posttoday

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

13 สิงหาคม 2557

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอยู่ในเมืองไทย ต่างมีโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นไฮไลต์หรือว่าชิ้นสำคัญที่เป็นตัวชูโรงให้คนเข้าชมต้องมาดูแบบพลาดไม่ได้อยู่ทุกที่

โดย...พริบพันดาว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอยู่ในเมืองไทย ต่างมีโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นไฮไลต์หรือว่าชิ้นสำคัญที่เป็นตัวชูโรงให้คนเข้าชมต้องมาดูแบบพลาดไม่ได้อยู่ทุกที่

โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่อยู่ติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามสนามหลวงด้านท่าพระจันทร์ เป็นจุดศูนย์รวมโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมและชิ้นสำคัญจากทั่วประเทศ แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยู่ในส่วนภูมิภาค จำนวน 42 แห่ง ในจังหวัดต่างๆ ทั่วไทยนั้น ก็มีโบราณวัตถุพื้นถิ่นชิ้นสำคัญจัดแสดงอยู่เช่นกัน

อย่าง จ.น่าน คนที่ไปชมการจัดแสดงก็ต้องไม่พลาด “งาช้างดำ” ซึ่งมีประวัติศาสตร์คู่กับเมืองน่านมายาวนาน หรือที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี ก็มีภาชนะดินเผาลายเขียนสี กระบวย ใบหอก เครื่องมือเหล็กยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 1,400-3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคหินใหม่ หากแวะไปที่อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ก็ต้องชมแผ่นดินเผาภาพพระสงฆ์อุ้มบาตร ที่มีอายุในพุทธวรรษที่ 9-10 ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ต้องไม่ผ่านเลยไปชมใบเสมายุคทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหรือทรัพย์แผ่นดินที่กรมศิลปากรมอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศึกษารวบรวมและอนุรักษ์ โดยจัดแสดงไว้ให้คนไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมและศึกษา เป็นการคัดสรรโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ และไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายจากสถานที่จัดแสดงเดิม ยกเว้นการเคลื่อนย้ายที่เป็นกรณีพิเศษอย่างแท้จริง

โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ จำนวน 69 ชิ้น และโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม และห้ามนำออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด จำนวน 9 ชิ้นนั้น คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ค่อยรู้ว่ามีจัดแสดงอยู่ใกล้ตัวและอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วเมืองไทย ซึ่งต้องยลเป็นบุญตาให้ได้สักครั้งในชีวิต เพราะทุกชิ้นถือเป็น “หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก”

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม 9 รายการ

โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่ควบคุมการทำเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันมีด้วยกัน 9 รายการ คือ

1.ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) สมัยสุโขทัย

2.ธรรมจักรที่มีจารึกเป็นอักษรปัลลวะ ศิลปะสมัยทวารวดี

3.ประติมากรรมสำริด พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะสมัยศรีวิชัย

4.ประติมากรรมหินทราย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศิลปะสมัยลพบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา

5.ประติมากรรมสำริด พระอิศวร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร

6.ตู้พระธรรม ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย

7.ช้างทรงเครื่องพระคชาธารทองคำประดับอัญมณี ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

8.พระเต้าทองคำ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

9.พระแสงขรรค์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

โบราณวัตถุอันดับที่ 1-3 และ 6 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ส่วนศิลปวัตถุอันดับที่ 7-9 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร หรือที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และมีประโยชน์หรือคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

พัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรมศิลปากร ทั้ง 42 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของไทย แต่ละแห่งก็จะมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของตัวเองทุกแห่ง ส่วน 9 ชิ้นที่ควบคุมการทำเทียม กรรมการก็เลือกชิ้นเด่นๆ สำคัญที่คนทั่วไปรู้จักแพร่หลายกันอยู่แล้ว

“สำหรับโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของไทย เวลาใครมายืมโบราณวัตถุเหล่านี้ไปจัดแสดงยังต่างประเทศ ก็อาจจะมีข้อแม้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญระดับชาติ มีอยู่ชิ้นเดียว ก็ไม่ให้ไป ซึ่งต้องคำนึงว่าเป็นชิ้นเยี่ยมมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ที่จัดแสดงอยู่เป็นชิ้นของจริง ไม่ได้เอาสิ่งเทียมมาจัดแสดง แต่ต้องควบคุมการทำเทียม เพราะทางเราควบคุมการส่งออกการนำเข้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และต้องเข้าไปตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงที่เป็นของเอกชนด้วย ต้องดูแลตรงนี้ด้วย”

การควบคุมการทำเทียมโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม 9 ชิ้นนั้น ไม่ได้ห้ามทำเทียมเลียนแบบ แต่หากจะทำขึ้นมาก็ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมศิลปากรโดยตรงว่า ขอไปทำเทียมเพื่ออะไร รูปแบบที่เขาจะทำด้วยวัสดุอะไร จำนวนเท่าไหร่

“โดยปกติเรามีระเบียบว่า การทำเทียมนั้น ไม่ให้ทำเท่าของจริง จะเล็กหรือใหญ่กว่าก็ได้ ใช้วัสดุใดก็ได้ เวลาไปดูต้นแบบโบราณวัตถุก็ไม่ให้ใช้ถอดพิมพ์ ให้ใช้การวัดขนาดและถ่ายรูปไปแปลงเอาเอง ห้ามถอดพิมพ์โดยเด็ดขาด มีคนมาขอทำเทียมเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะศิลาจารึกหลักที่ 1 ส่วนใหญ่จะเอาไปเป็นสื่อการศึกษา ส่วนพระพุทธรูปเอาไปไว้บูชา

“ส่วนทางสำนักพิพิธภัณฑ์ฯ ก็มีการทำเทียมไว้ด้วยเช่นกัน เพราะเรามีโครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร มีรถโมบาย มิวเซียม เดินทางไปทั่วประเทศ แล้วแต่สถาบันศึกษาไหนต้องการ ก็มีโบราณวัตถุเหล่านี้จำลองเพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสและได้เห็นของที่คล้ายของจริง 9 ชิ้นนี้เรามีจำลองไว้หมด ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็เป็นชิ้นของจริงทั้งสิ้น วางอยู่ในตู้บนแท่นฐานเป็นโบราณวัตถุชิ้นของจริงทั้งหมด”

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

จากการที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหรือหัวหนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ มาหลายสิบปี จากประสบการณ์ตรงของพัชรินทร์ เธอบอกว่า คนไทยไม่ค่อยสนใจที่จะมาชมโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมกันสักเท่าไหร่

“ไม่ต้องพูดถึงความสนใจเป็นพิเศษที่ต้องเดินทางตระเวนไปดูตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็สนใจอยู่ไม่น้อย ดิฉันเคยเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อย่างลำพูน เชียงใหม่ น่าน กำแพงเพชร รู้ดีว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่ง ทั้ง 42 แห่ง ก็ต้องหาไฮไลต์ของตัวเอง อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็จะมีเยอะหน่อย เพราะเป็นศูนย์กลางของการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจด้านนี้ก็มักจะไปชมกัน อย่างที่น่าน ถ้าไปพิพิธภัณฑ์ก็ต้องไปชมงาช้างดำ ในประเทศไทยมีชิ้นเดียวและมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปก็ไม่ตื่นตัวกันเท่าไหร่ อย่างพระอิศวรที่กำแพงเพชร ตอนมีหนังพระนเรศวรก็มีคนไปดูกันเยอะ มีละครหรือหนังประวัติศาสตร์แล้วมีโบราณวัตถุเหล่านี้ในฉากก็จะสร้างความตื่นตัวกันเยอะมากขึ้น”

ของดีที่คนไทยควรชมก่อนตาย

โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ จำนวน 69 ชิ้น ที่กระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ อาทิ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี กระบวย ใบหอก เครื่องมือเหล็กยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง อุดรธานี,พระพุทธรูปปางสมาธิ สมัยทวารวดี ที่พระนครศรีอยุธยา, ส่วนองค์ระฆังของสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีที่นครปฐม, พระวิษณุ ที่นครศรีธรรมราช ฯลฯ ล้วนมีคุณค่าในการได้ชมทั้งสิ้น

จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา มัคคุเทศก์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ประธานชมรมสยามทัศน์ บอกว่า เห็นด้วยที่คนไทยควรไปชมโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุเหล่านี้ก่อนตาย แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะระบบการจัดการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เข้าชมยังไม่ดีนัก คนจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

