posttoday

"รถหรูกับพระสงฆ์"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้

21 มกราคม 2559

สังคมตั้งคำถาม "พระสงฆ์ครอบครองรถยนต์หรู" เหมาะสมหรือไม่?

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

วงการผ้าเหลืองกำลังร้อนระอุ

หลังจากมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์

หนึ่งในรอยมลทินที่ทำให้สมเด็จช่วงถูกต่อต้านอย่างหนักคือ "ปัญหาการครอบครองรถหรู" ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพใหญ่ของวงการพุทธศาสนาจะพบว่า การครอบครองรถยนต์หรูของพระสงฆ์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ตามมาด้วยการตั้งคำถามจากสังคมถึงความเหมาะสม

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้ รถโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ไม่อยากขัดศรัทธาญาติโยม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การครอบครองรถหรูของพระสงฆ์ตกเป็นข่าวครึกโครมให้เห็นอยู่เป็นประจำ

ปี 2556 พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ถูกจับตามองจากสังคมหลังมีชาวบ้านร้องเรียนว่าสะสมรถยนต์หรูหลายคัน จนถูกดีเอสไอเข้าตรวจสอบ หลวงพี่น้ำฝนยอมรับว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์จริง เป็นรถที่ลูกศิษย์จากประเทศสหรัฐอเมริกาถวายให้มาตั้งแต่ปี 2554 พร้อมยืนยันว่าครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้รถยนต์ดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้งานทุกวัน แต่ใช้เฉพาะวันงานฉลองครบรอบหลวงพ่อพูล ก่อนตั้งโชว์ไว้ให้ญาติโยมที่สนใจเกี่ยวกับรถโบราณได้ศึกษาหาความรู้

ปี 2557 พระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ชี้แจงหลังจากมีผู้เผยแพร่ภาพรถยนต์หรูจำนวนหลายคันของวัดผ่านสังคมออนไลน์ว่า รถยนต์ทุกคันไม่ได้ซื้อด้วยตัวเอง แต่เป็นรถที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ด้วยความศรัทธา

คำอธิบายจากพระทั้งสองรูปสอดคล้องกับ ดำเกิง จินดาหรา ไวยาวัจกรวัดปากน้ำภาษีเจริญที่ให้เหตุผลการรับมอบและครอบครองรถยนต์ภายในวัดปากน้ำภาษีเจริญว่า เจ้าอาวาสมีความประสงค์ที่จะเก็บรักษารถยนต์เป็นของโบราณมีค่า เช่นเดียวกับตู้พระธรรม กลองโบราณ เรือโบราณ เครื่องเบญจรงค์ รถม้า รถสามล้อถีบ เพื่อไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนมาเยี่ยมชม มิได้ครอบครองไว้เพื่อความหรูหราแต่อย่างใด

“ทางวัดหรือเจ้าอาวาสไม่ได้ซื้อเอง แต่มีผู้นำมาถวาย มีเจตนาจะสะสมเป็นโบราณวัตถุและจัดแสดงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งรถที่อยู่ระหว่างตรวจสอบของดีเอสไอเป็นรถยนต์เก่าแก่อายุกว่า 70 ปี ไม่ใช่รถหรูตามที่ถูกวิจารณ์ ทั้งยังเป็นรถจดประกอบนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2554 มีเอกสารยืนยันคือสมุดจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก”

พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดหัวกระบือ ซึ่งย้อนกลับไปหลายปีก่อนเคยตกเป็นข่าวเกรียวกราวว่าครอบครองรถโบราณยี่ห้อหรูหลายสิบคันภายในวัด โดยเฉพาะเมอร์ซีเดส เบนซ์ และวอลโล่ เผยว่า รถโบราณเหล่านี้ได้รับมาจากการถวายด้วยความศรัทธาจากญาติโยม ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายคันที่ญาติโยมขอร้องให้ช่วยซื้อไว้ เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงิน

