ปรับภูมิทัศน์ "สายไฟ" กทม.นำร่องฝังใต้ดิน 11 จุด
กทม.ได้ดึงการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาร่วมกันปรับปรุงทัศนียภาพ ด้วยการนำสายไฟพะรุงพะรังลงสู่ใต้ดิน
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
สายไฟฟ้าที่พันกันยุ่งเหยิงห้อยระโยงระยางทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) นอกจากจะสร้างความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนกรุงเทพฯ แล้ว ยังเป็นที่น่ารำคาญและสร้างความไร้ระเบียบไม่รู้จบ
กทม.มีความพยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าวมานานหลายปี ล่าสุดได้ดึงการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาร่วมกันปรับปรุงทัศนียภาพ ด้วยการนำสายไฟพะรุงพะรังเหล่านั้นลงสู่ใต้ดินทั้งหมด เบื้องต้นนำร่องใน 11 เส้นทาง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้
สมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานและประสานสาธารณูปโภคสำนักการโยธา กทม. อธิบายว่า สายไฟฟ้าที่เห็นกันอย่างชินตาเหล่านั้น มีทั้งสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งอยู่ส่วนบนสุดของเสาไฟฟ้า มีทั้งสายโทรศัพท์และสายเคเบิลของบริษัทเอกชนต่างๆ ส่วนใหญ่นำมาลักลอบพาดโดยไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับโครงการดังกล่าวจะดำเนินการทั้งสิ้น 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1.ถนนพญาไท (ซอยรางน้ำ-อนุสาวรีย์ชัยฯ) 2.ถนนโยธี (ถนนพญาไท-ถนนพระราม 6) 3.ถนนเพชรบุรี (ถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี)
4.ถนนศรีอยุธยา (แยกพญาไท-พหลโยธิน ซอย 7) 5.ถนนพหลโยธิน (พหลโยธิน ซอย 7-คลองบางซื่อ) 6.ถนนประดิพัทธ์ (ถนนพหลโยธิน-ถนนพระราม 6) 7.ถนนพหลโยธิน (คลองบางซื่อ-ห้าแยกลาดพร้าว) 8.ถนนพระราม 1 (ถนนพระราม 6-แยกปทุมวัน)
9.ถนนราชวิถี (ถนนพระราม 6-อนุสาวรีย์ชัยฯ) 10.ถนนเพชรบุรี (แยกพระราม 6-แยกเพชรพระราม) 11.ถนนราชดำเนินนอก (สะพานผ่านฟ้าลีลาศ-สะพานมัฆวานรังสรรค์)
แน่นอนว่าการดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อขุดลงไปใต้ดินแล้วจะต้องพบกับแนวท่อประปา ท่อน้ำทิ้ง อีกทั้งยังส่งผลต่อการจราจร ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการสำรวจของเจ้าหน้าที่ว่าสามารถลงมือก่อสร้างได้หรือไม่
“กทม.มีนโยบายต้องการให้นำสายไฟฟ้าลงดินให้หมด แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เชื่อว่าจะทำให้ กทม.มีความสวยงามเป็นระเบียบขึ้น” สมชาย ระบุ
สำหรับเส้นทางที่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว อาทิ ถนนสีลม ถนนสาทร รอบวังสวนจิตรลดา ถนนข้าวสาร ถนนมหาราช
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีความพยายามนำสายไฟฟ้าเหล่านี้ลงใต้ดินมาแล้ว แต่มักจะถูกขัดขวางจากผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับสายโทรศัพท์ เนื่องจากอาจทำให้บริษัทเอกชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าเสาไฟฟ้าทั้งหมดถูกหักและนำสายลงดินทั้งหมด
เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะนำสายไฟฟ้าระโยงระยางเหล่านั้นลงใต้ดิน เพราะความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นได้ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศโดยตรง
อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองมาศึกษาดูงานภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะพบว่าสามารถนำสายต่างๆ ลงใต้ดินได้โดยใช้งบประมาณไม่มาก
“ประชาชนทุกคนต้องติดตามการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง และบริษัทเคเบิลต่างๆ ที่เก็บเงินจากเราทุกเดือน” นักวิชาการนี้กล่าวชัด
เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ สนับสนุนเต็มร้อย และอยากให้ทำได้จริง
ชมคลิป https://youtu.be/7UrmMnaS0W8