“การเพิ่มมูลค่าในเชิงการท่องเที่ยว เราไปตีค่าโบราณวัตถุในแง่มูลค่ามากกว่าคุณค่า เพราะที่ผ่านมาการรับรู้ของคนไทยไม่ได้รับการศึกษาว่า คุณค่าของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุมีคุณค่าต่อสังคมขนาดไหน เพราะมีทั้งเรื่องของความเชื่อ ศรัทธา สุนทรียะต่างๆ ในการสร้าง เป็นการแสดงถึงความรู้สึกจากใจของคนออกมา งานหัตถศิลป์ต่างๆ ที่จะใส่ลงไปในเนื้องาน โดยเฉพาะของที่ทำถวายเจ้านายหรือพระเจ้าแผ่นดิน หรือถวายศาสนาที่เคารพนับถือ จะเห็นถึงความประณีตที่ใส่ลงไปมาก ของใช้ของตัวเองจะไม่ประณีตเท่ากับของที่ทำถวายให้กับคนที่เคารพนับถือหรือให้ผู้ใหญ่ ของที่ตกทอดถึงปัจจุบันมีมากมาย หรืออาจจะชำรุดไปตามกาลเวลา ซึ่งบอกเล่าถึงสังคมในยุคนั้น แต่เราไม่ให้ความสำคัญกับตรงนี้เท่าที่ควร สังคมไทยยังขาดตรงจุดนี้อีกเยอะ”

เขายกตัวอย่างถึงโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมคือ ช้างทรงเครื่องพระคชาธารทองคำประดับอัญมณี พระเต้าทองคำ และพระแสงขรรค์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ที่เป็นเครื่องทองถวายให้กับพุทธศาสนา

“ผมมองในเรื่องของความศรัทธาความเลื่อมใส และเคารพฝีมือครูในอดีต เพราะฉะนั้นเครื่องทองเหล่านั้น ฝีมือช่างที่แปรรูปทองเหล่านั้นเป็นศิลปวัตถุนั้นล้ำค่าถ้ามีการชี้ชวนดู เขาก็จะดื่มด่ำกับโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ มากขึ้น เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบต่อความรู้คนรุ่นโบราณ คนยุคนี้ประเมินจากสิ่งของที่เขาเห็น แต่ไม่ได้สืบหาความรู้ข้อมูลโบราณวัตถุกว่าจะมาเป็นงานชิ้นเยี่ยมได้

“บ้านเรามีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุชิ้นดีๆ เยอะ แต่เราไม่ชี้ชวนว่าดูอย่างไร จะเห็นว่าการอธิบายชิ้นของ คนไทยจะไม่ค่อยอ่านหรือสนใจศึกษา จึงกลายเป็นปัญหาพอไม่มีใครมาเล่าให้ฟัง เพราะเราเติบโตมากับเรื่องเล่า เราไม่ได้ฝึกคนเท่าที่ควรในการที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นจริตของคนที่จะมาศึกษาเรื่องราวผ่านศิลปวัตถุให้เข้าใจ มันไม่เหมือนกับต่างประเทศ ที่เขาจะถูกสอนให้ศึกษาและหาฐานข้อมูลมาเรียนรู้เอง อย่างเขามาดูจะอ่านไกด์บุ๊กนิดเดียวก็เข้าใจและเดินดูเพื่อศึกษาเอง แต่นิสัยคนไทยชอบฟังเรื่องเล่า ตามพิพิธภัณฑ์ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนเล่าเรื่องสนุก คนจะไปล้อมวงกันฟัง เพราะฟังแล้วสนุก ผมเจออย่างนี้บ่อยๆ เวลานำทริป ผมคิดว่าถ้าเราสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้ตรงจริตของคนจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องมีกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่ได้จากการเข้าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในหลายๆ แบบ ซึ่งต้องฝึกคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้”

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

การบูรณะและอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุให้อยู่ในสภาพดีพร้อม จุลภัสสร บอกว่า กรมศิลปากรก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ มุ่งในเรื่องการจัดสร้างมากเกินไป แต่ไม่ได้จัดบุคลากรที่มาทำหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ให้สมดุลกัน

“ยังคิดว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นการสร้างหน้าตาให้กับตนเอง แต่ผมคิดว่ายิ่งสร้างมากหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องแบกรับภาระมาก เพราะการบำรุงรักษาของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์มีงบประมาณมหาศาล ทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัยและเรื่องอะไรอีกร้อยแปด เมืองไทยยังไม่มีการสร้างบุคลากรควบคู่ไปด้วย พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในตอนนี้พยายามพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยมไม่ชำรุดทรุดโทรม แล้วฝึกคนในหลายๆ รุ่นให้มีส่วนร่วม ซึ่งไม่ใช่ลักษณะดูแลผู้เข้ามาชมเฉยๆ แต่ทำให้ของเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวของมันเองให้กับคนรุ่นต่อไป