"บางคนเขานำมาถวายเพราะศรัทธา บางคนเขาไม่มีเงินก็มาขอให้อาตมาช่วยซื้อเก็บไว้ในราคาไม่แพง ไม่ได้เก็บไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือความหรูหรา อาตมาเลือกใช้ประโยชน์จากรถพวกนี้โดยการนำมาให้ลูกศิษย์ได้ศึกษาเรียนรู้การซ่อมแซม บำรุงอะไหล่ต่างๆของรถยนต์ ซึ่งอาตมามองว่าเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ทำให้ใครบางคนมีงานทำมีเงินใช้เลี้ยงดูครอบครัว หรือมีทักษะเพิ่มในการทำงาน หรือบางคราวถ้ามีพระรูปไหนเข้ามาบวชแล้วพอจะมีทักษะด้านนี้อยู่บ้างก็จะมาช่วยกันทำ การทำงานตรงนั้นจะทำให้คนเรา มีสติ มีสมาธิ เพราะมีจิตจดจ่ออยู่กับการทำงาน ไม่คิดเรื่องที่เป็นอกุศลอื่นๆ

การเก็บรักษาดูแลรถเก่าไม่ใช่เรื่องแย่ ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของ เมอร์ซิเดส เบนซ์มาเยือนเมืองไทย ยังเคยขอนำรถเก่าของทางวัดไปใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว พอใช้เสร็จทางโรงเเรมที่พักของผู้บริหาร ยังขอนำรถคันดังกล่าวไปจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมด้วย ถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อีก พระไม่ได้ครอบครองไว้เพื่อโชว์ความร่ำรวย ไม่ใช่รถประจำตำเเหน่ง หรือได้มาจากภาษีประชาชนเหมือนพวกนักการเมือง ที่สำคัญ วันหนึีงถ้าอาตมาหรือพระองค์อื่นๆตายไปก็ไม่ได้หยิบเอาทรัพย์สินพวกนี้ไปด้วย สุดท้ายตกเป็นของวัดอยู่ดี”

ปัจจุบัน รถยนต์โบราณกว่า 10 คันภายในบริเวณโรงรถวัดหัวกระบือ ถูกจอดอยู่ในสภาพทรุดโทรมเต็มไปด้วยฝุ่นจับหนาเตอะ ไม่สามารถใช้งานได้

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้ รถยนต์ที่ญาติโยมนำมาถวาย จอดไว้ในวัดหัวกระบือ เขตบางขุนเทียน

 

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้ ภายในโรงรถวัดหัวกระบือ

ละเมิดพระธรรมวินัยชัดเจน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 นิด้าโพลล์เคยเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “พระสงฆ์กับวัตถุนิยม” โดยทำการสำรวจประชาชนผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ จำนวน 1,249 คน ผลการสำรวจพบว่า 90.39% มองว่าการที่พระสงฆ์ครอบครองรถหรูหรือของใช้แบรนด์เนม เป็นพฤติกรรมที่ "ไม่เหมาะสม" เนื่องจากพระสงฆ์ควรปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนด้วยการละกิเลสทางโลก ขณะที่ 5.68% มองว่า “เหมาะสม” เพราะเป็นสิทธิ์ของพระสงฆ์ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว พระอาจมีความจำเป็นต้องใช้ของเหล่านี้ และสิ่งของบางอย่างพระไม่ได้ซื้อเอง

เมื่อถามถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้พระสงฆ์มีพฤติกรรมวัตถุนิยม ประชาชนกว่า 37.79% มองว่าเกิดจากพระสงฆ์ไม่ตัดขาดจากทางโลก 30.82% เกิดจากพระสงฆ์หลงใหลในวัตถุแล้วญาติโยมก็ตอบสนอง 20.02% เกิดจากญาติโยมถวายโดยขาดการยั้งคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ 6.49% เกิดจากองค์กรที่ดูแลศาสนาอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบป้องกัน และ 0.80% เกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหาพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเกินพอดี 68.05% ระบุว่า ควรออกกฎข้อบังคับเพื่อจำกัดการครอบครองหรือใช้วัตถุของพระสงฆ์ ขณะที่ 8.81% ระบุว่าควรให้มีการเก็บภาษีพระสงฆ์จากเงินบริจาคหรือสิ่งของที่มาบริจาค

ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา ให้ความเห็นว่า การครอบครองรถหรูของพระสงฆ์ในเมืองไทยนั้นถือเป็นปัญหา มีเป็นจำนวนมากจนแทบกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในพระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าละเลยการปฎิบัติตามพระธรรมวินัย

