกายภาพกลายเป็นหมอจีน

 

เมื่อศึกษาจบก็กลับมาเป็นแพทย์แผนจีนประจำที่โรงพยาบาลหัวเฉียว เริ่มต้นประจำในแผนกกระดูก เพราะเดิมเคยเรียนแพทย์แผนปัจจุบันด้านกายภาพบำบัด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องกระดูกอยู่แล้ว สามารถใช้ความรู้ด้านแพทย์แผนจีนต่อยอดความรู้เดิมได้ เช่น เมื่อคนไข้มีปัญหาโรคข้อ โรคกระดูก นิ้วล็อก ก็ใช้วิธีฝังเข็มตามแพทย์แผนจีนรักษา เมื่อทำได้ระยะหนึ่งก็ย้ายมาประจำที่ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม จนถึงปัจจุบัน

ธวัชชัย กล่าวว่า การเป็นแพทย์แผนจีนในไทยไม่ง่าย เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องความเชื่อถือด้วย ในไทยมีแพทย์แผนจีนเถื่อนอยู่มาก บางกลุ่มไม่ได้ไปศึกษาด้านแพทย์แผนจีนจริงจัง อาศัยวิธีครูพักลักจำจากการสังเกตแพทย์แผนจีน ไม่ได้มีความรู้จริงแล้วไปฝังเข็มให้คนไข้ ซึ่งอาจรักษาไม่หาย ไม่ดีขึ้น บางรายเกิดอาการติดเชื้อจากการฝังเข็ม ทำให้คนไข้บางส่วนมองการฝังเข็มในแง่ลบ ไม่เชื่อในแพทย์แผนจีน ทั้งที่ปัญหาเกิดจากตัวบุคคล ไม่ได้เกิดจากวิชาชีพ ขณะเดียวกันการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน หากเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งไม่ให้ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลทำให้คนไข้ที่ต้องการใช้สิทธิเหล่านี้ ไม่ใช้วิธีการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

“ในเมืองไทยมีคนไทยที่ศึกษาจบด้านแพทย์แผนจีนฝังเข็มได้ มีใบอนุญาต 800 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวผลิตแพทย์แผนจีนรุ่นใหม่ๆ จบออกมาได้แล้ว 5 รุ่น รุ่นละกว่า 50 คน แต่หลังจบแล้วก็ใช่ว่าจะทำงานเป็นแพทย์แผนจีนได้ทุกคน ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะก่อน ซึ่งแต่ละปีมีคนที่สอบได้ 50% ของคนที่เข้าสอบ จึงถือว่าไทยยังขาดแคลนแพทย์แผนจีนอยู่” ธวัชชัย กล่าว

ความสงสัยเปลี่ยนชีวิต หมอกายภาพกลายเป็นหมอจีน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มสนใจเปิดแผนกแพทย์แผนจีนมากขึ้น เป็นทางเลือกให้คนไข้ ค่าใช้จ่ายในการรักษา หากเป็นกรณีการฝังเข็มอยู่ที่ 200-2,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับว่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน รวมทั้งอาการที่มารักษา เช่น หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ด้วยอาการออฟฟิศซินโดรม อาทิ กรดไหลย้อน นิ้วล็อก ค่าใช้จ่ายฝังเข็มก็อยู่ที่ 450-700 บาทต่อครั้ง

ตัวอย่างคนไข้ที่เคยรักษามาด้วยวิธีแพทย์แผนจีนที่ยากที่สุดคือ เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา ไขสันหลังมีปัญหาเสียหายเกือบ 100% กลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามรักษามากรวมทั้งต้องอาศัยคนไข้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำควบคู่ด้วยจึงจะประสบผลดี ซึ่งปัจจุบันคนไข้กรณีนี้เริ่มงอแขนได้ อาการชาที่เคยมีทุเลา เมื่อจับให้นั่งก็ทรงตัวอยู่นิ่งได้ ซึ่งญาติรู้สึกพอใจระดับหนึ่ง

ธวัชชัย เล่าถึงข้อดีของการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มว่า เป็นการรักษาทางแพทย์แผนจีนที่ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยา หลักการรักษาตรงตัว เช่น หากมีอาการปวด ก็รักษาฝังเข็มเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตให้ร่างกาย หากเป็นภูมิแพ้ก็ฝังเข็มให้เข้าถึงประสาทสัมผัสนั้นโดยตรง ส่วนข้อเสีย คือ ไม่สามารถรักษาได้ทุกโรคอย่างที่บางคนเข้าใจ และถ้าคนไข้ร่างกายอ่อนแอก็ไม่เหมาะจะใช้วิธีฝังเข็ม

ขณะที่ความถี่ในการฝังเข็มไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพราะการฝังเข็มเป็นการกระตุ้นใช้พลังงานภายในร่างกายมารักษา ต้องให้เวลาร่างกายได้ฟื้นฟู ได้พัก ส่วนกรณีที่คนไข้อาการหนักมากๆ เป็นอัมพาต จำเป็นต้องกระตุ้นร่างกายมากกว่าคนปกติ อาจฝังเข็มวันเว้นวัน ไม่ฝังเข็มทุกวัน เพราะหากฝังเข็มทุกวันก็เหมือนกระตุ้นให้ร่างกายนำพลังงานที่มีอยู่ออกมาใช้รักษาตลอดเวลา เปรียบเสมือนคนติดยาต้องใช้ยากระตุ้นทุกวัน ส่วนระยะเวลาที่ใช้ต่อการฝังเข็มแต่ละครั้ง อยู่ที่ 20-30 นาที

ธวัชชัย กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บไม่จำเป็นต้องฝังเข็ม แต่คนจำนวนมากมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองแล้วมักไม่ได้ใส่ใจ ไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหา เช่น อาการปวดประจำเดือน คนที่มาโรงพยาบาลมักรอให้รู้สึกว่าร่างกายมีปัญหามากก่อนจึงจะมารักษา จึงอยากให้คำแนะนำว่า หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติใดเกิดกับร่างกาย อาจจะลองมาตรวจด้วยวิธีแพทย์แผนจีน เพราะเมื่อมีอาการน้อยๆ สามารถฝังเข็มปรับสมดุลในร่างกายรักษาได้เร็วกว่าเมื่อมีอาการมาก

เรียกว่าแพทย์แผนจีนเป็นการแพทย์อีกสาขาหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งกว่าที่ผู้เรียนจะจบสาขานี้ได้ ก็หินไม่ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน หากไม่มีแรงบันดาลใจ ความพยายามมากพอ ก็คงสำเร็จและเป็นแพทย์แผนจีนได้ยากทีเดียว