“ส่วนใหญ่เราไปมุ่งกับเรื่องของแต่ไม่ค่อยดูแลเรื่องทรัพยากรบุคคลที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป ถ้าเติมยุทธศาสตร์เรื่องคนไปด้วยก็จะสำเร็จได้อีกไกล พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งก็ต้องมีคนดูแล คนเล่าเรื่อง ผมว่าตรงนี้คือการสร้างคนที่มีคุณภาพมันคุ้มค่ากว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ให้มีจำนวนมากๆ”

ในอนาคตน่า จุลภัสสร มองว่า น่าจะมีความร่วมมือจากภาคเอกชน เพราะเมืองไทยส่วนมากจะคิดจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว

“หรือให้ผู้เข้าชมได้แสดงความคิดว่าเขาอยากดูอยากเห็นอะไรเพิ่มเติม ของที่อยู่กับที่ทำอย่างไรให้ไปจัดแสดงในที่ต่างๆ ไปโรดโชว์ได้ไหม ทำเป็นนิทรรศการพิเศษ รวมถึงสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ พอพูดถึงพิพิธภัณฑ์ปุ๊บ คนก็นึกถึงของเก่าโบราณคร่ำครึ มันดูเหมือนหนักๆ เข้าไปแล้วเห็นคำอธิบายแห้งๆ มันไม่พอ ต้องมีความรู้ประกอบอย่างมีชีวิตชีวา แล้วส่วนใหญ่จะเป็นการบอกเล่าฝ่ายเดียวไม่มีการตั้งคำถามเพื่อมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’

“อย่างโบราณวัตถุชิ้นเอก ใครบอกหรือจัดให้เป็นชิ้นเอก เพราะอะไร ซึ่งต้องทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ว่าเป็นของชิ้นเอกได้อย่างไร มากกว่าคำอธิบายบนป้ายจัดแสดง จุดไหนหรือตรงไหนที่แสดงว่าเป็นของชิ้นเอก เมืองเราผมว่ายังขาดการนำเสนอไทม์ไลน์ เรื่องของช่วงเวลาที่เกิดขึ้นของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุชิ้นนั้นๆ ที่จัดแสดง ซึ่งอธิบายอิทธิพลต่างๆ ที่ทำให้งานเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคนั้น ความเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อของศิลปะในแต่ละยุค สภาพสังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา ความเชื่อ ศาสนา สารพัดอย่างในยุคนั้น ผมว่าเมืองเราต้องเติมตรงนี้ไปอีกเพียบเลยในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ต้องให้ความรู้ไปทั้งกระบวน คนที่เข้ามาชมก็จะรู้สึกอินกับสิ่งที่เขาได้ชม ต้องลงทุนสร้างข้อมูลความรู้ชุดใหญ่ทั้งหมด หรือสร้างคนที่มาอธิบายให้คนฟังสามารถเห็นภาพได้ เพราะปัจจุบันคนนำชมก็เป็นแค่คนที่อ่านหนังสืออกแล้วมาเล่าให้ฟังเฉยๆ เล่าสนุกก็ดีไป แต่เรื่องการเล่าเรื่อง การสังเกตคนฟังก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการสร้างคนนำชมก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”

แน่นอน หลายคนต่างมีความฝันว่า เมืองไทยน่าจะมีงานชิ้นเอกที่ทั้งคนไทยและต่างชาติต้องชมให้ได้ก่อนตาย เหมือนกับใครไปฝรั่งเศส ต้องแวะพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ที่กรุงปารีส ต้องดูภาพโมนาลิซ่าให้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของไทย แค่ชิ้นเยี่ยม 9 ชิ้น และชิ้นสำคัญอีก 69 ชิ้น ก็มีคุณค่ามากมายที่คนไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องชมก่อนตายได้เหมือนกันอย่างไม่น่าพลาดในชีวิตนี้

*หมายเหตุ ขอรายละเอียดโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม 9 รายการ และโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ จำนวน 69 ชิ้น ได้ที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โทร. 02-628-5662 กับ 02-281-6766 หรือ http://www.finearts.go.th/thailandmuseum/

ต้องไปชมก่อนตาย...โบราณศิลปวัตถุ ‘หนึ่งเดียวในไทย ชิ้นเดียวในโลก’