"พระหลายรูป ปากพูดกันแต่เรื่องปกป้องกระพุทธศาสนาเหมือนท่องบาลี แต่ไม่ได้ปฎิบัติตามแก่นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ คือให้ละเลิก ละวาง เรื่องเหล่านี้มันมีรากเหง้ามาจากตัวกฎหมายด้วยที่ออกแบบและเอื้อให้พระมีสมณศักดิ์ ลำดับชั้นเหล่านี้นำไปสู่ผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ต่างจากตำแหน่งในวงการตำรวจหรือทางการเมือง"

ไพบูลย์ มองว่า หากปฎิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง ต้องไม่รับทรัพย์ที่เกินจำเป็น ต้องยินดีในทรัพย์สินที่เหมาะสมกับตนเอง ปัจจุบันโครงสร้างและระบบได้เปิดช่องให้ลุ่มหลงในทรัพย์สิน หลายรูป อยากร่ำรวย พยายามแข่งขันเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งใหญ่โตเมื่อรากเหง้าเป็นเช่นนี้ พระเถระหลายรูปจึงมากด้วยกิเลส

“ไม่ใช่แค่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่บริจาคหรือถวายรถยนต์ให้กับพระเท่านั้น แต่พระด้วยกันเอง ผมได้ยินมาว่าหากอยากมียศ มีศักดิ์ ก็เที่ยวไปหารถยนต์มาถวายให้พระชั้นผู้ใหญ่ เรื่องแบบนี้ต้นเหตุมันอยู่ที่ผู้รับ ซึ่งควรปฎิเสธ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่เกินกว่าเหตุ อย่าอ้างว่าโยมถวาย ไม่อยากขัดศรัทธา เพราะถ้าท่านไม่เอาซะอย่าง ใครจะถวายอีก บอกไปเลยสิ ฉันไม่เอารถหรู เอารถที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมดีกว่า วันนี้กุฎิพระสงฆ์บางรูปไม่ต่างจากบ้านนายตำรวจ สะสมสิ่งของมากมายที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม แถลงชี้แจงว่ารถยนต์ในครอบครองเป็นรถที่ลูกศิษย์นำมาถวาย

 

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้

สะสมสิ่งบันเทิง มีแต่จะถูกโจษขาน

ขณะที่ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว มองว่า การครอบครองสิ่งของอันใดก็แล้วแต่ หากเป็นของทางโลก คนทางโลกเขาย่อมติเตียน เพราะรู้สึกขายขี้หน้าและนึกสงสัยว่าเหตุใดคนบวชกลับมีมากกว่าคนไม่บวช หากไม่อยากถูกติ ควรเก็บสะสมหรือครอบครองสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาจะดีกว่า

"ถ้าสะสมของเหมือนชาวบ้าน แข่งขันกับชาวบ้าน เขาหาเรื่องด่าอยู่แล้ว ซึ่งอุดมการณ์ของพระนั้นไม่เหมือนกัน บอกไม่ได้แน่ชัดว่าจะรับศรัทธาได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพระรูปนั้นๆ โลกใบนี้มีทั้งคนที่ต้องการเเละไม่ต้องการ อย่างหลวงพ่อชา ท่านไม่เอาเลย รถยนต์จะถูกจะแพงอย่างไรก็ไม่รับ เเละถึงเเม้จะมีความต้องการถ้าเห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควรกับวิถีชีวิตการเป็นนักบวชก็เป็นอันเลิกไป เเต่ถ้าใครเอา ก็ว่าเขาไม่ได้ เพียงแต่ผู้นั้นต้องสังวรณ์ไว้ว่าจะหนีไม่พ้นการตำหนิจากชาวโลก มีเเล้วอาจไม่มีความสุข” 

การสะสมสิ่งบันเทิง หาความสุขปรนเปรอ บำเรอกับสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มีเเต่จะถูกโจษขาน เป็นจำเลยในสังคม พระรูปใดที่ยังหมกหมุ่นกับเรื่องพวกนี้ ยากที่ได้จะรับการยอมรับจากสังคม  สิ่งไหนควรมี ไม่ควรมี คราวนี้คงได้เห็นเป็นบทเรียน เป็นเหตุสั่งสมความไม่มีอีกต่อไป  บางอย่างมีแล้วสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ บทเรียนวันนี้อาจทำให้ความต้องการหดหายไปมาก"

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกด้วยว่า ปัจจุบันมีรถอีซูซุ มิวเซเว่นคันเดียวสำหรับใช้เดินทางเผยแผ่ศาสนา ซึ่งเป็นเงินจากมูลนิธิวัดสวนแก้ว

\"รถหรูกับพระสงฆ์\"...มุ่งสะสม หรือ โยมจัดให้ ภาพรถยนต์ที่วัดหัวกระบือในอดีต / ที่มา www.thaidphoto.comforumsshowthread.phpt=175240

พระมีสิทธิที่จะปฏิเสธ

ฟังมุมมองของนักวิชาการด้านพุทธศาสนา สุรพศ ทวีศักดิ์ บอกว่า การบริจาคถวายสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองให้กับพระ เป็นค่านิยมที่มีต้นตอมาจากเรื่องการทำบุญให้ทาน ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยถูกสั่งสอนว่ายิ่งบริจาคมากเท่าไหร่ ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น หรือให้สิ่งใดก็จะได้รับสิ่งนั้นตอบแทน เป็นความเชื่อที่ถูกสืบทอดส่งต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน

"สมัยก่อนพวกเจ้าขุนมูลนายจะทำบุญแต่ละทีก็จะสร้างวัด สร้างโบสถ์วิหารใหญ่โต มีคำเทศน์คำสอนว่าตายไปแล้วจะได้ไปอยู่บนสวรรค์ ผ่านมาจนบัดนี้วัตถุนิยมต่างๆเจริญก้าวหน้าขึ้น ผู้คนก็ปรับเปลี่ยนมาบริจาครถยนต์แทน ซึ่งต่อไปภายภาคหน้า หากคนรวยมีเครื่องบินส่วนตัวกันมากขึ้น เขาอาจจะถวายเครื่องบินเลยก็เป็นได้ ทั้งหมดเป็นค่านิยม” 

สุรพศบอกว่า ตามหลักศาสนาพุทธ ไม่ควรรับบริจาคสิ่งของที่เกินไปจากความจำเป็นของชีวิตสงฆ์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งแสดงสถานภาพทางสังคม เป็นตัวแทนแห่งความโก้หรู ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนไม่ควรถวายและพระควรปฎิเสธ

“สิ่งใดที่เกินไปจากวิถีชีวิตสมณเพศก็๋ไม่ควรรับ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ควรพิจารณาโดยส่วนรวม แต่ไม่รับในนามส่วนตัว เนื่องจากไม่เหมาะสม เพราะแสดงให้เห็นถึงสถานภาพ อัตตา ตัวตน กิเลส บางรูปบอกว่าไม่อยากขัดศรัทธาญาติโยม ซึ่งจริงๆ พระปฎิเสธได้และมีสิทธิ์ที่จะปฎิเสธ พระธรรมวินัยกำหนดมาอยู่แล้วว่าอะไรควรรับ ไม่ควรรับ แม้ไม่ได้ห้ามไว้โดยตรง แต่ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสถานภาพของพระฆ์ที่ต้องสละทางโลก ปัจจุบันพระเหมือนเอาใจคนรวยๆ เขาอยากทำอะไรก็ไม่ปฎิเสธ ทั้งที่ควรปฎิเสธ สิ่งของที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือเกินความจำเป็น พระต้องเป็นคนยืนยันจุดยืนของตัวเองก่อน จะให้ชาวบ้านเขาเข้าใจเองไม่ได้ อย่าอ้างว่าโยมมาถวายอย่างโน้นอย่างนี้ มาขอหวยก็ให้ จะทำตัวเป็นศรีธนญชัยไม่ได้”

การนำรถยนต์ไปครอบครองไว้แม้จะไม่ใช่ส่วนตน และตั้งใจมีไว้เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆให้เกิดประโยชน์ อาจไม่ใช่เรื่องผิดในแง่วินัยสงฆ์ แต่สังคมจะตั้งคำถามว่ากิจกรรมนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องศาสนา ส่งเสริมสติปัญญาให้เข้าใจธรรมมะอย่างไร ตัวอย่างเช่น สวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาสภิกขุ มีโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ ภายในมีภาพวาดปริศนาธรรมต่างๆที่ส่งเสริมให้คนเกิดสติปัญญา แบบนี้ควรจะมีโชว์ในวัด แต่ถามว่ารถหรู รถโบราณที่โชว์ในวัด จูงจิตใจคนเข้ามาสู่ธรรมมะหรือว่าเกิดสติปัญญาอย่างไร  ตรงนี้เป็นสิ่งที่สังคมสงสัย”